เรื่อง+ภาพ : PINPON
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 188/2013 May
จริงๆ แล้วทริปนี้ของผมมีจุดหมายอยู่ที่ “จามมู แอนด์ แคชเมียร์” [Jammu and Kashmir] แคว้นทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งการเดินทางเข้าสู่แคชเมียร์นั้นต้องใช้สายการบินภายในประเทศจากกรุง “นิวเดลี” เมืองหลวง ก็ด้วยเหตุที่ต้องมาแวะต่อเครื่องที่นิวเดลี ประกอบกับกำหนดการวันที่ผมเดินทางไปถึงนั้น เป็นวันเริ่มเทศกาล “ดิวาลี” [Diwali] ของอินเดียพอดี เลยขอร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล และเที่ยว “ทัชมาฮาล” อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก กันซักหน่อย เพื่อไม่เป็นการเสียโอกาส ในการมาอินเดียทั้งที
ทัชมาฮาลสะท้อนสระน้ำด้านหน้าก่อนน้ำพุเปิด
ผมออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินเจ็ทแอร์ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ก็มาอยู่ ณ สนามบินอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ด้วยความตั้งใจจะไปเที่ยวทัชมาฮาล ที่ตั้งอยู่ในเมือง อัคราผมรีบเดินทางสู่เมืองอัครา ทางรถยนต์ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง น่าจะทันแสงเย็นของวันนี้กับทัชมาฮาล แต่วันนี้รถติดมากครับเพราะวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 13 พฤศจิกายน เป็นวันแรกของการเฉลิมฉลองเทศกาล “ดิวาลี” หรือ “ดิปาวาลี” ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู มีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศอินเดีย ดิวาลี [Diwali] หมายถึงแถวของประทีปไฟ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เทศกาลแห่งไฟ” [The Festival of Lights] ทุกบ้านเรือนไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะจุดบูชาไฟโดยใช้ตะเกียงดินเผาใบเล็กๆ หรือเรียกว่า “ดิยา” [Diya] ใช้น้ำมันเนยหรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง ใช้เส้นไยฝ้ายเป็นไส้ตะเกียง โดยจะจุด ดิยา ในทุกๆ ที่ของบ้าน ตั้งแต่หน้าบ้าน ตามขั้นบันได ห้องนอน ห้องน้ำ ระเบียงบ้าน ไปจนถึงหลังคาบ้าน ปัจจุบันมีการประดับไฟ ตามบ้านเรือนและตึกสูง อย่างสวยงาม ดอกไม้ที่ใช้ประดับประดา คือ ดอกดาวเรืองและใบมะม่วง ตามประตูหน้าต่าง ผู้คนจะออกมาจับจ่ายซื้อของกันเนืองแน่นไปหมด ทำให้รถติดมากๆ ผมมาถึงเมืองอัครา ก็ค่ำแล้วครับ ไม่ทันแสงเย็นที่ทัชมาฮาล แต่ไม่เป็นไรครับพรุ่งนี้มีโปรแกรมไปทั้งเช้าและเย็น คืนนี้นอนฟังเสียงพลุที่จุดเฉลิมฉลองกันแทบจะตลอดเวลา ผมว่าเยอะกว่าลอยกระทงบ้านเราหลายเท่า สนุกสนานกันทั้งเมือง อีกเสียงหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่เลยครับ คือ เสียงแตรรถ ผมฟังตั้งแต่ออกจากสนามบิน จนถึงเมืองอัครา ตอนนี้ชินแล้วครับ
Happy Diwali ครับ วันนี้เป็นวันเริ่มเทศกาลดิวาลี วันแรก ก่อนที่ท้องถนนของเมืองอัครา จะวุ่นวายผมมารอเข้าคิวอยู่ที่หน้าทางเข้าทัชมาฮาลตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวอินเดีย ประมาณ 30 คน ต่อแถวอยู่แล้ว เหตุที่ต้องมาต่อแถวรอเข้าเป็นชุดแรกๆ นั้นเพราะ การเข้าชมทัชมาฮาลนั้นต้องผ่านการตรวจตราอย่างเข้มงวดมากครับ ใช้เวลาพอสมควร และการเข้าชมถ่ายภาพจะได้ไม่ติดคน และนักท่องเที่ยวมากนัก ที่สำคัญ ทัชมาฮาลด้านหน้าบริเวณสระน้ำนั้นจะมีเงาสะท้อน ถ้าเราเข้าไปช้าทางเจ้าหน้าที่จะเปิดน้ำพุ ทำให้ไม่ได้เงาสะท้อนน้ำของทัชมาฮาล เพราะฉะนั้น แนะนำให้รีบไปแต่เช้าครับ และจุดแรกที่ควรรีบไปเก็บภาพคือบริเวณด้านหน้าเมื่อเข้าไปจากซุ้มประตูขนาดใหญ่ เป็นจุดแรกที่นิยมถ่ายภาพกันโดยมีสระน้ำเป็นแนวยาวตรงกลางตรงไปถึงทัชมาฮาล เมื่อเดินไปครึ่งทางจัดเป็นสวนหินน้ำตก เป็นอีกจุดที่จัดไว้ให้ถ่ายรูป และตรงนี้เองจะมองเห็นเงาสะท้อนน้ำของทัชมาฮาลได้อย่างชัดเจน โชคดีครับวันนี้เข้ามาแต่เช้า น้ำพุยังไม่เปิด และนักท่องเที่ยวก็ยังไม่มากนัก ทำให้ได้ภาพสะท้อนน้ำ อย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อเดินต่อมาจนถึงทางขึ้นตัวอาคาร ต้องถอดรองเท้านะครับ โดยนักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้ใส่ ที่หุ้มรองเท้าเป็นพลาสติกได้
ซุ้มประตูหน้าทางเข้าทัชมาฮาล
นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมากันตั้งแต่เช้า
เมื่อขึ้นไปด้านบน แนะนำให้เดินไปทางซ้ายของทัชมาฮาลครับจะมีอาคารขนาดใหญ่ สามารถใช้ซุ้มประตูเป็นกรอบภาพได้และเป็นมุมที่มองเห็นพระอาทิตย์กำลังขึ้นผ่านทัชมาฮาลอีกด้วย เป็นภาพที่สวยงามและประทับใจมากครับ บริเวณด้านนอกของทัชมาฮาล สามารถเดินถ่ายรูปได้โดยรอบ ด้านซ้ายเป็น อาคารทรงเปอร์เซียขนาดใหญ่ใช้เป็นมัสยิด ด้านขวาเป็นอาคารใช้ประกอบพิธีต่างๆ ทั่วไป ด้านหลังติดแม่น้ำยมุนา ใจกลางของอาคารเป็นสุสานพระศพของพระนางมุมตัซ มะฮาล และพระเจ้าชาห์ จาฮานเมื่อเข้าบริเวณด้านในห้ามถ่ายรูปนะครับ เจ้าหน้าที่เข้มงวดมาก ด้านในมีขนาดไม่ใหญ่มากนักตรงกลางมีแท่นพระศพตั้งอยู่ ล้อมรอบด้วยฉากแกะสลักจากหินอ่อน ประดับประดาด้วยอัญมณีหลากหลายอย่างสวยงาม เราสามารถชื่นชมความสวยงามของแท่นพระศพได้ด้วยการมองผ่านฉากที่ล้อมรอบไว้เท่านั้น และก็ที่เห็นนั้นมีแต่หีบศพเท่านั้น ส่วนพระศพจริงๆ ตั้งอยู่ภายในอุโมงค์ด้านล่าง เมื่อออกมาจากทัชมาฮาล สามารถเดินเที่ยวชมบริเวณรอบๆ ที่จัดเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ ในสวนมีนกแก้วอินเดียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าเทียบกับบ้านเรา เวลาเราเดินเที่ยวสวนสาธารณะ จะเห็นนกกระจอกเป็นจำนวนมากโดยทั่วไป แต่ที่นี่เป็นนกแก้วครับ และช่วงที่ผมไป มีเหยี่ยวดำที่อพยพมาเป็นจำนวนมาก มีให้เห็นอยู่ทั่วไปเลยครับรวมถึงในสวนแห่งนี้ด้วย การเที่ยวชมทัชมาฮาลให้ครบรส ต้องมาที่ทัชมาฮาล และไปที่ ป้อมอัครา [Agra Fort] หรือพระราชวังอัครา จุดที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮานที่สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ในระยะไกลพระราชวังอัครา ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการทางการทหาร มีความยิ่งใหญ่อลังการมาก ภายหลังได้บูรณะเพิ่มเติมให้เป็นพระราชวังโดยพระเจ้าอักบาร์ ภายในเขตพระราชฐานเต็มไปด้วยศิลปะการแกะสลักอันสวยงาม ทั้งแบบฮินดู เปอร์เซียและพุทธ บริเวณด้านในสุดริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของตำหนัก ดอกมะลิ [Jasmin Palace] สถานที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮาน สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลัก และประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดาที่มาจากทัชมาฮาล สุดท้ายถ้ามีเวลา แนะนำ ด้านหลังทัชมาฮาลครับ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาอีกฝั่ง ถ้าไปทันแสงเย็น จะได้วิถีชีวิตริมน้ำเป็นฉากหน้า และพระอาทิตย์ตกกับแสงสุดท้ายของทัชมาฮาล สวยงามมากครับ แต่น่าเสียดายช่วงที่ผมไป มีเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณส่วนที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน จะสร้างเป็น Black Mahal หรือทัชมาฮาลสีดำนั้น มีการปิดกั้นไว้ด้วยรั้วลวดหนาม พร้อมทหารติดอาวุธ เฝ้าไม่ให้ลงไปบริเวณชายแม่น้ำได้ จึงได้แค่ถ่ายภาพอยู่บริเวณริมฝั่งเท่านั้น
