บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 245/2018 February
ถ้าพูดถึงจังหวัดพิจิตรหลายคนอาจจะแทบนึกไม่ออกว่าจังหวัดพิจิตรมีอะไรน่าสนใจในการมาท่องเที่ยวบาง ททท. สำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ ที่ดูแลพื้นที่จังหวัดพิจิตรจึงจัดโครงการทัศนศึกษาให้พี่ๆ สื่อมวลชนได้รู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้ จุดแรกที่เราจะมาถึงจังหวัดพิจิตรคือ วัดท่าหลวง เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิจิตร อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ใกล้ศาลากลางจังหวัด ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่ของจังหวัดพิจิตรองค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปมีพระพุทธลักษณะที่งดงาม และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทยใครมาจังหวัดพิจิตรไม่ควรพลาดมากราบขอพร
ด้วยที่จังหวัดพิจิตรมีชุมชนคนจีนที่อาศัยอยู่กันมานาน จังหวัดพิจิตรจึงศาลเจ้าค่อนข้างหลายแหล่ง แต่ถ้าในเมืองพิจิตรผู้คนจะนับถือ “ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางด้านหลังใกล้ริมทางรถไฟสายเหนือ สายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ภายในศาลมีองค์เจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ่วยเต่งเหนี่ยง) เป็นองค์ประธาน ด้านขวาเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อกวนอู ด้านซ้ายเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อปุ้นเถ่ากง และปุ้นเถ่าม่า ที่อัญเชิญมาจากเกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในราวปี พ.ศ. 2410 ความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหารของเจ้าพ่อเจ้าแม่ แห่งศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ เป็นที่เลื่องลือกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกแล้ว ศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลต่างก็ได้รับความสุขความเจริญ ปราศจากอันตรายอย่างทั่วถึงกันตราบเท่าทุกวันนี้ ไหว้ขอพร ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ กันแล้วไปเยี่ยมชม “วัดคลองคู้” อีกหนึ่งวัดดังพิจิตร เจ้าอาวาสวัดคลองคู้และชาวบ้าน ปั้นพญาชาละวันคาบตะเภาแก้ว เป็นจระเข้ขวางคลองแฝงกุศโลบาย ขวางอบายมุขเข้าหมู่บ้าน คำว่าจระเข้ขวางคลองมิใช่หมายความว่าจะคิดจะค้านแบบหัวชนฝาแต่ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็ต้องคิดว่า คิดดีทำดี แบบจระเข้ขวางคลอง คือต้องคิดขัดขวางสิ่งที่เป็นความชั่ว สิ่งที่เป็นอบายมุขสุรายาเมา การพนัน และยาเสพติด ไม่ให้เข้าหมู่บ้าน และปิดถ่ายวันแรกด้วยการชมความงามของพระอาทิตย์ตกดิน ที่บึงสีไฟ ที่งดงามมาก ยิ่งในช่วงมีเป็ดแดงอพยพจะได้ซีนฝูงเป็ดกับพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกลงบึงสีไฟ เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด
