เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 260/2019 May

สิ่งหนึ่งที่ช่างภาพหลายคนกังวล ก็คือเมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงที่น้อยมากๆ ด้วยว่าความเร็วชัตเตอร์ที่น้อยลง รูรับแสงที่ต้องเปิดกว้างมากขึ้น อาจส่งผลถึงช่วงความชัดของภาพ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ที่ทำให้บางคนเลือกที่จะเก็บกล้องทันทีเมื่อแสงอาทิตย์หมดลงแล้ว

กล้องถ่ายภาพสมัยก่อน ทั้งระบบฟิล์ม และดิจิตอล เมื่อนำมาถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยแล้วนั้น โอกาสที่จะได้ภาพที่มีคุณภาพน้อย แต่มาในปัจจุบันนี้ เราสามารถถ่ายภาพได้แม้ในสภาพแสงที่น้อยมาก ด้วยเทคโนโลยีและซอฟแวร์ที่อยู่ในกล้อง ทำให้สามารถบันทึกรายละเอียดต่างๆ ในภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และนั่นเป็นโอกาสอันดีที่ในยุคนี้ เราจะสามารถเก็บภาพถ่ายในอีกรูปแบบ อีกอารมณ์หนึ่ง จากในสถานการณ์ที่สภาพแสงน้อยมากๆ

แต่ก็ใช่ว่า การถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อยๆ จะเพิ่งเป็นที่นิยม ในสมัยก่อนนั้น ช่างภาพหลายคนก็ชื่นชอบที่จะบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยๆ ด้วยเช่นกัน และแทบไม่น่าเชื่อว่า สภาพแสงที่น้อยนิดนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพของพวกเขาเหล่านั้นเลย กลับกัน ภาพถ่ายที่สวยงามได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสภาพแสงอันน้อยนิดเหล่านั้น เรามาดูกันว่า ในสภาพแสงที่น้อยนั้นเราสามารถสร้างสรรค์อะไรได้บ้าง สำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยให้ได้ผลดี และได้ภาพตรงตามความต้องการของเราแล้วนั้น เรามีเทคนิคง่ายไม่กี่ข้อที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ครับ

High ISO

ในการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ถ้าไม่นับการใช้ขาตั้งกล้อง และไฟแฟลชแล้วนั้น การเพิ่มค่า ISO ในกล้องให้สูงขึ้น เป็นทางเลือกที่เราต้องทำ กล้องรุ่นใหม่ๆ จะได้เปรียบในจุดนี้ คือสามารถใช้ค่า ISO ที่สูงมากๆ ได้ โดยที่ภาพยังไม่มีสัญญาณรบกวนมากนัก

 

Large Aperture

Large Aperture หรือ F-stop ที่กว้าง จะทำให้เราได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะถ่ายภาพได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มค่า ISO มากนัก เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุดมากๆ เช่น 1.4, 1.8 เช่น เลนส์ฟิก จะเหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เพราะเลนส์พวกนี้จะไม่กินแสง เหมือนเลนส์ซูม ทำให้โอกาสถ่ายภาพง่ายขึ้นมาก

Spot metering and Exposure Compensation

เมื่อรอบๆ ข้างนั้น มืดลง ระบบวัดแสงในตัวกล้องแบบแบ่งพื้นที่ มักจะชดเชยแสงอัตโนมัติให้เรา + โอเวอร์ สว่างกว่าปกติ ไว้เล็กน้อย การวัดแสงเฉพาะจุดที่ตัววัตถุที่เราจะถ่าย จะทำให้ได้ค่าแสงที่แม่นยำมากกว่า สังเกตได้ว่า หลายครั้งที่เราวัดแสงแล้วได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ พอกดถ่ายภาพมาแล้ว เห็นว่าภาพที่ได้สว่างกว่าความเป็นจริงเท่าที่ควร ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรจะได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่านี้ได้ จากการวัดแสงที่แม่นยำนั่นเอง

 

RAW file

ต้องบอกว่าทุกวันนี้ RAW file และซอฟแวร์จัดการ RAW file นั้นพัฒนาขึ้นมาก ในการปรับแก้ไขภาพต่างๆ ทำได้กว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น บางภาพผมสามารถถ่ายภาพมาอันเดอร์มากๆ และยังสามารถดึงภาพให้สว่างขึ้นมาได้อีกในคุณภาพที่รับได้ ซึ่งสิ่งที่ได้มาคือ ความเร็วชัตเตอร์ที่ไวหยุดการเคลื่อนไหว และรูรับแสงปานกลางที่ครอบคลุมระยะชัด เพียงพอ

