เรื่อง : eyejung, ภาพ : CAMERART
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 248/2018 May
ได้เวลาทองของการถ่ายภาพดวงดาว “ทางช้างเผือก” หรือ “ทางน้ำนม” คนโบราณเรียก ปัจจุบันเป็นที่นิยมสำหรับนักถ่ายภาพ จัดว่าเป็นช่วงฤดูล่าทางช้างเผือก และเป็นที่ทราบดีกันแล้วว่า แถบฟ้าสว่างที่เห็นนั้นที่แท้จริง คือ อาณาจักรของดาวจำนวนมหาศาลซึ่งเรียกว่า “กาแล็กซี” (Galaxy) กาแล็กซีของเรามีชื่อว่า “กาแล็กซีทางช้างเผือก” (The Milky Way galaxy) ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะ คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นโอรสของสวรรค์อวตารลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ และ มีช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมี จึงมีความเชื่อว่ามีทางช้างเผือกอยู่บนสวรรค์
กาแล็กซีทางช้างเผือกประกอบด้วย ดาวฤกษ์จำนวนหลายแสนล้านดวง ทางช้างเผือกพาดเป็นทางสว่างข้ามขอบฟ้าผ่านกลุ่มดาวสว่างดังนี้ กลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) เพอร์เซอุสสารถี คนคู่ กางเขนใต้ แมงป่อง คนยิงธนู นกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ (ดูแผนที่ดาววงกลมประกอบ) หากมองดูทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าจากสถานที่ปราศจากแสงรบกวนเลย เราจะเห็นทางช้างเผือกเป็นแถบสว่างสองแถบขนาดกันโดยมีแถบสีดำขั้นระหว่างกลาง แถบสีดำนั้นไม่ใช่ช่องว่างของอวกาศ หากแต่บริเวณนั้นเป็นแนวระนาบของกาแล็กซี ซึ่งมีฝุ่นและแก๊สที่มีอุณหภูมิต่ำอยู่อย่างหนาแน่น (Dust lane) จึงมีลักษณะคล้ายเนบิวลามืดบดบังแสงสว่างจากดาวฤกษ์ในทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ด้านหลัง และหากสังเกตทางช้างเผือกที่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแมงป่อง (ข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลก และดาราศาสตร์) การจะถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ดี ต้องรู้ปฏิทินตารางขึ้นลงของทางช้างเผือก ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าหาข้อมูลด้านนี้ได้ง่าย ทาง NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีตารางสังเกตการณ์ทางช้างเผือกออกมาทุกปี และในปี 2561 ก็มีตารางสังเกตการณ์ “ใจกลางทางช้างเผือก” ปี 2561 ออกมาแล้ว
เดือนมกราคม : ทางช้างเผือกจะขึ้นในช่วงกลางวัน ไม่สามารถมองเห็นได้ยามค่ำคืน
เดือนกุมภาพันธ์ : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 05.00 น. แต่ยังถ่ายได้ไม่ครบเต็มรูปร่างของทางช้างเผือก เพราะจะมีแสงพระอาทิตย์รบกวน
เดือนมีนาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 05.30 น.
เดือนเมษายน : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 03.30 น.
เดือนพฤษภาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 01.30 น.
เดือนมิถุนายน : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 23.30 น. และเริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 02.30 น.
เดือนกรกฎาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 21.30 น. เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 00.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 05.00 น.
เดือนสิงหาคม : เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 20.00 น. เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 22.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 03.00 น.
เดือนกันยายน : เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงเวลาประมาณ 20.00 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 01.00 น.
เดือนตุลาคม : เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงเวลาประมาณ 19.00 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.00 น
เดือนพฤศจิกายน : เริ่มตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 19.00 น. (เดือนนี้พอจะเห็นบ้างประมาณ 19.00-20.00 น. แต่จะตกจากขอบฟ้าราวๆ 21.00 น.)
