เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 200/2014 May

“เมื่อเราไปถึงสถานที่ที่เราจะถ่ายรูปแล้ว ก่อนถ่ายภาพ เราคิดถึงสิ่งใด…”

หลายครั้งที่เราไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน และหลายครั้งที่เราไม่มีเวลาที่จะทำการบ้าน หรือหาข้อมูลล่วงหน้า และอีกหลายๆ ปัจจัยที่เมื่อเรารู้ตัวอีกทีก็มาอยู่ ณ ที่ตรงนั้นพร้อมกับความมึนงงที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ดังนั้นการคิดก่อนที่จะถ่าย หรือการปรับตั้งค่าต่างๆ ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ และในวันนี้เราจะมาดูกันสิว่า ก่อนกดชัตเตอร์นั้นเราควรนึกถึงสิ่งใดบ้าง

Think Before You Shoot

คิดก่อนถ่าย ก่อนที่เราจะเริ่มถ่ายภาพนั้น สิ่งแรกเลยคือ การจินตนาการถึงภาพที่เราต้องการเสียก่อน ว่าเราต้องการให้ภาพที่จะถ่ายออกมาเป็นอย่างไร การนึกภาพไว้ในหัวว่าอยากได้แบบนั้น อยากได้แบบนี้ จะเป็นตัวช่วยกำหนดให้เราสำหรับการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเช่น ทางยาวโฟกัสของเลนส์ ค่ารูรับแสง ค่าชัตเตอร์สปีด หรือแม้แต่ตำแหน่งที่จะถ่ายภาพ ดังนั้นการคิดก่อนที่จะถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่ควรทำทุกครั้ง เราจะนึกถึงภาพที่เราอยากได้ไว้ก่อนนั้น สิ่งสำคัญก็คือการที่เราพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราจะถ่าย และสิ่งที่เราต้องการจะบอกหรือสื่อออกมาเป็นภาพ

Colour Tones or B&W

รอบๆ ตัวเรานั้นมีสีสันประกอบด้วยกันมากมาย การเลือกจับถึงความอิ่มตัวของสีที่สดใส หรือโทนสีที่แตกต่างกัน หรือเลือกที่จะไม่ให้มีสีสันใดๆ เลยอย่างการถ่ายภาพแบบขาวดำ เมื่อเราเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายนั้นไม่ได้มีสีสันที่น่าสนใจ แต่กลับมีแสงเงา หรือเส้นสายที่น่าสนใจ ดังนั้นการคิดถึงสีสันในภาพก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เราควรคิดก่อนถ่ายเช่นกัน เมื่อเราสังเกตถึงสีสันที่อยู่ในภาพ เราจึงเลือกได้ว่าจะใช้สีต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร

 

Light & Contrast

ความเปรียบต่าง หรือ Contrast ในภาพควรจะเป็นอย่างไรส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับสภาพแสงในเวลานั้น ที่เราจะต้องเลือกว่าอยากให้ภาพถ่ายของเรานั้นออกมาในลักษณะใด แสงที่เข้ม แรง แข็ง ส่งผลต่อความเปรียบต่างที่มาก (High contrast) ในทางตรงกันข้ามแสงที่นุ่ม อ่อน กระจายตัว ทำให้เกิด ความเปรียบต่างต่ำ (Low contrast) และเมื่อเราเลือกที่จะให้ภาพมีความเปรียบต่างแบบใดแล้ว มันก็จะส่งผลไปถึงการเลือกใช้ Picture Style ในกล้องด้วยนั่นเอง และนั่นจะทำให้ส่งผลต่ออารมณ์ของภาพไปด้วย

White Balance

ทุกแหล่งกำเนิดแสงจะมีผลต่อเฉดสีในภาพ การตั้งค่า White Balance ที่ถูกต้องจะทำให้ได้สีสันที่ถูกต้องไปด้วยก็จริง แต่ในบางครั้งการที่เราตั้งค่า White Balance ในกล้องให้ต่างไปจากแหล่งกำเนิดแสงจริง ก็ทำให้เราควบคุมเฉดสีในภาพได้เช่นกัน ดังนั้นการเล่นกับค่า White Balance เราสามารถทำได้ด้วยการปรับค่า WB ในกล้องก่อนการถ่ายภาพ

 

Adjust Exposure

ในบางครั้งการปล่อยให้เครื่องวัดแสงในตัวกล้องทำงานอย่างเดียว อาจส่งผลถึงภาพที่ได้มืดหรือสว่างเกินไป การสังเกตถึงความสว่างของวัตถุที่เราจะถ่าย จะช่วยให้เราตั้งค่าการชดเชยแสงเอาไว้ก่อนได้ ด้วยหลักการของการชดเชยแสงที่เมื่อถ่ายวัตถุที่มีความสว่าง หรือ มีโทนสีที่สว่างให้ชดเชยไปทาง + และเมื่อถ่ายวัตถุที่เป็นสีเข้ม หรืออยู่ในโทนมืด ให้ชดเชยแสงไปทาง – ซึ่งเราสามารถตั้งค่า +/- บนกล้องได้ทันที

ทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้เป็นหลักยึดปฏิบัติ เวลาที่ออกไปถ่ายภาพนอกสถานที่ การนึกภาพที่อยากได้ไว้ในหัว ทำให้เราสนุกกับการจินตนาการ ในบางครั้ง เราก็ไม่ได้ภาพอย่างที่คิดนัก แต่ก็ทำให้เราได้ลองฝึกคิด ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ อย่าคิดว่ามันจะทำให้เราได้ภาพช้าลงนะครับ ถ้ามองย้อนกลับไปในสมัยกล้องฟิล์มนั้น ฟิล์ม 1 ม้วนถ่ายภาพได้ประมาณ 36-38 ภาพ การกดชัตเตอร์ 1 ครั้งช่างภาพหลายคนเขาคิดกันก่อนทั้งนั้น และถ้าเราลองฝึกทำอยู่บ่อยๆ แล้วล่ะก็ ทุกอย่างที่ผมกล่าวมานี้มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติทันทีครับ…