เรื่อง+ภาพ : ISO 9000……

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 221/2016 February

นกนางนวล… ที่บางปู… เป็นอีกสนามหนึ่งที่บรรดานักถ่ายภาพทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ใช้เป็นสนามสำหรับการฝึกซ้อมถ่ายภาพนกไปในตัว แน่นอนครับสำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ที่อยากจะถ่ายภาพนก เมื่อต้องการมาฝึกการถ่ายภาพนกที่นี่ ก็มักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายภาพนก ตั้งแต่นกมีมากเหลือเกิน ไม่รู้จะถ่ายตัวไหนดี!!!….ถ่ายนกไม่ทันบินเร็วมาก!!!…โฟกัสไม่ชัด โฟกัสไม่ทัน!!!…ภาพมืดไป สว่างไป!!!…ถ่ายนกมาได้ แต่องค์ประกอบไม่ถูกใจ….ปัญหาเหล่านี้แก้ได้…มีคำตอบครับ 

บันได 5 ขั้น สำหรับถ่ายภาพนกนางนวล ที่บางปู ช่วยท่านได้ครับ ชุดบันได 5 ขั้น สำหรับถ่ายภาพนกนางนวล ที่บางปู ได้ประมวลเอาเคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพนกนางนวล ที่บางปู มาให้ท่านได้ลองฝึกถ่ายภาพนกนางนวล แล้วท่านจะพบว่า ไม่ยากครับที่จะลองฝึกดู

บันไดขั้นที่ 1 การเตรียมกล้องและอุปกรณ์

เรื่องของกล้องถ่ายภาพที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกนางนวล ควรเป็นกล้อง D-SLR หรือ กล้อง Mirror-less ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ รวมทั้งเลนส์ที่จะใช้สำหรับการถ่ายภาพนกนางนวล ในเรื่องของขนาดเลนส์ที่เหมาะสำหรับใช้ในการถ่ายภาพนกนางนวล ที่บางปู ขนาดเลนส์ที่ใช้สะดวก ก็คือ เลนส์ขนาดช่วง 70 -200 มม. ถ้ามีช่วงยาวกว่านั้น ก็จะได้ขนาดนกที่ใหญ่ขึ้นแต่สำหรับเพื่อนๆ ที่มีเลนส์ไม่ถึง 200 มม. ขนาดเลนส์ Kit 18-55 มม. ที่ติดมากับกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์ APS-C หรือ เซ็นเซอร์ขนาด 4/3 ก็สามารถใช้ในการฝึกถ่ายภาพ นกนางนวลที่บางปู ได้ เนื่องจากนกที่นี่ มักจะบินเข้ามาในระยะใกล้ๆ อยู่เสมอๆ

 

บันไดขั้นที่ 2 การปรับตั้งกล้องก่อนถ่ายภาพนก

การปรับตั้งกล้องถ่ายภาพก่อนการถ่ายภาพ ถือเป็นหัวใจหลักในการถ่ายภาพ เพื่อให้มีโอกาสถ่ายภาพได้คมชัด ระบบ White Balance ตั้งแบบ Auto WB ใช้งานได้เลย ถ้าสภาพแสงดี ตั้งความไวแสงเป็น ISO ระหว่าง 400-800 ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดี Noise ต่ำ แต่ถ้าจำเป็นใช้เป็น ISO 1600 ก็ถือว่าใช้งานได้ดีที่เร่งความไวแสงให้สูงขึ้น เพื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ได้ ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ ควรอยู่ระหว่าง 1/250-1/500 วินาที จะมีโอกาสจับภาพให้นิ่งได้ดี 

