เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 203/2014 August
สำหรับการถ่ายภาพในทุกวันนี้ ที่เทคโนโลยีพาเราไปได้ไกลกล้องถ่ายภาพถูกแบ่งเอาไว้ในหลายระดับ การได้ย้อนกลับสู้เรื่องพื้นฐานบ้าง คงทำให้เราเกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไป และทบทวนในหลายๆ เรื่องที่เราอาจจะลืมไปแล้ว และใน Back to Basics ครั้งนี้ผมจึงขอหยิบเอาเรื่องของ ทางยาวโฟกัส (Focal Length) มาทำความเข้าใจกันเป็นเรื่องแรก
ทางยาวโฟกัส Focal Length นั้นจะเป็นสิ่งที่บอกถึงคุณสมบัติของเลนส์ เราจะเรียกเลนส์แต่ละตัวจากค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ตัวนั้น เช่น เลนส์ 50 มม. ก็หมายถึงเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่ 50 มิลลิเมตร ค่าตรงนี้มาจากไหน มันไม่ใช่ค่าที่วัดจากความยาวของเลนส์แน่ๆ แต่ทางยาวโฟกัสนี้มาจาก ระยะทางจากจุดศูนย์กลางโฟกัสของเลนส์ ถึง focal plane หรือ ระนาบโฟกัสของเซ็นเซอร์รับภาพ เมื่อเลนส์โฟกัสที่ระยะอนันต์ หรือ infinity นั่นเอง
เลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพจะมีทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ ซึ่งจะขอหยิบยกมาแค่ 2 ขนาดคือ Fx ฟลูเฟรม และ Dx เท่านั้น ซึ่งเลนส์ที่ใช้กับกล้องที่มีเซ็นเซอร์สองขนาดนี้ จะมีผลต่างๆ ของภาพที่เกิดจากเลนส์ที่ใกล้เคียงกัน
Focal Length ของเลนส์จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของเลนส์แต่ละชนิดมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร เลนส์มุมกว้าง ทางยาวโฟกัสของเลนส์จะน้อยเช่นเลนส์ 14 mm. 16 mm. 20 mm. 24 mm. และเลนส์เทเลโฟโต้จะมีค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่มากเช่น 80 mm. 105 mm. 135 mm. 200 mm. ส่วนเลนส์ที่มีค่าทางยาวโฟกัสมากกว่าหนึ่ง คือเลนส์ซูมนั่นเอง เช่น 16-35 mm. 24-70 mm. 70-200 mm.
เรื่องของ Focal Length มีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นอยู่ไม่กี่เรื่อง นั่นก็คือ Angle of View หรือองศาการรับภาพ, Perspective ทัศนมิติของภาพ, Distortion การบิดเบือน และ Dept of Field ช่วงความชัด
Angle of View หรือองศาการรับภาพ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันจะให้องศาการรับภาพที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อย จะให้องศาการรับภาพที่กว้าง ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมาก จะให้องศาการรับภาพที่น้อย ทั้งนี้กล้องที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพแบบ Dx format ทางยาวโฟกัสจะต้องคูณไปอีก 1.5 หรือ 1.6 ก็จะทำให้องศารับภาพแตกต่างจากกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพแบบ Fx หรือฟลูเฟรม
Perspective ทัศนมิติของภาพ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ มีผลกระทบต่อทัศนมิติ หรือ perspective ของภาพ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อย ก็จะส่งผลต่อทัศนมิติของภาพสูง ซึ่งส่งผลต่อฉากหลังของภาพที่จะถูกผลักออกไป ดูมีความลึกมากขึ้น ในทางกลับกันเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูง จะส่งผลต่อ perspective ของภาพน้อย ฉากหลังจะถูกดึงเข้ามาให้มีขนาดใหญ่
Distrotion การบิดเบือน ทางยาวโฟกัสของเลนส์ และระยะห่างจากวัตถุที่จะถ่ายถึงเลนส์ ส่งผลต่อการบิดเบือนของสิ่งต่างๆ ในภาพ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อย และเมื่อถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะเกิดอาการบิดเบือนมาก วัตถุที่อยู่ใกล้จะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่าปกติ
Dept of Field ช่วงความชัด ถูกควบคุมด้วยขนาดรูรับแสงและทางยาวโฟกัสของเลนส์ โดยเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่น้อย Depth of Field ก็จะมีมากอย่างที่เรียกว่า “ชัดลึก” ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมาก Depth of Field ก็จะน้อย ที่เราเรียกว่า “ชัดตื้น”
นอกไปจากเลนส์ทางยาวโฟกัสต่างๆ ที่เราคุ้นเคยแล้ว เช่นเลนส์มุมกว้าง เลนส์มาตรฐาน และเลนส์เทเลโฟโต้ ยังมีเลนส์พิเศษเฉพาะ ที่ไว้ใช้กับงานเฉพาะด้านออกไปอีก ที่จะมีค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานเฉพาะด้าน เช่นเลนส์มุมกว้างพิเศษตาปลา หรือเลนส์ฟิชอาย 16 mm. หรือเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ 800 mm. หรือ เลนส์ถ่ายภาพระยะใกล้ macro lens
ในเรื่องของพื้นฐานของการถ่ายภาพนั้น นอกจากเรื่องของเลนส์ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งผมจะนำมาฝากกันอีกในฉบับหน้า โปรดติดตามตอนต่อไปครับ…