เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’S

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 249/2018 June

ภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือน เป็นลักษณะภาพถ่ายที่เรามักจะคุ้นตากันเป็นอย่างดี นั่นก็คือภาพถ่ายที่เรียกว่าภาพสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมนั้นเป็นประเภทหนึ่งของภาพถ่ายที่ได้รับความนิยมของช่างภาพส่วนมาก ในฉบับนี้เรามาพูดคุยเรื่องนี้กันบ้าง ซึ่งมีความน่าสนใจไม่ใช่น้อยครับ เอาล่ะหลังจากบทความนี้ไปแล้วเราจะมาเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมกัน

การถ่ายภาพทางสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องของการถ่ายภาพอาคารสถานที่ บ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในอาคาร (Exterior / Interior) และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ เช่น ลวดลาย การประดับตกแต่งในงานสถาปัตยกรรมนั้น

Exterior สถาปัตยกรรมภายนอก ภาพประเภทแรกคือภาพถ่ายที่เราคุ้นเคยกันดีภาพสถาปัตยกรรมภายนอก หรือ exteriorภาพ exterior นั้นก็คือภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดองค์ประกอบภายนอกของสถาปัตยกรรม โครงสร้าง การออกแบบ รูปทรงของตัวอาคาร หรือรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆทั้งหมด

Interior สถาปัตยกรรมภายใน ลักษณะของภาพ interior นั้นเป็นภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะต่างๆ หรือรายละเอียด การออกแบบ ภายในพื้นที่ของสถาปัตยกรรมนั้นๆ

Decoration การตกแต่งภายใน มีไม่น้อยที่สับสนกันระหว่างภาพ interior กับ decorate ภาพอินทีเรียแสดงให้เห็นถึง ‘โครงสร้าง’ ภายในของสถาปัตยกรรมอย่างที่กล่าวไปเมื่อพารากราฟที่แล้ว แต่ decorate เป็นการถ่ายทอดลักษณะและรายละเอียดของ ‘การตกแต่ง’ ตัวสถาปัตยกรรมภายในนั่นเอง

ความงดงามและคุณค่าของสถาปัตยกรรมนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดสรรที่ว่างให้สัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก การจัดวางทุกอย่างที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกลมกลืน เราจะถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้น่าสนใจได้ด้วยเทคนิคง่ายๆ โดยเน้นในเรื่องสำคัญที่จะกล่าวต่อไปนี้

 

Visual element

เราสามารถนำเรื่องของ Element ทั้ง เส้น รูปร่าง-รูปทรง พื้นที่ว่าง สี และพื้นผิว มาใช้ในการจัดองค์ประกอบของภาพสถาปัตยกรรมที่เราจะถ่ายภาพได้ โดยเฉพาะเรื่องของเส้น (line) และพื้นที่ว่าง (space) ที่มักจะถูกนำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบมากที่สุด เส้นมักจะต้องปรากฏในงานสถาปัตยกรรมอยู่แล้วดังนั้นจึงเป็น Element ที่ช่างภาพมองหา และมองเห็นก่อนเป็นอันดับแรก

 

Light & Shadow

แสงและเงา สถาปัตยกรรมมักจะถูกออกแบบมาให้รับกับแหล่งกำเนิดแสงที่อยู่บริเวณนั้น เช่นสถาปัตยกรรมภายนอก ก็จะมีตำแหน่งที่รับกับแสงจากดวงอาทิตย์ สถาปัตยกรรมภายในก็จะมีส่วนต่างๆ ที่จะต้องได้รับแสงจากหน้าต่าง ประตู และดวงไฟภายในสถาปัตยกรรมนั้นๆ เราอาศัยการสังเกตในแต่ล่ะช่วงเวลาของวันว่ามีลักษณะของแสงเงาที่น่าสนใจที่สุดช่วงเวลาใด ทิศทางของแสงที่ส่องกระทบสถาปัตยกรรม จะมีส่วนในการช่วยผลักดันให้โครงสร้างของสถาปัตยกรรมนั้นโดดเด่นขึ้น หรือผิดเพี้ยนไปก็ได้ เพราะเงาที่เหลืออยู่จะทำหน้าที่ทั้งสองอย่างได้เป็นอย่างดี

Color & Tone

Faber Birren บิดาแห่งวิชาจิตวิทยาการประยุกต์ใช้สี เคยกล่าวเอาไว้ว่า “การศึกษาเรื่องโทนสีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลักการจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ เพราะทุกเฉดสีล้วนส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์” ในงานสถาปัตยกรรมนอกจากสีจะช่วยเน้นให้สถาปัตยกรรมที่เราถ่ายนั้นโดดเด่นแล้ว ยังมีผลต่อจิตวิทยาการมองเห็น เช่นสีของห้องนอน สีของห้องอาหาร ฯลฯ และโทนภาพจะมีส่วนช่วยในการสร้างอารมณ์ในภาพ การจัดวางสีสันก็จะมีการใช้สีกลมกลืน และสีตัดกัน ส่วนโทนของภาพส่วนมากจะเน้นที่วรรณะของสี คือ ร้อน และเย็น

Perspective

เรียกว่าเป็นส่วนที่ต้องระวังในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว perspective ประกอบไปด้วย จุดรวมสายตาหรือเรียกว่า Vanishing point (VP) จะเป็นจุดรวมสายตาเป็นตำแหน่งที่ลากเส้นสิ่งของต่างๆ ไปรวมกัน จะส่งผลถึงความสมจริงและผิดเพี้ยนในภาพ เวลาที่เราถ่ายภาพนั้นจะได้ภาพที่ต่างกับความเป็นจริง โดยเฉพาะเส้นต่างๆ ในภาพนั้น เมื่อเราถ่ายภาพโดยที่ไม่ได้ควบคุม perspective ในภาพจะเกิดการบิดเบือน (Distortion) เช่น ตึกที่ลู่เอียงจากการใช้เลนส์มุมกว้าง หรือการเงยกล้อง ดังนั้นการควบ perspective ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมนั้นควรระวังเรื่องระดับของกล้อง การก้มเงยกล้องจะส่งผลโดยตรงต่อ perspective ในสถาปัตยกรรมนั้นๆ

ในการจะถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้น่าสนใจนั้น สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมก็คือ ทำความเข้าใจในสถาปัตยกรรมนั้นๆ ให้เข้าใจเสียก่อนว่าเรากำลังจะถ่ายอะไร จากนั้นคือ การวางไอเดียถึงภาพที่อยากจะได้ หรือต้องการจะได้ แล้ววางแผนการถ่าย ไม่ใช่การคว้ากล้องแล้วออกเดินไปเรื่อยๆ แบบนั้นโอกาสที่จะได้ภาพสถาปัตยกรรมที่ดีคงจะไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ…