เรื่อง+ภาพ : HCOP
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 189/2013 June
เดี๋ยวนี้การถ่ายภาพได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนนะครับ ด้วยความสะดวกของเทคโนโลยีที่ทำให้เราได้ภาพที่สวยขึ้น ถ่ายภาพได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่าง instagram ซึ่งเป็นแอพฯ ที่มีผู้ใช้กันทั่วโลก ทั้งช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพสมัครเล่น ที่แชร์ภาพกันบนโลกออนไลน์ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดบนความนิยมการถ่ายภาพในยุคนี้ก็คือ เฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือที่เรียกกันว่า สัดส่วนของภาพแบบ 1:1
สัดส่วนของภาพแบบ 1:1 นี้มีมาให้เห็นกันนานแล้วนะครับ ในสมัยยุคฟิล์มโดยสัดส่วนขนาดภาพแบบนี้ จะใช้ในกล้อง medium format ของ Hasselblad ซึ่งใช้ฟิล์ม 120 ให้ภาพขนาด 6×6 cm. (จึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า format 6×6) ด้วยเสน่ห์ของกรอบภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส ของขนาดสัดส่วนภาพ 1:1 ทำให้ภาพไม่มีแนวตั้งและแนวนอน มีผู้ที่ชื่นชอบกรอบภาพแบบนี้มากมาย ด้วยอิสระในการนำภาพไปใช้งาน บนพื้นที่ฟิล์มขนาดใหญ่ ทำให้ช่างภาพโฆษณาหลายคนใช้กล้องที่ให้สัดส่วนภาพแบบ 1:1 เพื่อสามารถเลือกตัดส่วนภาพจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนในภายหลังได้ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในงานดีไซน์ที่กราฟิกจะเลือกตัดส่วนภาพได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
นอกจากกล้อง medium format ที่ใช้งานในระดับมืออาชีพแล้ว ก็ยังมีกล้อง Polaroid ที่ให้เฟรมภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ที่ในอดีตนั้นมีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นใช้กันมากมาย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ที่ชื่นชอบภาพจากกล้อง Polaroid อยู่บ้างหลายกลุ่ม แต่ฟิล์มที่ให้ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ก็นับว่าหาซื้อได้ยากเต็มที แต่เสน่ห์ของภาพสัดส่วน 1:1 นั้นไม่ได้หมดตามไปด้วย แต่กลับมาแพร่หลายและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นอีกในยุคการถ่ายภาพดิจิตอล
ในเฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ มีเรื่องเล่าบอกต่อมากมาย จากบรรดาช่างภาพทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น ดารา นักออกแบบ ฯลฯ ผู้คนหลากหลายอาชีพกำลังบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้กันทุกวัน
Picture aspect ratio คือ สัดส่วนของภาพถ่ายในด้านยาว x ด้านกว้าง ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ก็คือภาพที่ด้านกว้างและด้านยาวของภาพนั้นมีขนาดเท่ากันทั้งสองด้าน เฟรมภาพจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่นหมายความว่า ภาพแบบนี้จะไม่มีแนวตั้งหรือแนวนอน ดังนั้นในเรื่องขององค์ประกอบภาพ จึงนับว่าต้องให้ความสำคัญ
สัดส่วนภาพแบบ 1:1 นี้ให้อิสระในการวางเฟรมภาพได้มากมาย โดยไม่มีแนวตั้งหรือแนวนอนของภาพมากำหนด ภาพสัดส่วน 1:1 นั้นจะมีลักษณะของความสมดุล ด้วยด้านที่เท่ากันทั้งสี่ด้านของภาพ แตกต่างจากภาพจากขนาดภาพปกติ (3:2 หรือ 4:3) ที่วัตถุในภาพจะถูกเน้นไปโดยปริยาย ถ้าเข้าใกล้วัตถุ หรือถ่ายภาพในระยะใกล้มาก ดังนั้นการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม จะได้ภาพที่น่าสนใจกว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจคือการใช้ texture & detail ในภาพที่มีลวดลาย พื้นผิวและรายละเอียดที่น่าสนใจ จะเหมาะสมกับสัดส่วนภาพ 1:1 นี้ โดยเฉพาะลวดลายหรือพื้นผิวของฉากหลัง ที่เมื่ออยู่บนเฟรมสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะดูโดดเด่นขึ้นมาก
