เรื่อง+ภาพ : นพดล…
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 259/2019 April
อยู่เมืองไทย…สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเที่ยวไปยังวัดสำคัญๆ ของเมืองไทย…สิ่งที่ต้องเข้าไปกราบไหว้บูชา ก็ไม่พ้นพระพุทธรูปสำคัญๆ จะทั้งบนบานรวมไปถึงขอหวยด้วยก็ตามแต่ศรัทธาของแต่ละท่านครับ
แต่… สำหรับคนชอบถ่ายภาพ ชอบภาพถ่าย ก็คงหนีไม่พ้นกับการถ่ายภาพพระพุทธรูปสำคัญๆ ยิ่งวันนี้ โทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพได้อย่างง่ายดาย ทำให้คนใช้กล้องถ่ายภาพต้องมองค้อนอย่างไม่ถูกใจ ว่าทำไมเราถ่ายด้วยกล้อง และเลนส์ชั้นแพง ทำไมถึงสู้ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือไม่ได้วะ…หรือลืมอธิษฐาน!!!!
อยากจะขอบอกว่า…สิ่งที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นรองกล้องถ่ายภาพก็ยังมีอยู่อีกเยอะเลยครับ ผมยอมรับว่า วันนี้เทคโนโลยีภาพของโทรศัพท์มือถือมีคุณภาพสูงมากจริงๆ แต่ภาพที่ได้จากโทรศัพท์มือถือ คุณภาพส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของ Software ซึ่งถ้านำภาพมาขยายใหญ่ จะพบว่า คุณภาพของภาพถ่ายมีขีดจำกัดในเรื่องของขนาดภาพขยายใหญ่ ซึ่งต่างจากกล้องถ่ายภาพและเลนส์อย่าง กล้อง D-SLR หรือ กล้อง Mirrorless ที่คุณภาพของภาพถ่าย มาจากตัวกล้องและเลนส์เป็นปัจจัยสำคัญ
ปัญหาเรื่องนี้แก้ได้ครับ และ ขอรับรองว่า คุณจะได้ภาพถ่ายของ พระพุทธรูปสำคัญๆ ที่มีคุณภาพสูงอย่างที่กล้องจากโทรศัพท์มือถือในวันนี้ ยังทำไม่ได้ดีเท่าเลยครับ….
บันได 5 ขั้น…ถ่ายพระพุทธรูปสำคัญ… จะเป็นตัวช่วยให้คุณถ่ายภาพคุณภาพสูงจากกล้องที่คุณมีได้ครับ
บันไดขั้นที่ 1 ใช้ขาตั้งกล้องถ่ายภาพ
การถ่ายภาพ พระพุทธรูปสำคัญ เป็นการถ่ายภาพในพระอุโบสถ สภาพแสงค่อนข้างต่ำ ความไวชัตเตอร์ที่ใช้งานก็จะต่ำตามไปด้วย การถ่ายภาพด้วยการถือถ่าย ภาพมักจะสั่นไหว ขาตั้งกล้องจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพได้ภาพที่คมชัด ไม่สั่นไหว อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพได้ด้วย แต่ถ้าไม่มีขาตั้งกล้องละ ทำยังไง เรื่องนี้ก็ต้องใช้การแก้ไขตามสถานการณ์ หาสิ่งอื่นๆ ที่จะตั้งให้กล้องนิ่งในขณะกดชัตเตอร์ให้ได้ ก็พอจะกร้อมแกร้มถ่ายภาพได้ครับ
บันไดขั้นที่ 2 ตั้งความไวแสงในการถ่ายภาพ ที่ ISO 100-200
ตั้งความไวแสงในการถ่ายภาพให้ต่ำ ขนาด ISO 100-200 ดีที่สุด แต่ก็ไม่ควรเกิน ISO 400 จะให้ภาพที่มีความคมชัด และรายละเอียดในภาพดีที่สุด เพราะการตั้งความไวแสงที่สูง จะมีสัญญาณรบกวน (Noise) เกิดตามมาด้วย และสิ่งสำคัญก็คือ ความคมชัดและการเก็บรายละเอียดจะลดลงด้วย