เดือนธันวาคม : ทางช้างเผือกจะขึ้นในช่วงกลางวัน ไม่สามารถมองเห็นได้ยามค่ำ
การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในที่มืดสนิทในชนบท หรือ ป่าเขา ท้องทะเล ในคืนที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเท่านั้น ดังนั้นในการดูทางช้างเผือกจะต้องมีการเตรียมการวางแผน ศึกษาเวลาการขึ้น-ตกของดวงจันทร์ด้วย ซึ่งสามารถคำนวณได้จากปฏิทิน ดวงจันทร์ขึ้นและลงในแต่วันละ การถ่ายภาพทางช้างเผือกแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี การเลือกสถานที่เพื่อเก็บภาพมีความสำคัญไม่น้อย เพราะสถานที่ไปต้องมืดสนิทไม่มีแสงรบกวน นั่นคือเป้าหมายในการเดินทางเพื่อไปยังเกาะพระทองอีกครั้ง เมื่อต้นปีเพื่อนๆ คงได้ติดตามกันบ้างแล้วว่าทาง CAMERART พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวเกาะพระทอง จังหวัดพังงา จนหลายคนตกหลุมรักเกาะแห่งนี้ เพราะสามารถเที่ยวได้ทั้งป่า วิถีชีวิต ทะเล และโลกใต้ท้องทะเล สำหรับผู้ที่รักการดำน้ำ ที่นี่ก็สวยไม่ได้น้อยหน้าหมู่เกาะสุรินทร์
เราออกเดินทางในช่วงสงกรานต์ หลายคนกลัวเรื่องปัญหารถติดช่วงเทศกาล แต่เมื่อท่านเลือกเดินทางเส้นทางสายใต้ เราจะไม่เจอปัญหาเรื่องรถติด เหมือนสายอีสาน และสายเหนือ ใช้เวลาเดินทางในช่วงกลางคืน เพื่อจะไปต่อเรือเพื่อข้ามเกาะในตอนเช้า การเดินทางครั้งนี้เราใช้ท่าเรือคุระบุรี ซึ่งเป็นท่าเรือที่สะดวกกว่าท่าเรือบางแดด เพราะสามารถเดินทางไปช่วงไหนก็ได้ ไม่ต้องรอเวลาน้ำขึ้นน้ำลง
ลงเรือช่วง 10 โมงเช้า เรือจาก รักษ์กันรีสอร์ท ก็มารออยู่แล้ว มาครั้งนี้เรายังเลือกใช้บริการของทาง รักษ์กันรีสอร์ท เพราะว่าเจ้าของรีสอร์ท โกแดง ใจดีมาก อยากไปเที่ยวถ่ายภาพที่ไหนบอกมาเลย จัดให้หมด เป็นรีสอร์ทที่เหมาะกับนักถ่ายภาพมาก จากท่าเรือคุระบุรี มุ่งหน้าสู่ท่าเรือแป๊ะโย้ย ประตูต้อนรับสู่เกาะพระทองกับหมู่บ้านชาวมอแกน ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมทะเล กับฝูงนกที่อยู่บนกระชังปลา ชวนให้หลายคนอยากกดชัตเตอร์ จากท่าเรือเดินขึ้นมาเพื่อต่อรถไปยังที่พัก แต่ขอไปสำรวจสถานที่ ที่เราจะมาตั้งกล้องกันในคืนนี้ก่อน รอบนี้เราไม่ได้ใช่รถลีมูซีนเกาะ (อีแต๊ก) เพราะว่าหลังคารถพังไปแล้ว จำต้องนั่งรถกระบะ
เกาะพระทอง ตั้งอยู่ใน อ.คุระบุรี จ.พังงา มีพื้นที่ 102 ตารางกิโลเมตร (ข้อมูลจาก อบต.เกาะพระทอง) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในพังงา และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเมืองไทย แต่ก็ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ บนเกาะเราจะเห็นพืชเศรษฐกิจหลักๆ อยู่ 2 ชนิดคือ มะพร้าว และมะม่วงหิมพานต์ (กาหยี) เนื่องจากสภาพดินบนเกาะเป็นดินปนทราย จึงไม่เหมาะต่อการปลูกพืชทั่วๆ ไป ด้วยความเฉพาะตัวของเกาะ ไฮไลท์อีกอย่างของเกาะพระทองที่ทุกท่านต่างมาเยือน คือ ป่าเสม็ด” กับ “ทุ่งหญ้า” ขนาดกว้างใหญ่อันโดดเด่นสวยงาม นับเป็นไฮไลท์สำคัญของการท่องเที่ยวที่นี่