ระบบโฟกัสภาพของกล้อง ตั้งระบบโฟกัสภาพแบบโฟกัสต่อเนื่อง (AF-C Continuous AF หรือ AI-Servo ในกล้อง Canon) ปรับให้ใช้จุดโฟกัสทำงานแบบอัตโนมัติ แต่ถ้าท่านเก่งในเรื่องโฟกัส ก็สามารถเลือกเป็นแบบ จุดโฟกัสติดตามวัตถุ (Tracking) ก็ได้ การถ่ายภาพให้ตั้งการถ่ายภาพเป็นแบบถ่ายภาพต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ท่านสามารถกดภาพรัวติดตามการบินของนกเพื่อเลือกจังหวะการบินได้ สำหรับระบบถ่ายภาพ ถ้าท่านเก่งเรื่องวัดแสงเอง ก็ใช้เป็นระบบ Manual แต่ถ้าท่านไม่แน่ใจ ก็สามารถใช้ระบบ S หรือ Tv ด้วยการตั้งความเร็วชัตเตอร์ตามต้องการ ที่ 1/250-1/500 กล้องจะเลือกค่าขนาดรูรับแสงให้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าท่านใช้ระบบนี้ การถ่ายภาพควรระวังเรื่องฉากหลัง ถ้าฉากหลังสว่างควรปรับชดเชยแสงที่ประมาณ +1 ถึง +2 แล้วแต่สภาพความสว่างของฉากหลัง แต่ถ้าฉากหลังมืดก็ปรับค่าชดเชยแสง ประมาณ -1 ซึ่งถ้าปรับกล้องเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะถ่ายภาพ

 

บันไดขั้นที่ 3 ทำอย่างไรให้นกเข้ามาใกล้ๆ

ในการถ่ายภาพนกนางนวลที่ บางปู เวลาที่เหมาะสมก็คือ  ช่วงเวลาประมาณ บ่าย 4 โมงไปแล้ว ซึ่งจะมีนกมามากตั้งแต่ช่วงเวลานี้ ปัญหาก็คือ นกมีบินอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่รู้จะเลือกถ่ายอย่างไร บางทีก็มาเป็นกลุ่มมากๆ ถ่ายมาติดนกเต็มไปหมดปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ คนที่มาถ่ายภาพนกที่บางปู  ล้วนแต่เจอปัญหาเดียวกัน 

ทางแก้ที่จะทำให้นกเข้ามาอยู่ในระยะใกล้สำหรับการถ่ายภาพ แม้มีช่วงเลนส์สั้นๆ ก็ยังสามารถ่ายภาพได้เลย แก้ปัญหาง่ายๆ อาหาร การทำให้นกบินมาใกล้ๆ ใช้อาหารล่อครับ กากหมูทอด แค็บหมู ที่บางปูมีขาย ซื้อมา หาคนช่วยไปด้วย ใช้อาหารล่อ นกนางนวลที่นี่ฉลาดมาก เดี๋ยวก็มา การฝึกเริ่มต้นสามารถเริ่มได้ที่ตรงนี้ครับ ตั้งกล้องรอ พรีโฟกัสไว้ได้เลย ที่คนถืออาหารล่อก็ได้ เมื่อนกมาก็เลือกกดชัตเตอร์ได้ทันที   

บันไดขั้นที่ 4 ควบคุมระบบโฟกัสให้ได้ และถ่ายภาพต่อเนื่อง

สำหรับการถ่ายภาพนกนางนวล สำหรับมือใหม่ฝึกหัดถ่ายภาพ สิ่งแรกที่ควรฝึกก็คือ การฝึกการถ่ายภาพนกให้ชัดให้ได้เป็นเบื้องต้น จะลองฝึกตาม บันไดขั้นที่ 3 ก็จะทำให้รู้สึกได้ว่าไม่ยากเลย เพิ่มความคุ้นเคยในการถ่ายภาพนกให้มากขึ้น  ด้วยการเริ่มแพนกล้องตามการบินของนก พยายามให้ตัวนกอยู่ในกลุ่มของจุดโฟกัส แรกๆ จะรู้สึกว่าไม่ทันใจเอาเสียเลย นกบินเร็วกว่าระบบโฟกัสของกล้อง ใจเย็นๆ เล็งนกตัวที่เป็นเป้าหมาย อย่ามองนกเป็นกลุ่ม มองผ่านช่องมองภาพเล็งนกเป้าหมาย ให้เข้าจุดโฟกัส แพนตาม ถ้าโฟกัสเข้า กดชัตเตอร์ ถ่ายต่อเนื่องทันที เปิดภาพดู แล้วฝึกใหม่ ยิ่งทำ จะยิ่งรู้สึกคุ้นเคยยิ่งขึ้นครับ  ที่สำคัญก็คือ ถ้าดูภาพแล้วยังไม่ได้ อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ ฝึกถ่ายต่อไป ถ่ายเยอะค่อยมาพิจารณาภาพในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง

บันไดขั้นที่ 5 พิจารณาภาพ ปรับภาพ ตัดส่วนภาพใหม่

ภาพถ่ายของนกนางนวล ที่บางปู ปรากฏให้ชมตามหน้า  Social ก็มีมาก นักถ่ายภาพหลายท่านที่ไม่เคยถ่ายภาพ ก็จะรับรู้ได้ถึงความสวยงาม และลีลาการบินของนก ความสำเร็จของการถ่ายภาพ หลายภาพสำเร็จได้ในการกดชัตเตอร์ แต่ก็มีหลายภาพที่ผ่านการปรุงแต่งให้สมบูรณ์ การถ่ายภาพให้สมบูรณ์ในภาพเดียวกันถือได้ว่าเป็นเรื่องสุดยอดของการถ่ายภาพ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพถ่ายของเราจะขาดความสวยงาม

ภาพที่ผมถ่ายได้นับร้อยๆ ภาพ สิ่งแรกก็คือ การนำภาพกลับมาพิจารณา เลือกภาพ การพิจารณาเลือกภาพ ใช้หลักเกณฑ์ก็คือ เลือกภาพถ่ายที่มีความคมชัดก่อนเป็นเบื้องต้น ถ้าคุณเป็นมือใหม่ อย่าตกใจกับภาพถ่ายที่ไม่ชัด จากที่ถ่ายมาได้หลายร้อยภาพ เหลือซักห้าหกสิบภาพก็ถือว่า OK แล้ว ฝึกเรื่อยๆ จำนวนภาพความคมชัดจะมากขึ้นเอง 

จากภาพถ่ายที่มีความคมชัด คุณจะเจอะเจอปัญหาต่อมา  นกเยอะเต็มภาพไปหมด ถ้าเลนส์คุณยาวไม่พอ ไม่ใช่เรื่องใหญ่  พิจารณาภาพต่อไป การถ่ายภาพต่อเนื่อง จะทำให้คุณได้ภาพนกในอิริยาบถต่างๆ ตั้งแต่การขยับปีก การกางปีก บางทีคุณอาจจะได้นกเกือบจะหงายท้อง ได้ฮา…ก็มี เลือกเก็บไว้ แต่ถ้าฝึกดี คุณก็จะได้ภาพที่ถูกใจได้ทันทีเหมือนกัน

ขั้นต่อมา นำภาพที่คัดเลือกแล้ว มาทำการปรับความสว่าง  มืดให้พอดี  ด้วยการปรับที่ Level หรือ Curve ก็ได้ จากนั้นปรับความคมชัดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

ภาพนกที่ปรับตั้ง และคัดเลือกมาแล้ว นำมาพิจารณาต่อ  ในเรื่องขององค์ประกอบ ลองดูซิครับ การตัดส่วนภาพ จะทำให้คุณสามารถจัดองค์ประกอบภาพใหม่ได้ จากภาพที่มีนกรุงรังเต็มไปหมด จะทำให้องค์ประกอบภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เน้นจุดสนใจได้ดีขึ้น 

พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย ตัดส่วนที่รกๆ เกินๆ ออกบ้าง เน้นสิ่งที่ต้องการเป็นหลัก เช่น ลบส่วนเกินในภาพออก นกบางส่วนเยอะไป ลบนกออกบ้าง 

คุณก็จะได้ภาพที่ถูกใจในขั้นสุดท้าย เพื่อการใช้งานได้แล้วครับ…

คุณทำได้ครับ…ถ่ายนกที่บางปู เป็นสนามหนึ่งที่น่าลองฝึกหัด คุณจะได้ทั้งความสุข สนุกสนานกับการถ่ายภาพ และ ได้ภาพงามๆ ไว้ในอัลบั้ม แถม บางทียังมีนกชวนขันให้ฮา….ได้อีกด้วยครับ…..