เรื่อง+ภาพ : PINPON
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 213/2015 June
เมืองไทยนั้นมีเทศกาลและงานประเพณีหมุนเวียนมาให้ได้ตื่นตาตื่นใจกันตลอดปีนะครับ หลังจากผ่านประเพณีสงกรานต์มาไม่นานจังหวัดเลยก็จะมีเทศกาลประจำปี ผ่านการละเล่นที่สนุกสนาน ผสมผสานงานบุญใหญ่ หล่อหลอมเป็นประเพณีอันโด่งดังและมีเพียงแห่งเดียวในโลกความอลังการและสีสันของเทศกาลงานประเพณีของไทยนั้นสะท้อนภาพวิถีวัฒนธรรมของไทยที่เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยได้เป็นอย่างดี วันนี้ผมจะชวนทุกท่านไปเที่ยวงานเทศกาลบุญหลวงหรือเทศกาล ผีตาโขนกันครับ
ผีตาโขน เป็นเทศกาลหนึ่งเดียวในโลกที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคอีสาน ของประเทศไทย เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นในเดือน 7 ไทย ช่วงประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งจะกำหนดวันโดยคนทรงประจำเมือง มีระยะเวลาจัดงาน 3 วัน จัดเป็นเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกกันว่างานบุญหลวง หรือบุญพระเหวด ซึ่งเกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวส หรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสานสำคัญของท้องถิ่น และถือเป็นประเพณีการละเล่นที่จัดประจำทุกปีโดยจัดขึ้นทั้งอำเภอด่านซ้ายและอำเภอนาแห้วแต่ทั่วไปมักจะรู้กันว่าจัดที่อำเภอด่านซ้ายเป็นส่วนใหญ่
ต้นกำเนิดผีตาโขนนั้น ไม่แน่ชัดเท่าไหร่นัก แต่ตามคำบอกเล่าจากบรรพบุรุษนั้นกล่าวกันไว้หลายตำนานเช่น ผีตาโขนเป็นประเพณีที่คล้ายกับการบูชาบรรพบุรุษของอาณาจักรล้านช้าง อีกตำนานคือการแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดร และนางมัทรีกำลังจะเดินทางออกจากป่าเพื่อกลับสู่เมือง ซึ่งบรรดาเหล่าผีป่าหลายตนและบรรดาสัตว์นานาชนิดที่อาลัยรัก ได้แฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งเสด็จทั้งสองพระองค์กลับเข้าเมือง จึงเรียกกันว่า “ผีตามคน” ต่อมาการเรียกขานเกิดการเพี้ยนเสียงไปเรียกกันว่า ผีตาขน และเป็น ผีตาโขนในที่สุด
การละเล่นผีตาโขน อำเภอด่านซ้ายนั้นถือว่าเป็นที่เดียวในประเทศไทย และที่เดียวในโลกจุดเด่นของงานคือการแห่ผีตาโขน โดยผู้เข้าร่วมขบวนแห่จะแต่งตัวเป็นผีตาโขนให้มีลักษณะโดดเด่นไม่ซ้ำกัน แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์คือส่วนหัวของผีตาโขน จะต้องทำมาจากทางมะพร้าวแห้งและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้งมาเจาะเป็นช่อง ตา จมูก ปาก เพื่อใช้เป็นส่วนหน้ากากและนำหวดนึ่งเข้าเหนียวหงายขึ้นยึดติดกับส่วนหน้ากาก เพื่อใช้เป็นส่วนสวมศีรษะ จากนั้นก็จะตกแต่งเพิ่มเติมสีสันตามแต่จินตนาการของแต่ละคน ส่วนชุดก็จะนำเศษ ผ้าสีสันสดใส ต่างๆ มาเย็บติดกันเป็นชุดแขนยาว ขายาว ตกแต่งให้สวยงาม และผีตาโขนนั้นจะต้องมีอาวุธประจำกาย มีทั้ง ดาบ ง้าว มีด ที่ทำจากไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ไม่คม รวมถึงปลัดขิกตัวเขื่องด้วย และที่ขาดไม่ได้เลย คือ “หมากกะแหล่ง” หรือ กระดิ่ง ผีตาโขนจะผูกไว้ที่เอวแล้วห้อยไว้ด้านหลัง เวลาเดินไปไหน ก็จะสายก้นเพื่อให้เกิดเสียงดัง มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หรือหลายๆ อัน บางตนผมเห็นแขวนกระดิ่งอันเท่าปี๊บเลยครับ
