เรื่อง+ภาพ : pochfoto

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 242/2017 November

ผมได้รับโอกาสจากอาจารย์นพดล บก.นิตยสารคาเมราร์ต ให้เข้าร่วมบันทึกภาพงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงฯ จึงคิดว่าเอาประสบการณ์ที่พบเจอโดยเฉพาะจากมุมมองของผมที่หลายคนอยากจะรู้ เรียกว่าเป็นเบื้องหลังการทำงานที่กว่าจะเป็นภาพที่สมาชิกทุกท่านได้ดู ถือว่าเป็นการอ่านบันทึกสั้นๆ ของช่างภาพกับการทำงานครั้งหนึ่งในชีวิตก็แล้วกันนะครับ

มุมภาพกว้างพิเศษแบบพาโนรามาจะช่วยเล่าเรื่องราวในภาพได้ดีขึ้น แต่ต้องอาศัยความเร็วในการบันทึกภาพมากกว่าปกติ

มุมภาพที่เล็งไว้ในวันซ้อม

เมื่อถึงวันจริงก็หาจังหวะถ่ายภาพในมุมที่เราเล็งไว้

อย่าลืมถ่ายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอน

อีกมุมหนึ่งที่วางตำแหน่งของพระมหาพิชัยราชรถไม่ให้ซ้อนกันกับประตู และพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ฯ

26 ตุลาคม 2560

02:30 น. ที่จุดคัดกรองที่ 1 แยกสะพานมอญ

ผมเดินผ่านผู้คนมากมายที่มารอเข้าร่วมงานพระราชพิธีในครั้งนี้ ซึ่งได้ข่าวว่ามานั่งรอกันตั้งแต่คืนวาน บางคนมาตั้งแต่วันก่อน เพื่อรอเวลาตี 5 ที่ประตูจะเปิดให้ประชาชนเข้าพื้นที่ได้ สำหรับสื่อมวลชนแล้วนั้นสามารถเข้าประจำจุดได้ก่อนแต่ก็ควรมาก่อนเวลา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเบียดเสียดกับประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่จะเริ่มพิธีที่ใกล้เข้ามาทุกนาที จุดคัดกรองที่สื่อมวลชนจะสามารถเข้ามาก่อนได้นั้นมีแค่เพียง 3 จุดจาก 9 จุดคัดกรองทั้งหมด คือจุดที่ 1 แยกสะพานมอญ จุดที่ 4 พระแม่ธรณีบีบมวยผม และจุดที่ 9 ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ทั้ง 3 จุดนี้จะเป็นเหมือนทางเข้าออกหลักของสื่อมวลชนทุกคนที่จะเข้ามาในพื้นที่จัดงาน

04:30-05:00 น. อัฒจันทร์ 6 หน้าวังสราญรมย์ (ทำเนียบองคมนตรี)

ที่พวกเราสื่อมวลชนทั้งหลายต้องเข้ามาที่จุดก่อนเวลานั้นแน่นอนล่ะเหตุผลแรกคือการตั้งกล้องเตรียมมุมที่จะบันทึกภาพ และอีกเหตุผลสำคัญที่ช่างภาพต้องทำก็คือ การลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่จากกรมประชาสัมพันธ์ และการตรวจกล้องจากตำรวจสันติบาล ซึ่งการลงทะเบียนนั้นโดยปกติแล้วเราจะแจ้งชื่อ และจุดถ่ายภาพมาตั้งแต่แรกเริ่มที่เริ่มทำบัตรพิเศษสำหรับใช้ในวันงานแล้ว ดังนั้นเมื่อเรามายังจุดที่เราแจ้งไว้ก็จะมีชื่อของเราให้เซ็นชื่อลงไปได้ ตรงนี้ถ้าใครเข้ามามั่วนิ่มก็จะถูกเจ้าหน้าที่เชิญออกไป นั่นหมายความว่า ช่างภาพจะต้องอยู่ประจำอัฒจันทร์ที่มีชื่อของตัวท่านเองนะครับ

ส่วนการตรวจกล้องของตำรวจสันติบาลนั้นก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแจ้งจำนวนกล้องที่ใช้ และอาจจะมีการกดชัตเตอร์กล้องให้เจ้าหน้าที่ดู จากนั้นก็จะได้รับ Tag สำหรับผูกติดกับกล้องเป็นการแสดงว่ากล้องของเราผ่านการตรวจแล้วนั่นเอง นอกจากตรวจกล้องแล้ว เจ้าหน้าที่สันติบาลก็จะตรวจเช็คการแต่งกายของเราว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น ผมยาว หนวดเคราไม่โกน สีสูท รองเท้า ฯลฯ เหล่านี้มักจะไม่ผ่านการตรวจก็อาจถูกเชิญให้กลับบ้านได้เช่นกัน

05:00-08:00 น. อัฒจันทร์ 6 หน้าวังสราญรมย์ (ทำเนียบองคมนตรี)

ช่วงเวลาแห่งการรอคอย หลายคนเริ่มนั่งพัก บางคนก็ถือโอกาสไปเข้าห้องน้ำ บางคนเช็คมุมภาพ ช่วงเลนส์ กินข้าว หรือเก็บภาพบรรยากาศประชาชนที่เริ่มเข้ามาจนเต็มพื้นที่

ในช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่สันติบาลก็จะมาแนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ ในการถ่ายภาพงานพิธี เช่น ให้โค้งคำนับ หรือผู้หญิงให้ถอนสายบัวก่อนและหลังเวลาจะถ่ายภาพพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ และเมื่อเสด็จผ่านก็ให้ถวายความเคารพเช่นกัน มีคำพูดที่เจ้าหน้าที่สันติบาลบอกกับผมว่า “ผมมีหน้าที่อนุญาตพวกท่านให้พวกท่านถ่ายภาพได้ในจุดอัฒจันทร์นี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พวกผมมีหน้าที่ตรวจกล้องและแนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ แต่เมื่อเริ่มพระราชพิธีแล้วผมเองก็ไม่สามารถจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปได้อย่างพวกท่าน มีหลายคนอยากมาอยู่ที่จุดนี้ ได้มีโอกาสบันทึกภาพอย่างพวกท่านมากมายนัก พวกท่านก็จงใช้สิทธิ์ที่พวกท่านได้รับให้ถูกต้อง และมันจะทำให้พวกท่านเห็นถึงคุณค่าของตัวท่านเอง” นับว่าเป็นคำพูดที่ทำให้ผมรู้สึกถึงความโชคดีในโอกาสของเราที่ได้ทำหน้าที่ในครั้งนี้เป็นอันมาก

 

เสา และกิ่งไม้ เป็นอุปสรรคที่ถ้าไม่ระวังไว้แต่แรกจะเข้ามาในเฟรมภาพได้เสมอ

ถ้าเลี่ยงไม่ได้การนำมาใช้เป็นกรอบภาพก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

กว่าจะมาเป็นภาพสวยๆ ที่เราเห้นล้วนผ่านการเลือกหามุมที่หลีกเลี่ยงสิ่งแปลกปลอมทั้งนั้น

ทหารกองเกียรติยศ กองทัพเรือ

09:30 น. อัฒจันทร์ 6 หน้าวังสราญรมย์ (ทำเนียบองคมนตรี)

พิธีเริ่มขึ้นแล้วเสียงปืนใหญ่จากทางสนามหลวงเสียงเพลงแว่วดัง ช่างภาพเตรียมพร้อมอุปกรณ์ในมือเรื่องของอุปกรณ์ถ่ายภาพในครั้งนี้ผมเตรียมกล้องสองบอดี้ตัวแรกติดเลนส์ช่วง 24-120 mm. สำหรับการเก็บภาพมุมกว้างและภาพระยะกลาง ส่วนบอดี้ตัวที่สองติดเลนส์ 70-300 mm. เพื่อภาพระยะไกลที่จะต้องเก็บในมุมเจาะ (โดยเฉพาะการถ่ายภาพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์)

สิ่งที่ต้องบันทึกภาพในงานพระราชพิธีในครั้งนี้ คือ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่งมีอยู่ 6 ริ้วขบวน โดยริ้วขบวนที่จะผ่านบริเวณอัฒจันทร์ 6 ที่ผมอยู่นั้นจะเป็นริ้วขบวนที่ 2 โดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 จะเป็นริ้วขบวนที่เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชยยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน

ในช่วงเวลาหลังจากตรวจกล้องเสร็จจนถึงเวลาที่พระราชพิธีจะเริ่มขึ้นนั้น เป็นเวลาของการวางแผนบันทึกภาพ ผมมองหาฉากหลังที่สวยงามจากจุดที่ยืนอยู่ ซึ่งเป็นพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์ กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์

เมื่อกำหนดฉากหลังที่ต้องการได้แล้ว ต่อไปก็คือการวางองค์ประกอบภาพ และการเลือกช่วงทางยาวโฟกัสที่จะใช้ ในริ้วขบวนที่ 2 นี้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาดก็คือ พระมหาพิชัยราชรถ และราชรถน้อย ซึ่งมุมถ่ายภาพถ้าเราต้องการจะให้เห็นฉากหลังคือพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท โดยให้ได้สัดส่วนที่สวยงามนั้น เลนส์ทางยาวโฟกัสช่วงเทเลโฟโต้ สัก 70 มม. ให้สัดส่วนภาพและมิติของภาพที่ดีดังนั้นจังหวะถ่ายภาพจึงเป็นช่วงที่ ราชรถน้อย และพระมหาพิชัยราชรถ กำลังเข้ามาจากระยะไกล ตรงนี้ที่ต้องระวังคือ พระมหาพิชัยราชรถที่มีขนาดใหญ่ จะบังประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ดังนั้นจังหวะกดชัตเตอร์ที่ดีจึงเป็นช่วงที่พระมหาพิชัยราชรถอยู่ระหว่างประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ และพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทพอดี จะทำให้ได้ภาพของยอดซุ้มประตู ยอดพระมหาพิชัยราชรถ ยอดของพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทเรียงกันพอดี การตั้งค่ากล้องเลือกใช้ F8-11 เพื่อเก็บช่วงระยะชัดของภาพที่ดี

ประชาชนที่มารอตั้งแต่วันวาน

เจ้าหน้าที่สันติบาลและเจ้าหน้าที่จากกรมประชาสัมพันธ์ที่มาคอยอำนวยความสะดวก

จากนั้นจะเป็นการเก็บริ้วขบวนที่เห็นพลฉุดชักที่สวมชุดสีแดงด้านหน้า และทหารกองเกียรติยศ จำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้าง เพื่อแสดงให้เห็นมุมภาพที่งดงามสมพระเกียรติ การวางองค์ประกอบภาพจะรอให้พระมหาพิชัยราชรถ เลยผ่านพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และประตูเทวาพิทักษ์มาเล็กน้อย เพื่อให้มุมไม่บดบังกัน และจะเห็นความสวยงามของพระมหาพิชัยราชรถเต็มที่ การตั้งค่ากล้องเลือกใช้ F11 เป็นหลักสำหรับความคมชัดและระยะชัดที่มากพอ

สำหรับมุมนี้ มีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะบันทึกภาพในลักษณะของภาพพาโนรามาเอาไว้ด้วย โดยได้ลองหันกล้องทดสอบองศาของภาพเอาไว้ก่อนแล้วว่าจะเริ่มภาพแรกที่จุดใด และหันกล้องมาที่ภาพสุดท้ายจุดใด และจะกดชัตเตอร์ที่ภาพช่วงใดบ้าง สำคัญของการต่อภาพพาโนรามาคือ ควรถ่ายภาพให้เหลื่อมกันให้มาก ครึ่งเฟรมภาพได้จะดี และริ้วขบวนจะใช้การก้าวเท้าเดิน ต้องรีบกดชัตเตอร์กล้องให้เร็ว เพื่อให้จังหวะก้าวเท้าสม่ำเสมอกันทุกภาพ ไม่เช่นนั้นจะต่อภาพยากขึ้น และด้วยความเร็วระดับนี้ การเลือกพื้นที่โฟกัสแบบ Auto area เป็นการเลือกจุดโฟกัสที่เหมาะสมเพราะเวลาที่เราแพนกล้องมานั้นเราจะไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนจุดโฟกัสของภาพ ก็จะช่วยให้บันทึกภาพได้เร็วขึ้น

สุดท้ายคือการบันทึกภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระเทพฯและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ร่วมเสด็จฯ ในริ้วขบวน ซึ่งการถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้จากระยะไกลจะทำให้ได้ภาพที่ดีกว่า และอย่าลืมการถวายความเคารพ ก่อนและหลังการบันทึกภาพทุกครั้ง และในช่วงที่พระองค์เสด็จฯ ผ่านอัฒจันทร์ของเรา

ในการถ่ายภาพพระราชพิธีในครั้งนี้นั้นจริงๆ แล้วเหมือนจะไม่ได้ใช้เทคนิคทางการถ่ายภาพมากนัก แต่จริงๆ แล้วเมื่อถึงเวลาจริงเทคนิคพื้นฐานจะเป็นสิ่งที่พึ่งพาได้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือการบันทึกภาพให้ได้คุณภาพ และการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ด้วยขนาดงานที่ใหญ่และต้องใช้ช่างภาพจำนวนมาก ต้องใช้มุมภาพหลายจุด ภาพจากหลายจุดจึงมีส่วนสำคัญในการบันทึกประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ ดังนั้นแล้วช่างภาพที่ไม่ได้อยู่ที่อัฒจันทร์อาจจะทำให้บันทึกภาพริ้วขบวนได้ยาก แต่ก็มีส่วนในการบันทึกบรรยากาศของประชาชนในจุดต่างๆ ได้ และได้ภาพที่ดีได้ไม่แพ้ช่างภาพที่อยู่บนอัฒจันทร์เช่นกัน สิ่งสำคัญคือการคิดว่าเรากำลังทำหน้าที่อะไร และทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดในจุดที่เราทำได้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกใหญ่ๆ มานักต่อนักแล้วครับ…

ส่วนมากวันซ้อมของเจ้าหน้าที่แต่ล่ะส่วนก็เป็นวันซ้อมมุมภาพของช่างภาพเช่นกัน

ช่างภาพไม่ใช้น้อย ถ้าไม่วางแผนมุมถ่ายไว้จะทำงานยากขึ้นเมื่อถึงเวลาจริง

ในช่วงก่อนพิธีจะเริ่มเหล่าช่างภาพก็หามุมสำหรับวางตำแหน่งกล้อง

ช่างภาพแน่นขนัดบนอัฒจันทร์