วันที่สองของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว วันนี้เราจะมีชมตลาด “นัดนี้ เพื่อน้อง” เป็นตลาดที่เกิดจากไอเดียร์สุดเก๋จากท่านพ่อเมืองพิจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัด คุณวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี (เมื่อปี 2018 ปัจจุบันท่านเป็นผู้ว่าสมุทรสาคร) ที่ต้องการให้คนในชุมชนได้มีสินค้ามาขายให้กับนักท่องเที่ยว และให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีส่วนรวมในการค้าขาย กลายเป็นตลาดเช้าน่ารักที่น้องๆ หนูๆ มาเป็นพ่อค้าแม่ขาย สร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง แถมยังเปิดบ้านพักของท่านผู้ว่าให้ตั้งโต๊ะ สำหรับท่านที่อยากนั่งทานก็มานั่งทานหน้าจวนผู้ว่าได้อีกด้วย เดินช็อปปิ้งเลือกซื้อของเสร็จแล้ว ก็มาร่วมตักบาตรรับอรุณกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และคนในชุมชน บริเวณถนนสายวัฒนธรรมหน้ากำแพงความจงรักภักดี ซึ่งจะมีกันทุกวันเสาร์เช้า 7 ตรง ใครไปเที่ยวเมืองพิจิตร ไปร่วมตักบาตร และดูวิถีชุมชนเมืองเล็กแต่น่ารักแห่งนี้กันได้
เมืองพิจิตรอาจจะไม่ได้ดังเรื่องแหล่งท่องเที่ยว แต่ใครจะรู้ว่าเมืองพิตรไม่ใช้มีดีเรื่องการปลุกข้าวเท่านั้น วันนี้ทาง ททท. จะพาเราไปท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สวนคุณลี ที่เป็นสวนเกษตรผสมผสาน สวนผลไม้ที่มีคุณภาพสูงส่งออกขายสร้างเม็ดเงินไม่น้อยให้กับจังหวัดพิจิตร จนเป็นแหล่งเรียนรู้ และมีคนมาขอดูงานจำนวนไม่น้อย ผักผลไม้สวนคุณลี ขึ้นชื่อเรื่องความใหญ่โต ฟักลูกหนึ่งน้ำหนักเกือบ 40 กิโลกรัม มะม่วง ลำไย มะระขี้นกยักษ์ มันญี่ปุ่นสีม่วง และผลไม้ตามฤดูกาลอื่นๆ อีกมากมาย
ออกจากสวนคุณลี เดินทางมาต่อที่ วัดเขารูปช้าง วัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงลังกาบนยอดเขาที่มีหินซ้อนกันมองคล้ายรูปช้าง และด้านบนสามารถชมวิวเมืองพิจิตรแบบ 360 องศา จากวัดเขารูปช้าง เดินทางกันมาต่อที่วัดโพธิ์ประทับช้าง มาชมโบราณสถานศิลปะสมัยอยุธยา ที่ยังคงมีซากของสิ่งก่อสร้างให้เห็นอยู่ นอกจากชมโบราณสถานแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ถ่ายนกแก้วโม่ง และนกแขกเต้า ให้ช่างภาพสายนกได้มาตั้งกล้องถ่ายภาพกันด้วย
ปิดท้ายกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันสุดท้าย ณ “วัดศรีศรัทธาราม หรือวัดโบสถ์จระเข้” ชมความงามของรูปปั้นจระเข้ยักษ์ขนาดใหญ่ ภายในวัดมีพระพุทธศักดิ์สิทธิ์ ถึง 3 องค์ หลวงพ่อดำ หลวงพ่อบุญลือ และหลวงพ่อบุญมี ก่อนเดินทางกลับร่วมรับประทานอาหาร แบบเกษตรธรรมชาติ ณ บ้านหนองจิกสี ที่จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ อยู่ในตำบลแหลมรัง เป็นแหล่งปลูกผักและผลไม้หลากหลายรูปแบบ ชาวบ้านที่นี่ร่วมตัวกันแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง จนรวมกลุ่มเพื่อทำการเกษตรแบบธรรมชาติ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน นายบุญส่ง ฉิมคง ประธานศูนย์ในการบริหารจัดการ กลายเป็นชุ่มชนที่เข็มแข็ง มีผักส่งขายออกจากหมู่บ้านวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ตันจนเป็นหมู่บ้านต้นแบบ ที่จากหลากหลายพื้นที่ต้องขอเข้ามาดูงาน เราจึงไม่แปลกใจว่าจังหวัดเล็กๆ แหล่งนี้ แต่มีของดีอยู่ในตัวเองมากมาย เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีของดีไม่เล็กเลย เป็นเมืองเล็ก แต่น่ารัก อีกจังหวัดหนึ่ง