รูปทรงของต้นเสม็ดส่วนใหญ่จะดูแปลกตา หงิกงอ หยิกหยัก ตามพื้นดินมีหญ้าต้นเตี้ยๆขึ้นแซมเต็มไปทั่วบริเวณ นับเป็นทุ่งป่าเสม็ดที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติอย่างลงตัว นอกจากป่าเสม็ดแล้ว ที่นี่ยังมี “ทุ่งสะวันนาเกาะพระทอง” หรือบางคนก็เรียกว่า “ทุ่งหญ้าซาฟารี” ยกย่องให้เป็นอันซีนไทยแลนด์แซมไปด้วย หญ้าหยาดน้ำค้าง ซึ่งต้องมาให้ถูกที่ถูกเวลา แต่ละจุดจะมีช่วงที่สวยงามแตกต่างกันไป ซึ่งช่วงที่เรามาช่วงต้นปี ทุ่งหญ้าสะวันนาอาจจะยังไม่เป็นสีทองเต็มที่ แต่หญ้าหยาดน้ำค้างกลับเบ่งบานเต็มทุ่งหญ้า “โกแดง” ให้ข้อมูลท่องเที่ยวว่าน่าจะช่วงกลางเดือนมกราคม-ต้นเดือนมีนาคม เราจะได้เห็นทุ่งหญ้าเป็นสีทอง ช่วงที่เราไปในครั้งนี้ทุ่งหญ้าแห้งแล้งเป็นสีดำ แต่ครั้งนี้เราตั้งใจมาถ่ายภาพทางช้างเผือก จุดที่เราเลือกคือ จุดทุ่งหญ้าสะวันน่า ที่โกแดง เคยนำพวกเรามาปล่อยเมื่อครั้งก่อน จนเราแอบตั้งชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน CAMERART ฟอร์มต้นไม้ที่สวยแปลก และเกาะพระทองเป็นที่เหมาะกับการถ่ายดาวมาก เพราะบนเกาะไม่มีไฟฟ้า แต่เร็วๆ นี้เกาะพระทองจะมีไฟฟ้าใช้แล้ว
ได้ทำเลถ่ายภาพทางช้างเผือกยามค่ำคืนนี้แล้ว ตกบ่ายนั่งรถกระบะลัดเลาะเกาะไปชมทะเลแหวก จุดนี้เป็นหาดบานปากจกยาวสุดลูกหูลูกตา ไม่มีนักท่องเที่ยว หาดสะอาดมาก เดิมเคยมีหมู่บ้านปากจก แต่เมื่อมีสึนามิคลื่นมรณะ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ชุมชนบ้านปากจกได้รับความเสียหายมากที่สุดในเกาะพระทองจนต้องอพยพหนี ปัจจุบันมีหมู่บ้านเริ่มกลับมาตั้งถิ่นฐานบ้างแล้วแต่อยู่ห่างจากตัวหาด หาดบ้านปากจกจึงเงียบและสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำ เพราะเป็นปากคลองตามภาษาชาวบ้าน คือบางช่วงหาดจะตัดเหมือนหน้าผา และคลื่นค่อนข้างแรง ซึ่งมีความอันตรายในการเล่นน้ำ
จากหาดบ้านปากจก เรากลับมายังที่พัก และถ่ายแสงเย็นกันที่ หาดสุดขอบฟ้า และรอเก็บภาพทะเลดาวกันอีกครั้งหน้าหาดสุดขอบฟ้า ซึ่งใครชอบถ่ายภาพ Startrails หน้าหาดสุดขอบฟ้าสามารถเก็บภาพได้อย่างสะดวก และก็ได้เวลาที่ทุกคนรอคอย โกแดง จัดรถมารับพาเราไปยัง ทุ่งหญ้าสะวันน่า ที่ที่เหมาะกับการดูดาว เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าจนหนึ่งในผู้ร่วมคณะ ที่เป็นนักดาราศาสตร์ บอกว่า เกาะพระทอง