จากเทคนิคที่เราจะใช้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เรามาดูสิว่าเราสามารถสร้างสรรค์อะไรได้บ้างในการที่เราจะถ่ายภาพในสภาพแสงที่ไม่เอื้ออำนวย หรือในสถานการณ์ที่เราเลือกช่วงเวลาที่ส่งผลต่อสภาพแสงในภาพไม่ได้

Hide

ในสภาพแสงที่น้อยมาก วัตถุจะได้รับแสงจากแหล่งกำเนิดแสงที่เบาบาง ทำให้รอบข้าง ที่เคยรบกวนในภาพหายไปได้ จากการวัดแสงที่ถูกวิธี และจากการที่เราใช้แสงอันน้อยนิดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วปล่อยให้ส่วนอื่นๆ ในภาพ ที่เกะกะตา หรือดูรก จมหายไปกับความมืด ในส่วนนี้การใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด วัดไปที่แบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายโดยตรงมักให้ผลเป็นที่พอใจ

 

Blur

ภาพบางภาพ ไม่ต้องคมชัด ไม่ต้องชัดเจน แต่ก็มีความสวยงามตามหลักองค์ประกอบศิลปะ เป็นภาพนามธรรมที่เกิดจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ในที่ที่มีสภาพแสงน้อย ภาพที่พร่ามัวสั่นไหว อาจสร้างความน่าสนใจได้ง่ายๆ ถ้าเราเลือกวัตถุที่จะถ่ายได้น่าสนใจพอ และที่สำคัญเราเข้าใจถึงทิศทางของการเคลื่อนที่เหล่านั้น

Pan

ในเมื่อสภาพแสงที่น้อย ส่งผลต่อความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก ทำให้แบบที่กำลังเคลื่อนที่ในภาพเกิดการสั่นไหวพร่ามัวได้ การเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกับวัตถุหรือแบบที่กำลังเคลื่อนที่ (การแพน) สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งจะเสริมให้ภาพแสดงถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เรากำลังถ่ายอยู่ด้วย

 

Background Light

เราสามารถเลือกหาแสงไฟต่างๆ มาใช้เป็นฉากหลังของภาพให้ภาพน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งโดยมาก แสงไฟต่างๆ ในเวลากลางคืนให้สีสันที่สะดุดตาอยู่แล้ว และเมื่อเราใช้รูรับแสงที่กว้าง เพื่อความต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น กลับกลายเป็นผลดีของการอาศัยความเบลอของฉากหลัง ที่เรามองหาแสงไฟสวยๆมาใช้เสริมในภาพของเราได้เต็มที่

 

Color

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า แหล่งกำเนิดแสงที่ได้จากภาพถ่ายในสภาพแสงน้อย อย่างเวลาค่ำคืนนั้น คงหนีไม่พ้นแสงจากหลอดไฟทังสเตน ที่จะให้สีอมส้มๆ และสีอมส้มที่ได้จากแสงไฟเหล่านี้ เมื่อไปตกลงบนตัวแบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายภาพ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่อบอุ่น ตามแบบฉบับของ Warm Tone

คำถามที่พบบ่อยสำหรับเทคนิคการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยนี้ ก็คือเรื่องของ Noise เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ เราอาจจะต้องเลือกว่าเราจะยอมให้ภาพของเราเกิด Noise มากน้อยเพียงใดหรือเราจะยอมเสียช่วงความชัดจากการใช้ Large Aperture หรือ ใช้ค่า F-stop ที่น้อยลง อีกหนทางหนึ่งคือการลด Shutter speed ซึ่งแน่นอนถ้าสิ่งที่เราจะถ่ายมีการเคลื่อนที่ ก็อาจจะทำให้การจับจังหวะการเคลื่อนไหว พร่าเบลอได้ สุดท้ายแล้ว การเพิ่มค่า ISO ให้สูงขึ้นดูจะเป็นปัจจัยที่เราอาจจะต้องยอมเลือก ทั้งนี้เราพิจารณาได้ว่าเราต้องการแบบไหนกับภาพของเรา ที่ควรทำคือ อย่างน้อยเราควรรู้ว่ากล้องที่เราใช้นั้น สามารถดันค่า ISO ได้สูงสุดที่เท่าไหร่ และได้ภาพที่เรารับได้ ที่ค่า ISO เท่าไหร่ครับ…