เรื่อง+ภาพ : poch
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 246/2018 March
หลังจากที่เสือดำตัวหนึ่งล้มลงกลางป่าใหญ่ เราจึงเห็นได้ว่า พลังของคนที่รักธรรมชาติมีอยู่มากมายเพียงใด ในฐานะของคนชอบถ่ายภาพธรรมชาติ ก็รู้สึกเศร้าใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกันครับ ทำให้คิดขึ้นมาว่า ถ้าใครได้เห็นภาพที่สวยงามของสัตว์ต่างๆ เขาก็จะให้ความสนใจแต่ล่ะชีวิตในมุมมองที่งดงามมากยิ่งขึ้นได้นะครับ
เพื่อนที่รักการถ่ายภาพหลายคนอาจจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพสัตว์ป่ามาบ้างไม่มากก็น้อย และหลายคนอยากถ่ายภาพสัตว์ป่าได้สวยงามเหมือนภาพที่เราเห็นในสื่อต่างๆ ใช่ไหมครับ ดังนั้นแล้วการเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับช่างภาพที่อยากจะเริ่มต้นเดินเข้าป่า ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจมีอยู่ไม่กี่เรื่องนักหรอกครับ
การตั้งค่ากล้อง ในเรื่องของการถ่ายภาพ การตั้งค่ากล้อง ถือเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจ ในการถ่ายภาพสัตว์นั้น จะเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหว และความรวดเร็วในการถ่ายภาพดังนั้นการตั้งค่ากล้องเอาไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำล่วงหน้า
ความไวชัตเตอร์ เพราะสัตว์ต่างๆ ไม่ได้อยู่นิ่งให้เราถ่ายภาพเหมือนนางแบบในสตูดิโอ ที่เราจะสั่งท่าทางต่างๆ ได้ตามใจเรา การกดชัตเตอร์ที่รวดเร็ว และการใช้ความไวชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของสัตว์เหล่านั้นได้เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึง โดยส่วนใหญ่เราจะสังเกตจากการเคลื่อนไหวของสัตว์แต่ละชนิด ถ้าเราจะหยุดการเคลื่อนไหวของเก้งที่กำลังวิ่งจะใช้ค่าความไวชัตเตอร์ที่สูงกว่า กวางที่กำลังเดินเล็มหญ้า
อีกเรื่องหนึ่งที่จะลืมกันก็คือ เวลาที่เราถ่ายภาพสัตว์ เรามักจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ซึ่งโอกาสที่ภาพจะสั่นไหวมีสูงมาก วิธีที่ช่างภาพหลายคนใช้คือ ตั้งความไวชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ โดยให้ความไวชัตเตอร์อยู่ที่ 1/ทางยาวโฟกัสเลนส์ เช่น ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 500 มม. ความไวชัตเตอร์ที่จะได้ภาพนิ่งจะอยู่ที่ 1/500 sec. (เลนส์หลายตัวมีระบบกันสั่นที่ทำงานยอดเยี่ยม ก็จะช่วยให้เราใช้ความไวชัตเตอร์ได้ต่ำกว่านี้ ตามความนิ่งของมือเรา) นั่นเป็นวิธีที่จะทำให้ภาพของเราไม่สั่นไหว
ระบบโฟกัส ระบบโฟกัสนั้นจะเลือกใช้ตามลักษณะของภาพที่เราต้องการ ถ้าคุณต้องการภาพแอคชั่นสวยๆ ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง (AF-c) จะทำงานได้ดี กลับกันถ้าสัตว์ที่เราจะถ่ายกำลังยืนอยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวตัวเพียงเล็กน้อย ระบบโฟกัสแบบปกติก็ทำงานได้แม่นยำอยู่แล้ว (ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง จะมีการเลือกใช้พื้นที่โฟกัสที่แตกต่างกัน ควรศึกษาในคู่มือกล้องที่เราใช้ว่าแต่ละแบบทำงานอย่างไร)
การเข้าใจพฤติกรรมสัตว์ต่างๆ นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพ การทำความเข้าใจว่าสัตว์ต่างๆ จะมีพฤติกรรมที่บอกอะไรกับเราได้ และเราสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากด้วยการสังเกต หรือการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่เราจะถ่าย มันจะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นมากโดยเรื่องที่ควรศึกษาก็คือ แหล่งหากิน พฤติกรรมท่าทางการระวังภัย การรักษาระยะห่าง
แหล่งน้ำ โดยส่วนมากสัตว์มักจะต้องกินน้ำ ยิ่งฤดูร้อน อากาศแห้งแล้ง แหล่งน้ำมีน้อย สัตว์มักจะมุ่งมาที่แหล่งน้ำต่างๆ จึงมีโอกาสพบเห็นสัตว์ต่างๆ ง่ายขึ้นตามแหล่งน้ำที่ไม่แห้งขอด
โป่ง สัตว์กินพืช จะต้องการแร่ธาตุที่ขาดหาย จึงต้องกินดินโป่งเพื่อเสริมแร่ธาตุ เมื่อสัตว์กินพืชมารวมกันมากๆ ที่โป่ง สัตว์ผู้ล่าก็จะติดตามมาด้วยนั่นเอง
ฤดูกาล ในช่วงฤดูร้อนนกมักจะเลี้ยงลูกในรัง เพราะต้องการให้ลูกเกิดและเติบโตมาทันในช่วงฤดูฝนที่อาหารสมบูรณ์ ดังนั้นในฤดูร้อนนกหลายชนิดจะพบได้ง่ายตามรังหรือโพรง เพราะพ่อแม่นกจะขยันป้อนเหยื่อให้กับลูกนกในรังนั่นเอง
ท่าทาง, การระวังภัย เมื่อเก้งรู้สึกถึงอันตรายมักจะเชิดหน้าขึ้น โหย่งตัวเตรียมออกวิ่ง ถ้าช่างภาพยังกดชัตเตอร์หรือทำให้เกิดเสียงดัง โอกาสที่เก้งจะหนีไปก็มีมาก
นกกระแตแต้แว้ด เป็นนกที่ช่วยระวังภัยกับสัตว์อื่นๆ ถ้าได้ยินนกกระแตแต้แว้ดส่งเสียงร้องเสียงดัง ก็จะรู้ตัวว่ามีผู้บุกรุกบริเวณนั้น สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าสัตว์ป่ามีการพึ่งพาอาศัยกัน
โดยส่วนใหญ่แล้วสัตว์ขนาดใหญ่จะอาศัยการเคลื่อนไหวของสัตว์ขนาดเล็กบอกว่ากำลังมีอันตรายเข้าใกล้ เช่น นก หรือกระรอกส่งเสียงร้อง กระทิงจะไม่ลงกินน้ำถ้ากวางไม่ลงไปกินน้ำนั้นก่อน ฯลฯ ดังนั้นการรอคอยจังหวะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จะได้ภาพที่ดีกว่ารีบร้อนถ่ายภาพทันทีที่เราพบเจอสัตว์ต่างๆ วิธีที่ใช้กันคือการหยุดนิ่งเมื่อสัตว์ต่างๆมีท่าทีแปลกไป เช่นหยุดกินอาการ เชิดหน้า ส่งเสียงร้อง
ระยะห่างระหว่างช่างภาพกับสัตว์ สัตว์แต่ล่ะชนิดจะมีระยะห่างระหว่างศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย การถ่ายภาพสัตว์ป่า มือใหม่มักจะพยายามรีบร้อนเขาไปใกล้สัตว์ทันทีที่พบ เพื่อจะได้ถ่ายภาพใกล้ แต่กับสัตว์บางชนิด การเข้าใกล้มากเกินไปจะถือเป็นการคุกคาม ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ดังนั้นต้องคอยสังเกตท่าทางต่างๆ ของสัตว์ว่ามีอาการตื่นตกใจหรือไม่
การเข้าใกล้สัตว์เพื่อถ่ายภาพนั้น นอกจากการหลบซ่อนตัวหรือพรางตัวแล้วอย่างการนั่งอยู่ในบลายด์เพื่อรอให้สัตว์มาในระยะที่สามารถถ่ายภาพได้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ต้องระวังคือทิศทางลม สัตว์กินพืชมักจะเชื่อกลิ่นมากกว่าสายตา ดังนั้น การเข้าหาจากใต้ลมจะดีกว่า การทดสอบทิศทางลมง่ายๆ คือการจุดไฟเช็ค หรือสังเกตยอดใบไม้
สถานที่ฝึกสำหรับมือใหม่ ในเบื้องต้นเราสามารถฝึกถ่ายภาพสัตว์ได้ง่ายๆ จากสวนสัตว์เปิด เป็นการฝึกการตั้งค่ากล้อง การจับจังหวะในการกดชัตเตอร์การเลือกฉากหลัง จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ หรือตามท้องทุ่งชานเมือง จะมีนกหรือสัตว์ขนาดเล็กให้ฝึกถ่ายภาพได้และสุดท้ายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นสนามออกรอบที่ดีสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ป่า ก่อนเข้าไปควรศึกษาข้อมูลและข้อปฏิบัติตัวต่างๆ ให้ดีและเคร่งครัด
ในการถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น สิ่งสำคัญคือการทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจในสัตว์ที่เราจะถ่ายภาพนั้นๆ คงไม่มีประโยชน์อันใดหากภาพสัตว์ป่าที่เราถ่ายได้จะเป็นภาพของความตื่นกลัว หรือตื่นตระหนก ในแววตา ภาพที่ดีนั้นเบื้องหลังของภาพก็ควรจะดีด้วยจริงไหมครับ
บทความนี้มีความหวังเล็กๆ ว่าจะเปลี่ยนมุมมองของคนไปเที่ยวป่าให้สนใจการถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ถ้าเราเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้น งดงามเพียงใดแล้ว เราจะอยากให้พวกเขาอยู่ร่วมโลกกับเราไปนานๆ ครับ…