เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 245/2018 February

ในการถ่ายภาพโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะมุ่งความสำคัญไปที่ subject เป็นหลักจนทำให้บางครั้งภาพที่ได้กับไม่เป็นไปในทางที่ดีตามที่เราคาดคิด เพราะว่าเราให้ความสำคัญกับ subject มากเกินไปจนลืมนึกถึงสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือ ฉากหลัง หรือ Background นั่นเอง

ฉากหลังมีส่วนช่วยทำให้ภาพของเรามีความน่าสนใจขึ้นมาก และในขณะเดียวกัน ฉากหลังที่ไม่ดี ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาพของเราขาดความน่าสนใจเช่นกัน

ฉากหลัง หรือ Background ที่ดีนั้นไม่ควรแย่งความเด่นของ subject ที่เราจะถ่ายภาพ ยิ่งไปกว่านั้นฉากหลังที่ดีจะสามารถช่วยเสริมให้สิ่งที่เราจะถ่ายน่าสนใจยิ่งขึ้นได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วฉากหลังที่เรียบง่ายนั่นแหละจัดว่าเป็นหนึ่งในฉากหลังดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง ที่ยากก็คือเราจะมองหาฉากหลังที่เรียบง่ายนั้นเจอได้อย่างไร หรือมีเทคนิควิธีการใดที่จะช่วยได้บ้าง

ฉากหลังที่เรียบง่ายจากการการควบคุมรูรับแสง และระยะชัด

ฉากหลังที่เรียบง่ายการเลือกจุดโฟกัสและการควบคุมรูรับแสง ฉากหลังลักษณะนี้จะมาจากการที่เราเลือกให้ส่วนใดส่วนหนึ่งในภาพนั้นมีความคมชัด แล้วปล่อยให้ในหลายๆ ส่วนในภาพนั้น out of focus หรือเบลอไปนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะใช้การเลือกรูรับแสงที่กว้างเพื่อให้ได้ระยะชัดที่น้อย ซึ่งจะส่งผลให้ฉากหลังของภาพที่พ้นระยะชัดไปนั้นเกิดความเบลอ ฉากหลังที่เบลอไปนั้นก็จะช่วยส่งให้ subject หรือวัตถุที่เราจะถ่ายดูโดดเด่นขึ้นมา เทคนิคนี้จะได้ผลที่ดีมากขึ้นเมื่อเราใช้ร่วมกลับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า เลนส์ฟิก (fix Lens) และข้อสำคัญควรมีระยะห่างระหว่าง subject กับฉากหลังมากพอสมควร หรือการถ่ายภาพระยะใกล้กับ subject ขนาดเล็กอย่างการถ่ายภาพมาโครที่มีระยะโฟกัสวัตถุที่ระยะใกล้มากๆ

 

ฉากหลังที่เรียบง่ายจากฉากหลังที่เข้มหรือสว่างกว่าวัตถุ  

ฉากหลังที่มีความเข้ม หรือความสว่างกว่าวัตถุที่เราจะถ่าย มีส่วนช่วยให้สิ่งที่เราจะถ่ายดูน่าสนใจยิ่งขึ้น และยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในภาพอีกด้วย ฉากหลังที่เข้มจะส่งผลต่อความรู้สึกในภาพ ที่ดูลึกลับ เข้มแข็ง ในทางกลับกันฉากหลังที่สว่างก็จะให้ความรู้สึกที่สดใส สดชื่น ทั้งนี้ในการเลือกใช้นั้น เราต้องระวังในเรื่องของการวัดแสง ที่เครื่องวัดแสงในกล้องมักจะอ่านค่าแสงผิดพลาด ส่งผลให้ภาพที่ได้ มืด หรือสว่างกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อใช้วิธีนี้ การเลือกระบบวัดแสงแบบเฉพาะจุด หรือการชดเชยแสงให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ วิธีง่ายๆ ก็คือ สังเกตว่าฉากหลังที่เราใช้เป็นโทนมืดหรือสว่าง ถ้าสว่างก็ให้ชดเชยไปทาง + ถ้ามืดก็ให้ชดเชยแสงมาทาง – สำหรับฉากหลังที่มืดมากจนเป็นสีดำก็มักจะได้รับความนิยมเช่นกัน ข้อสำคัญคือ ค่าแสงของฉากหลังต้องแตกต่างจากค่าแสงที่ส่องลงที่ subject ที่เราจะถ่าย พูดง่ายๆ ว่าฉากหลังได้รับแสงน้อยกว่าวัตถุนั่นเอง 

 

ฉากหลังที่เรียบง่ายจากสีที่ตัดกัน 

การให้ฉากหลังเป็นสีคู่ตรงข้าม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้สร้างฉากหลังที่เรียบง่ายได้ดี โดยปกติแล้วการมองเห็นของมนุษย์นั้น จะมีผลกับสีสันอยู่แล้ว ยิ่งสีที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน หรือสีที่ตัดกันนั้น ก็จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างมากขึ้น ข้อควรระวังก็คือ เมื่อเราเลือกใช้สีตัดกันในภาพ ให้แบ่งพื้นที่ของสีทั้งสองสี ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่ควรให้พื้นที่ของสีที่ตัดกันเท่ากันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่เราจะแบ่งสัดส่วนอยู่ที่ 80% – 20% โดยสีที่อยู่ตรงข้ามกันนั้น ก็คือสีที่อยู่คนล่ะวรรณะนั่นเอง คือ สีวรรณะร้อนกับวรรณะเย็น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สีแดงที่อยู่ในวรรณะร้อน สีคู่ตรงข้ามนั้นก็คือสีเขียวที่อยู่ในวรรณะเย็น, สีส้มกับสีน้ำเงิน, สีเหลืองกับสีม่วง

ฉากหลังที่เรียบง่ายไม่ได้มาง่ายๆ เลยใช่ไหมครับ การเลือกฉากหลังให้กับภาพนับว่าเป็นส่วนสำคัญของการถ่ายภาพที่เราต้องใช้ความช่างสังเกตของเรา การทำงานของช่างภาพหลายคนมีไม่น้อยที่จะเริ่มต้นจากการมองหาฉากหลังที่น่าสนใจก่อน แล้วจะรอคอยให้ subject หรือสิ่งที่จะถ่ายเข้ามาในเฟรมภาพ ในฉากหลังที่ต้องการ และในบางครั้งก็จะเปลี่ยนตำแหน่งยืนเพื่อหามุมของสิ่งที่จะถ่ายให้อยู่ด้านหน้าของฉากหลังที่เขาต้องการเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อเราให้ความสำคัญกับฉากหลังแล้ว ภาพที่ได้จะมีความสมบูรณ์ขึ้น ไม่มีสิ่งใดๆ มาทำให้รู้สึกสะดุด หรือรบกวน…