เป็นเกาะที่เหมาะแก่การดูดาว และถ่ายรูปดาว ที่ดีสุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย และจะพยามผลักดันให้ เกาะพระทองติดตั้งระบบไฟแสงสว่างให้เหมาะแก่การเป็นพื้นที่ฟ้ามืด พร้อมประสานงานไปที่หอดูดาวภูมิภาคสงขลา ให้ช่วยผลักดันให้เกาะพระทองเป็นที่ดูดาว เราเองก็หวังว่าเกาะพระทองจะเป็นแหล่งดูดาวที่ดีที่สุดอีกจุดหนึ่งของเมืองไทย
จากการถ่ายดาวกันแล้ว โกแดง กลัวพวกเรายังเก็บภาพไม่สะใจ บอกว่าต้องไปเก็บภาพแสงเช้ากันต่อที่ท่าเรือแป๊ะโย้ย ได้แสงสวยอย่างที่ โกแดง การันตี แต่เรามองต่อไปว่าตรง ท่าเรือแป๊ะโย้ย เป็นอีกจุดที่น่าจะถ่ายภาพทางช้างเผือกได้อย่างสวยงาม ด้วยทิวเขาหน้าท่าเรือที่มีความสวยงาม แม้แต่หน้าหาดสุดขอบฟ้า ที่พักของเรา ก็สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ ใครที่ชอบถ่ายภาพดาว อีกแหล่งท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดคือ เกาะพระทอง
จากเกาะพระทองข้ามกลับมายังฝั่งแผ่นดินใหญ่ เพราะยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดพังงา สำหรับสถานที่ชิลๆ ถ่ายภาพเก๋ๆ ต้องย่านถนนคนเดิน เมืองเก่าตะกั่วป่า ครั้งนี้เรามาไม่ตรงกับช่วงที่มีถนนคนเดิน แต่ถ้าใครมาตรงช่วงวันอาทิตย์ แนะนำร้านหมี่กรอบตรงข้ามศาลเจ้า อร่อยเวอร์ หรือ จะมานั่งทาน ก๋วยเตี๋ยวหมี่ซั่วนำ อาหารพื้นเมืองของตะกั่วป่า ความพิเศษอยู่ที่เส้นหมี่ซั่วที่ต้องสั่งพิเศษ ตัวเส้นจะเป็นเส้นเล็กๆ บางๆ กินแล้วนุ่มปาก ส่วนน้ำซุปเป็นน้ำซุปกระดูกหมู ใส่หมูสับ ผักกาดขาวใส่ไข่ เป็นอาหารพื้นเมืองที่ห้ามพลาด อิ่มอร่อย เดินถ่ายภาพเก็บภาพ สตรีทอาร์ต เสน่ห์สีสันผนังศิลป์ ผสมกับสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ที่บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นเมืองตะกั่วป่าผ่านภาพวาดกราฟฟิตี้ที่สวยงาม
ออกจากเมืองเก่าตะกั่วป่า สู่อำเภอท้ายเมือง อำเภอที่มีทะเลสวยงามหลายแห่ง แต่ครั้งนี้เราไม่ได้พามาเที่ยวทะเล แต่เราจะพามาไหว้พระขอพรกันที่ “วัดเทสก์ธรรมนาวา” หรือ “วัดป่าไทร” (ชื่อเดิม) อดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นป่า เรียก “ป่าท่าไทร” ซึ่งนอกจากจะเป็นป่าของต้นไม้น้อยใหญ่แล้ว ยังเคยเป็น “ป่าช้า” มาก่อน อันเนื่องมาจากในอดีตป่าท่าไทรแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงเมื่อมีการเสียชีวิตลงก็จะนำศพล่องเรือมาเผาหรือฝังยังป่าท่าไทรแห่งนี้
จากป่าช้าสู่วัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร) อันงดงาม ท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติ ริมหาดทรายขาวและเงียบสงบโดดเด่นไปด้วย “โบสถ์ไม้สักริมทะเล” หนึ่งเดียวในภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณหาดชายทะเลท่าไทรท่ามกลางป่าสนชายฝั่งทะเลในบรรยากาศร่มรื่น ตัวโบสถ์สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นอาคารทรงไทย บานหน้าต่างนั้นสวยงาม ด้วยงานแกะสลักอันอ่อนช้อยชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แกะสลักจาก หินหยกขาว อิทธิพลศิลปะอินเดีย ที่พิเศษอีกอย่างคือ วัดแห่งนี้ไม่มีตู้รับบริจาคปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น เป็นอีกหนึ่งวัดที่ห้ามพลาดมาไหว้พระขอพร ออกเดินทางกันสู่สุดหมายสุดท้ายของทริปนี้ “เขาไข่นุ้ย”
เมื่อต้นปีเราเองก็เพิ่งเดินทางมา เขาไข่นุ้ย แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของพื้นที่ ที่บอกว่ามี ถึง 6 สิ่ง นั่นคือ ชมพระอาทิตย์ตกทะเลอันดามัน ที่มองเห็นเกาะตาชัย ชมพระอาทิตย์ขึ้นยอดภูเขา ชมทะเลหมอก ชมทะเลอันดามัน ชมทะเลดาว และชมทิวเขา ซึ่งการมาเยือนอีกครั้ง เราก็จะได้ชมทั้ง 6 สิ่ง ในที่เดียว โดยครั้งนี้ได้ติดต่อที่พัก โฮมสเตย์บังไข่ โดยมีพี่ลี่เป็นผู้ดูแล
ด้วยที่เขาไข่นุ้ยไม่มีไฟฟ้าเช่นกัน ที่นี่เป็นระบบปั่นไฟแบบที่เกาะพระทอง ที่พักมีบ้านพัก แบบมีห้องน้ำในตัว อยู่ 3 หลังและแบบไม่มีห้องน้ำในตัว ใช้ห้องน้ำร่วม และลานกางเต็นท์ เดินทางขึ้นไป เอาของเก็บเข้าที่พัก อาจจะไม่สะดวกสบาย แต่สำหรับคนที่เที่ยวธรรมชาติจะเข้าใจดีว่าแบบถือว่า.. โอเคมากแล้ว… เก็บของมานั่งรอถ่ายแสงเย็นพระอาทิตย์ตกทะเลอันดามัน แต่วันนี้พระอาทิตย์ไม่เป็นใจ เจอเมฆบดบังพระอาทิตย์เลยได้แค่แสงเย็น รอลุ้นทะเลดาวยามค่ำคืน แต่ธรรมชาติเราไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ พอพระอาทิตย์ตกแล้ว พายุฝนก็กระหน่ำลงมา ความคาดหวังว่าจะได้ภาพทะเลดาวก็ดูริบหรี่ลง แต่แล้วเมื่อฝนหยุดตก ท้องฟ้ากลับมาสดใส ประดับด้วยแสงดาวระยิบระยับเต็มฟ้าแม้จะมีเมฆบางๆ แต่เราก็ได้ชมทะเลดาวที่สวยสมคำร่ำลือ
พอเช้าทะเลหมอกของเขาไข่นุ้ยก็พร้อมต้อนรับ ณ หน้าที่พัก ทะเลหมอกเขาไข่นุ้ยมีความพิเศษกว่าทะเลหมอกของภาคอื่นๆ ตรงที่ทะเลหมอกของที่นี่มีให้ชมตลอดทั้งปี ไม่เว้นแม้แต่ฤดูร้อน เรียกว่า Unseen แบบสุดๆ แต่ต้องเป็นวันที่คลื่นลมทะเลสงบเท่านั้น ก็จะได้ชมความอัศจรรย์ทะเลหมอกแห่งภาคใต้บนเขาไข่นุ้ยได้อย่างสวยงาม
หากคุณคือนักเดินทางผู้ที่รักในธรรมชาติและการถ่ายภาพกำลังมองหาประสบการณ์ในการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ จังหวัดพังงาเมืองสวยในหุบเขา เป็นอีกเมืองที่ต้องห้ามพลาด กับแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่รอให้เราได้ออกไปค้นหาความสวยงาม