ประเพณีผีตาโขนที่อำเภอด่านซ้ายนั้นโดยปกติ จะจัดที่วัดโพนชัย เป็นงานบุญหลวงนิยมทำกัน 3 วัน ในวันแรก เป็นวันรวม หรือวันโฮมเป็นวันที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ เดินทางมาร่วมงาน มีการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำหมัน ตั้งแต่ เวลา 4.00-5.00 น. มาประดิษฐานไว้ที่ศาลาวัดที่จัดงานโดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายและเหตุเภทภัยต่างๆ ที่จะเกิดในงานได้ โดยคณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าหรือขันแปด (พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพ และจะเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และบันดาลให้ เกิดความปลอดภัยและสงบสุข เมื่อถึงบริเวณท่าน้ำ ผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ และงมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถาม ว่า “ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่” ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า “ไม่ใช่” พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า “ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง” เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้วก็นำใส่พานแห่กลับมายังที่หอพระอุปคุตต์บริเวณวัดโพนชัย ทำการ ทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการจุดประทัดเสียงดังเพื่อเป็นสัญญาณว่าพิธีอัญเชิญพระอุปคุตต์ได้สำเร็จลงแล้ว เหล่าผีตาโขนและผู้ที่มาร่วมพิธีก็จะออกมาแสดงความยินดีด้วยการเต้นรำตามเสียงจังหวะ และแกว่งหมากกระแหล่งให้เสียงดังไปทั่ว ขบวนผีตาโขนจะพากันแห่ไปตามละแวกบ้านเรือน เพื่อแสดงการเล่นให้ชาวบ้านชม และขอเหล้าข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านกิน ได้เวลาสมควรจะกลับมาที่วัด เพื่อแสดงการเล่น รอหยอกล้อผู้คนที่เดินทางมาร่วมงานจากหมู่บ้านต่างๆ และหยอกล้อผู้หญิงหรือเด็ก ซึ่งพักอยู่ตามปะรำหรือบริเวณวัดด้วยในการแห่ไปเยี่ยมตามละแวกบ้าน วันหนึ่งๆ อาจไปหลายครั้ง และแยกเป็นหลายคณะ บางทีก็มีคณะเล่นเซิ้งบุญ การฟ้อนรำ ประจำท้องถิ่นร่วมขบวนไปด้วย เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน
วันที่สองของงานบุญหลวง ซึ่งเป็นจุดเด่นของงาน คือวันแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง บรรดาผีตาโขนจะเริ่มเล่นกันตั้งแต่เช้ามืด ตั้งแต่บริเวณวัดไปยังละแวกบ้านเรือนใกล้เคียงต่างๆ รวมถึงมีการละเล่นต่างๆ และกิจกรรมมากมาย พอได้เวลาในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.00-15.00 น. บรรดาผีตาโขนทุกตน ตลอดจนผู้ร่วมงาน จะไปร่วมกัน ณ จุดที่จะอัญเชิญพระเวสสันดร และพระนางมัทรีเข้าเมือง คือบริเวณหมู่บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย หรือบริเวณที่ว่าการอำเภอด่านซ้ายโดยสมมติให้บริเวณนี้เป็นที่ประทับของพระเวสสันดรและพระนางมัทรี โดยจะเริ่มด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีจากนั้นบรรดาผีตาโขนและประชาชนก็จะร่วมกันแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยแห่ไปยังวัดโพนชัย ซึ่งสมมุติว่าเป็นเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้า ถัดไปมีพระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่ตามหลัง ต่อจากนั้น จึงเป็นขบวนแห่บั้งไฟ โดยเอาบั้งไฟมามัดรวมกันบนแคร่และมี “เจ้าพ่อกวน” นั่งบนบั้งไฟ ถ้าโชคดีอาจได้รับวัตถุมงคลจากเจ้าพ่อกวนด้วยนะครับเจ้าพ่อกวนจะโปรยวัตถุมงคลไปตลอดทาง ในขบวนจะมีการแสดงของเหล่าผีตาโขน การละเล่นของประชาชนทั่วไป ระหว่างทางก็จะร้องรำทำเพลงกระโดดโลดเต้น การแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองที่แหละครับ เป็นการจัดขบวนที่ยิ่งใหญ่ มีคนไปร่วมงานมากมาย เป็นช่วงที่สนุกสนานที่สุดของงาน ทั้งผู้คน การละเล่นต่างๆ ผีตาโขน ถ่ายรูปได้อย่างจุใจเลยครับผีแต่ละตนจะแอ็คชั่นให้ถ่ายรูปอย่างสนุกสนานเป็นกันเอง