บันไดขั้นที่ 3 ถ่ายภาพให้มีความชัดลึก
ความชัดลึก เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการถ่ายภาพพระพุทธรูปสำคัญ ที่จะทำให้เราเห็นถึงรายละเอียด และมิติที่ดี คุณทำได้ครับ…ขนาดรูรับแสงสำหรับการควบคุมความชัดลึกที่ดี อย่างน้อยก็ต้องขนาด F8-F16 คุณจะได้ภาพที่มีความชัดลึก มีมิติภาพที่ดี
บันไดขั้นที่ 4 ตั้ง WB เป็นแบบ Auto หรือ อุณหภูมิสี และ RAW file
เรื่องต่อมาที่คุณควรรู้ ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับคุณภาพสีของภาพถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณถ่ายภาพพระพุทธรูปที่เป็นองค์สีทอง คุณคงต้องการภาพพระพุทธรูปที่เป็นสีทองอร่ามตา มากกว่าพระพุธรูปที่ดูเป็นทองแดง หรือ ทองเหลือง ใช่ไหมครับ ขอแนะนำว่า ถ้าคุณไม่แน่ใจ ตั้งเป็นแบบ Auto WB ก็ได้ หรือถ้าคุณเข้าใจเรื่อง WB ดีพอ จะตั้งเป็นระบบ อุณหภูมิสี หรือ Kelvin ซึ่งทำให้คุณสามารถปรับค่า Kelvin ให้เหมาะสมได้ง่าย (ควรเรียนรู้เรื่อง Color Temperature) และเพื่อกันเหนียวไว้ด้วย ก็ตั้งการถ่ายภาพเป็น RAW file หรือ RAW + JPEG ในการถ่ายภาพ เนื่องจาก RAW file คุณสามารถที่ปรับตั้ง WB ได้อีกในภายหลัง คุณก็จะสามารถควบคุมสีในภาพถ่ายได้ตามต้องการเลยครับ
บันไดขั้นที่ 5 วัดแสงให้แม่นยำ
บันไดขั้นสุดท้าย ก็คือ การควบคุมการวัดแสงให้แม่นยำ ซึ่งผมก็ยังย้ำอยู่เสมอว่า สิ่งที่นักถ่ายภาพต้องเรียนรู้ และหาความชำนาญในการถ่ายภาพ ก็คือ เรื่องการวัดแสงให้แม่นยำ ซึ่งคุณจะได้ค่าแสงที่ดีที่สุดในภาพถ่าย ซึ่งจะง่ายต่อการนำภาพไปปรับแต่งได้อีกในภายหลัง ที่กล่าวนี้ หมายความว่า คุณถ่ายภาพในระบบปรับตั้งเอง หรือ Manual แต่ถ้าคุณถ่ายภาพในระบบถ่ายภาพอัตโนมัตินั่นหมายความว่ากล้องทำหน้าที่ในการวัดแสงให้ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ การชดเชยแสงที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ค่าแสงที่ดีที่สุด ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการวัดแสงเองเช่นกัน สิ่งที่คุณไม่ควรจะลืมก็คือ ถ้าคุณใช้ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ คุณต้องระวังในเรื่องความชัดลึกหรือ ค่ารูรับแสงนั่นเอง… ผมแนะนำว่า ควรใช้ระบบถ่ายภาพแบบ A หรือ Av ซึ่งหมายถึง ระบบ Aperture Priority AE ซึ่งคุณตั้งรูรับแสงได้ตามต้องการ กล้องจะวัดแสงและ จัดค่าความไวชัตเตอร์ให้โดยอัตโนมัติ
เพียงเท่านี้เอง…คุณก็สามารถถ่ายภาพพระพุทธรูปสำคัญๆ ที่คุณไปท่องเที่ยวนำภาพกลับบ้านได้อย่างนักถ่ายภาพมืออาชีพเลยทีเดียวครับ….