นอกจากการนำเสนอผ่านพื้นผิวและลวดลายที่น่าสนใจแล้ว การใช้เส้นนำสายตาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีของการวางองค์ประกอบภาพบนเฟรมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ว่าจะใช้เส้นทแยง เส้นโค้ง หรือแม้แต่การใช้ perspective และรวมไปถึงการวางจุดเด่นที่กึ่งกลางภาพ แม้แต่การใช้หลักของ Rule of Third มาช่วยในการวางองค์ประกอบภาพ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมกับเฟรมภาพแบบสัดส่วน 1:1 นี้เช่นกัน
มาในยุคดิจิตอลเราจะสังเกตเห็นว่ามีกล้องดิจิตอลหลายรุ่น ที่สามารถเลือกขนาดภาพให้เป็นสัดส่วน 1:1 ได้เช่นกัน หรือแม้แต่การตัดส่วนภาพในภายหลังด้วยโปรแกรมปรับแต่งภาพก็ตาม เราจึงยังเห็นได้ว่าภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นไม่ได้หายไปไหนยังคงมีอยู่ในทุกๆ ที่ ในรูปแบบของกล้องดิจิตอลบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ผ่านการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า instagram นั่นเอง
ไม่ว่าจะก่อนทานอาหาร ซื้อขนม ขึ้นรถลงเรือ เดินริมหาด จ่ายตลาดร้อยปี ฯลฯ เราจะเห็นภาพของการยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปและแชร์ภาพผ่านโลกออนไลน์ และ instagram ก็เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่ใช้ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 เช่นกันครับ ณ เวลานี้ต้องบอกว่าภาพถ่าย 1:1 ที่อยู่บน instagram นั้นเป็นล้านๆ ภาพจากทั่วทุกมุมโลกเชียวนะครับ
แอพพลิเคชั่น instagram นี้เป็นแอพฯ ที่ให้ภาพในสัดส่วน 1:1 ที่ต้องบอกว่า ในทุกวันนี้ มันได้ทำงานไปไกลเกินกว่าแค่ความสนุก ช่างภาพอาชีพหลายคนใช้ อินสตาแกรมเป็นสื่อในการนำเสนอผลงาน เพราะนอกจากการได้ภาพในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้แล้ว การแชร์ภาพถ่ายผ่านโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ก็ยังมีผลไปถึงการส่งภาพให้ผ่านตาเอเจนซี่ภาพหลายแห่งทุกมุมโลก ดีไซน์เนอร์หลายคนก็เปิดดูภาพผ่านการ follow และผ่านคีย์เวิร์ดในการ search ใน EXPLORE ของ instagram
ในอีกมุมหนึ่ง นิตยสารภาพข่าวอันดับต้นของโลกอย่าง TIME ก็ได้ให้ช่างภาพข่าวหลายคนใช้ภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ของ instagram ในการนำเสนอภาพเหตุการณ์สดผ่าน Instagram feed ของ TIME เองอีกด้วย (ในช่วง 48 ชั่วโมงมีคนมา “follow” อินสตาแกรมของไทม์เพิ่มขึ้นถึง 12,000 คน) ยังไม่นับช่องทางเสนอข่าวของบุคคลทั่วไปในทุกวันนี้ ที่พบเห็นภาพเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามก็สามารถถ่ายภาพและแชร์ภาพขึ้นได้ทันที
ไม่ว่าจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจากกล้องฟิล์ม กล้องดิจิตอล หรือว่าจากโทรศัพท์มือถือ สิ่งสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นมีลูกเล่นที่น่าสนใจเพียงใด แต่อยู่ที่การสร้างสรรค์มุมมองของผู้ใช้มันต่างหาก เพราะไม่ว่า instagram จะมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้มากมายเพียงใด โปรแกรมตกแต่งภาพก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่การเลือกฟิล์ม เลือกกระบวนการล้าง อัด-ขยาย เหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถเลือกทำงานได้ทั้งนั้น สำคัญที่ในกรอบเฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ เราจะใส่อะไรลงไปในนั้นบ้าง เราจะวางองค์ประกอบภาพอย่างไร เราจะนำเสนออะไรผ่านมุมมองแบบไหนก็เท่านั้นเอง อะไรคือเสน่ห์ของภาพในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขอเชิญค้นหาคำตอบได้ด้วยตัวคุณเอง…