ระหว่างทางก็จะหยอกล้อกับผู้คนโดยใช้อาวุธประจำกาย ไปทิ่มแทงบ้าง แกว่งกระดิ่งใส่บ้าง โดยเฉพาะสาวๆ พวกผีนี่ชอบเข้าไปแกล้งมาก รับรองว่าลืมร้อนไปเลยครับ แนะนำว่าต้องกันแดดให้ดีนะครับสำหรับคนแพ้แดดส่วนอุปกรณ์ก็ต้องให้น้อยที่สุดเพราะจะได้คล่องตัวเวลาเคลื่อนย้ายหรือเบียดกับผู้คน เพราะคนเยอะมากๆ เมื่อขบวนแห่เข้าไปยังวัดโพนชัยจะแห่รอบบริเวณวัดสามรอบ และนำพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน นิมนต์พระสงฆ์ลงจากแคร่ และเชิญเจ้าพ่อกวนลงจากบั้งไฟ เป็นอันเสร็จพิธีแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง ระหว่างที่ขบวนแห่รอบวัดนั้น พวกผีตาโขน ส่วนใหญ่จะเล่นกันอยู่บริเวณลานวัด ถ้าอยากร่วมพิธีหรือถ่ายภาพพิธีให้จบ ก็ต้องตามขบวนเข้าไปรอบโบสถ์ครับ หลังจากการร่วมขบวนแห่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการละเล่น ทำกิจกรรมความบันเทิงกันจนถึงเย็นหรือค่ำ หลังจากเลิกเล่นกันในงานวันนี้แล้ว บรรดาผู้ร่วมขบวนที่แต่งเป็นผีตาโขนก็จะนำเสื้อผ้าหน้ากากและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการเล่นไปรวมกันไว้ที่บริเวณนอกวัด เพื่อเป็นการขจัดสิ่งชั่วร้ายเสนียด จัญไร ออกไปจากตัว ซึ่งในสมัยก่อนนั้นจะนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน แต่เนื่องจากเป็นการรักษาความสะอาดของแม่น้ำ จึงเปลี่ยนมาเป็นลำน้ำใกล้วัด หรือสถานที่ที่จะจัดเก็บได้ง่ายในช่วงเย็นจะมีการจุดบั้งไฟ จนถึงค่ำ ชาวบ้านจะร่วมกันฟังพระสวดพระพุทธมนต์และฟังพระเทศน์ เรื่อง มาลัยหมื่น มาลัยแสน ส่วนงานในวันที่ 3 วันสุดท้าย จะเป็นการฟังเทศมหาชาติ ตั้งแต่เช้ามืดตลอดทั้งวันจนเย็นก็เป็นอันเสร็จพิธีงานบุญหลวง
สำหรับในปี พ.ศ. 2560 มีหมายกำหนดการ ให้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2560 ณ วัดโพนชัย และหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2560
เวลา 03.00 น. – พิธีบวชพราหมณ์ ณ อุโบสถวัดโพนชัย
เวลา 04.00 น. – พิธีเปิดพระอุปคุต
เวลา 06.00 น. – พิธีตักบาตรแด่พระสงฆ์
เวลา 08.30 น. – พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน
วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2560
เวลา 09.30 น. – ขบวนแห่พร้อมกันหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย
เวลา 10.00 น. – พิธีเปิดงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2560
เวลา 13.00 น. – ชมกิจกรรมการแสดงบนเวทีกลาง
เวลา 15.00 น. – พิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดร ณ บ้านเจ้าพ่อกวน
– พิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนเพื่อขอฝน (หลังวัดโพนชัย) พิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขน (ท่าวังเวิน) วัดโพนชัย
เวลา 19.00 น. – พิธีเจริญพุทธมนต์ ณ วัดโพนชัย
วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560
เวลา 04.00 น. – พิธีเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ณ วัดโพนชัย
– ชมขบวนแห่ต้นกัณฑ์เทศน์
ข้อมูลกำหนดการจาก อะเมสซิ่งไทยทัวร์
ข้อมูลอ้างอิง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อำเภอด่านซ้าย โทร. 042-891-266
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย โทร. 042-812-812
ปกติแล้ว ผู้เล่นผีตาโขนจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น เนื่องจากต้องไปกระโดดโลดเต้น และอาจเป็นการไม่เหมาะสม แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้หญิงเล่นเป็นผีตาโขนบ้างแล้วนะครับลองสังเกต อาจจะได้ภาพเด็ดๆ มาฝากกันนะครับ