แท่นพระศพพระนางมุมตัซ มาฮาล
การวางตะเกียง Diya อย่างสวยงาม
เหยี่ยวดำนับแสนตัวอพยพผ่านเมืองเดลีและอัครา
นกแก้วอินเดียเห็นได้โดยทั่วไปภายในสวนทัชมาฮาล
ทัชมาฮาล [Taj Mahal] สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ ญะฮาน กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ โมกุล แห่งอินเดียเพื่อเป็นอนุสรณ์แทนความรักที่พระองค์มีต่อพระมเหสีอันเป็นที่รักยิ่ง คือ “พระนางมุมตัซ มะฮาล” ในวัยเด็กของพระเจ้าชาห์ จาฮาน นั้นเป็นเด็กที่เงียบขรึม สร้างความไม่สบายพระหฤทัยให้กับพระราชบิดาคือ กษัตริย์ญะฮางีร์ เป็นอย่างมาก จนวันหนึ่ง ขณะที่เสด็จประพาสตลาด ได้พบกับเด็กหญิงสาววัย 14 ปี ชื่อว่า “อรชุนด์ พาโน เพคุม” เป็นบุตรสาวของ ฮะซีฟ ข่าน มีเชื้อสายเปอร์เซีย เพียงได้พบกันครั้งแรก เจ้าชายชาห์ จาฮานก็เกิดรักแรกพบขึ้นที่ตลาดในทันที หลังจากนั้นก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเจ้าชายที่มีความสดใสร่าเริง สามปีต่อมา พิธีอภิเษกสมรสก็ได้ถูกจัดขึ้น ในปี ค.ศ. 1612 และได้พระราชทานนามใหม่ให้กับ อรชุนด์ พาโน เพคุม ว่า “มุมตัซ มะฮาล” ซึ่งแปลว่า อัญมณีแห่งปราสาท ตลอดเวลาทั้งสองไม่เคยแยกห่างจากกันเลย จนในปี ค.ศ. 1628 เจ้าชายชาห์ จาฮาน เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์ ก็มีพระนางมุมตัซ มะฮาล เป็นพระมเหสี ทรงเป็นที่ปรึกษา และมีส่วนในการปกครองบ้านเมือง ช่วยทรงงานต่างๆ และทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป
นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย
นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย
ศรัทธาอันแรงกล้า
พระนางมุมตัซ มะฮาล ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 14 พระองค์ หลังจากทรงให้กำเนิดพระราชโอรสองค์สุดท้าย ได้เสด็จร่วมทัพกับพระสวามี แต่ระหว่างทางที่เสด็จกลับ พระนคร พระนางมุมตัซ มะฮาลทรงประชวรหนัก และทรงสิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จกลับ การเคลื่อนพระศพสู่พระนครนั้นถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ประชาชนผู้ที่อาลัยรักต่างมาร่วมขบวนตลอดเส้นทางจนเป็นขบวนแห่พระศพที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร ตลอดเส้นทางมีการโปรยทานแก่คนยากจน มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เลี้ยงอาหารอย่างเต็มที่เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพระนางมุมตัซ มะฮาล พระเจ้าชาห์ จาฮาน ทรงตรอมพระหฤทัยเป็นอย่างมาก ไม่เป็นอันทำอะไรเลย และทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์แห่งความรักและคิดถึงขึ้นมา บริเวณหลุมพระศพ ริมฝั่งแม่น้ำ “ยมุนา” ซึ่งในการก่อสร้างนั้น พระเจ้าชาห์ จาฮานทรงโปรดให้ระดมช่างฝีมือ ศิลปิน สถาปนิก ฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด จากหลายๆ ที่ โดยสถาปนิกที่คุมการก่อสร้างคือ “อุสตาด ไอซา” [Ustad Isa] ใช้ผู้ร่วมออกแบบ ช่างเขียนลวดลาย ช่างแกะสลัก ช่างอิฐ ช่างปูน ช่างตกแต่งต่างๆ รวมประมาณ 20,000 คน ส่วนที่เราเห็นกันโดยทั่วไปนั้นเป็นบริเวณหลุมพระศพของพระนางมุมตัซ มะฮาล ถูกสร้าง โดยใช้หินอ่อนสีขาวนวลบริสุทธิ์ จากเมืองมะครานา หินอ่อนสีแดง จากฟาตีปุระ เพชรตาแมวจากแบกแดด ประการังและหอยมุกในมหาสมุทรอินเดียและเครื่องประดับต่างๆ มากมายจากมิตรประเทศทั่วทุกสารทิศ ได้รับการยอมรับกันว่าถูกสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่ถูกต้องวิจิตรงดงามที่สุด ทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ นอกจากหลุมพระศพแล้วยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด ขนาดใหญ่ หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกโดยรอบ ทั่วบริเวณจัดเป็นสวนสวยงาม ใช้เวลาก่อสร้างถึง 22 ปี ส่วนสถาปนิกที่คุมการก่อสร้างถูกประหารชีวิต เพราะไม่ต้องการให้ไปออกแบบสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยกว่านี้ได้อีกต่อไป
ชาวบ้านนั่งร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานกับเทศกาลดิวาลี
ชาวอินเดีย
อีกฝั่งแม่น้ำยมุนา บริเวณที่จะก่อสร้าง ทัชมาฮาลสีดำ
การสร้างทัชมาฮาลนั้นใช้เงินอย่างมากมายมหาศาล และยังมีการคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งเพื่อเป็นสุสานของตัวเองด้วยหินอ่อนสีดำ ตั้งอยู่อีกฝั่งของ แม่น้ำยมุนาตรงข้ามกับทัชมาฮาล แต่ว่ายังไม่สำเร็จ พระราชโอรสองค์ที่ 3 “ออรังเซป” เห็นว่าถ้าปล่อยต่อไปเงินต้องหมดท้องพระคลังแน่ จึงตั้งตนขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทน และได้จับ พระเจ้าชาห์ จาฮาน ขังไว้ที่ “อักรา ฟอร์ท” [Agra Fort] ซึ่งสามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ และได้สิ้นพระชนม์ลงที่นี่ ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ.1666 ซึ่งถูกขังอยู่ถึง 8 ปี โดยในแต่ละวัน พระเจ้าชาห์ จาฮาน ก็จะทรงยืนทอดพระเนตรทัชมาฮาล จนวาระสุดท้าย ส่วนพระศพได้ถูกนำไปฝังไว้เคียงข้างพระมเหสี ตามพระประสงค์ที่ต้องการจะอยู่เคียงข้างกันตราบชั่วนิรันดร์ เล่ากันว่าตอนกษัตริย์ชาห์ จาฮาน ถูกขังอยู่ที่ป้อมอัครา มีพระธิดาองค์หนึ่งคอยปรนนิบัติ อยู่ ก่อนสิ้นใจได้ตรัสให้พระธิดาช่วยประคองพระเศียรขึ้นดูทัชมาฮาลก่อนสวรรคตด้วย ผมฟังเรื่องราว ประกอบกับได้เห็นสถานที่จริง ถึงกับน้ำตาซึมด้วยความสงสารเลยครับ ขอไปเศร้าก่อน พรุ่งนี้ต้องเดินทางอีกไกลครับ
พระราชวังอัครา
ร้านขายฟิล์มและการ์ดสำหรับกล้อง หน้าพระราชวังอัครา
มัสยิดใหญบริเวณด้านซ้ายของทัชมาฮาล
ตำหนัก ดอกมะลิ ห้องที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮาล
สถาปัตยกรรมภายในพระราชวังอัครา
ทัชมาฮาลถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2007 ด้วยการโหวตจากประชาชนทั่วโลก กว่า 100 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่มากกว่าปีละ 3 ล้านคน ซึ่งโดยทั่วไปจะเดินทางมาในช่วงหน้าหนาวช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะอากาศที่เย็นสบายเหมาะแก่การท่องเที่ยว
ทัชมาฮาล มองผ่านลวดหนามฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนา
วิวริมฝั่งแม่น้ำยมุนา
มองผ่านซุ้มอาคารด้านขวา
ทัชมาฮาล มองจากสถานที่คุมขังพระเจ้าชาห์ จาฮาล
บริเวณรอบสวนขนาดใหญ่ของทัชมาฮาล
พระอาทิตย์ขึ้นกับทัชมาฮาล
ทัชมาฮาลมองผ่านประตูมัสยิดด้านซ้าย