บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 156/2010 September

ถ้าหัวใจของกล้องคือ เลนส์ ชัตเตอร์ที่แม่นยำ ระบบปรับความชัดอันเที่ยงตรงและความแข็งแรงของตัวกล้อง ไม่มีช่างภาพคนไหนสามารถถ่ายภาพที่ยอดเยี่ยมได้ โดยปราศจากเลนส์ที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่ากล้องจะมีความทนทานขนาดไหน หรือมีระบบการทำงานที่แม่นยำไร้ความผิดพลาด แต่หากปราศจากเลนส์ที่ดีแล้วกล้องก็คงไม่ตกต่างไปจากกล้องคอมแพคราคาถูกทั่วๆ ไป

ในการสร้างเลนส์ที่เป็นต้นแบบ จะต้องมีการทดสอบคุณภาพของเลนส์อยู่เป็นเวลานาน ว่ามีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยอมรับได้ สมราคา การทดสอบจะทำทั้งในห้องแล็ปและภาคสนาม มีการทดสอบความคมชัด และความคาดต่างๆ ของเลนส์  คุณภาพของเลนส์เมื่อนำไปใช้งานจริง ความคล่องตัว การควบคุมแสงแฟลร์ การถ่ายถอดสีสัน ฯลฯ และเมื่อมีการผลิตจริง ก็ควรมีการทดสอบเลนส์อีกครั้งเพื่อดูว่าคุณภาพของเลนส์ตัวนั้นได้มาตรฐานหรือมีคุณภาพเหมือนต้นแบบหรือไม่

แต่ในความเป็นจริง แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเลนส์ให้เหมือนกัน 100% ความผิดพลาดในการผลิตย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แม้แบบที่ใช้การเคลือบผิวหน้าเลนส์การฝนเลนส์และการประกอบเลนส์ไม่มีทางเหมือนกัน  100% ได้ แต่การควบคุมการผลิตที่เข้มงวดและเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้ความผิดพลาดน้อยลง

ความคลาดต่างๆ ย่อมมีอยู่ในเลนส์ทุกตัวขึ้นกับว่ามีมากจนทำให้คุณภาพของเลนส์ยอมรับไม่ได้หรือไม่ ถ้ามีน้อยคุณภาพของเลนส์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบเลนส์ที่ดีและการผลิตเลนส์ที่ดีเท่านั้นจะสามารถลดความผิดพลาดเหล่านี้และทำให้เลนส์มีคุณภาพดีขึ้นได้

เมื่อคุณต้องการซื้อเลนส์สักตัวคุณอาจพิจารณาปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นราคา คุณภาพของชิ้นเลนส์ ความคล่องตัวในการใช้งาน ชื่อเสียงของเลนส์  ราคาขายต่อ การบริการของผู้แทนจำหน่าย ฯลฯ ในด้านของคุณภาพในการใช้งาน อาจหาข้อมูลจากคนที่เคยใช้ ดูจากผลการทดสอบจากนิตยสารต่างประเทศจะแน่นอนกว่าข้อมูลดิบที่คุณต้องพิจารณาว่าควรเชื่อหรือไม่ คำว่า “ดี” ของคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ “ดี” ของคุณก็ได้

การทดสอบเลนส์ด้วยตนเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการชี้ชัดลงไปว่า คุณภาพของเลนส์ตัวนั้นดีหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่คุ้ม การทดสอบมิใช่เพียงแต่นำเลนส์ไปถ่ายภาพโน้น ภาพนี้เท่านั้น เพราะไม่สามารถบอกคุณภาพสูงสุดของเลนส์ได้ บอกได้แต่ว่าสีสันเป็นอย่างไร แฟลร์มากไหม คล่องตัวหรือไม่เท่านั้น วิธีการทดสอบจะถ่ายต้นฉบับมาตรฐานที่เรียกว่า Test Target ซึ่งถูกสร้างขึ้นมา กรรมวิธีการทดสอบต้องอาศัยความประณีตและการถ่ายภาพที่แม่นยำ เที่ยงตรง โดยเราจะได้กล่าวต่อไป

 

ต้นฉบับ Test Target

เราไม่สามารถถ่ายภาพตึก ใบไม้ ทุ่งหญ้า แล้วมาบอกว่าเลนส์ตัวนั้นมีความคมชัดเป็นอย่างไรได้ 100% เพราะภาพที่ถ่ายอาจมีการไหวเนื่องจากลมพัด และระยะใกล้ไกล หากขนาดรูรับแสงกว้าง ความชัดลึกไม่พอ ภาพก็จะขาดความคมชัดไปโดยปริยาย ต้นฉบับมาตรฐานหรือ Test Target มีด้วยกันหลายรูปแบบ แต่ที่นำมาเป็นตัวอย่างในฉบับนี้เป็นของ USAF หรือ US. Air Force ซึ่งใช้ทดสอบในการใช้งานถ่ายภาพทางอากาศ ซึ่งต้องการภาพมีรายละเอียดสูงมาก

ลักษณะของ Test Target ประกอบด้วยชุดของเส้นดำสลับขาว จำนวนชุดละ 3 เส้น มีขนาดลดหลั่นกันลงไปเรียงตัวกันทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ขนาดของเส้นสามารถนำไปคำนวณหา Resolving Power (กำลังแยกขยาย) ของเลนส์ได้ โดยดูจากกลุ่มของเส้นเล็กที่สุดที่เลนส์สามารถแยกได้อย่างชัดเจน

การทดสอบหา Rosolving Power ของเลนส์มีขั้นตอนดังนี้

  1. กำหนดระยะห่างของ Test Target กับเลนส์เท่ากับ 25 เท่าของทางยาวโฟกัส ตั้งกล้องให้ได้แนวขนานกับแนวของ Test Target (ถ้าติด Test Target กับกำแพงให้แนวกล้องขนานกับกำแพง)
  2. ติด Test Target เข้าที่กำแพง ดังรูปตัวอย่าง
  3. จัดไฟให้ตกลงบน Test Chart (ชุดของ Test Target ที่ติดบนกำแพง) สม่ำเสมอทั้งกลางภาพและขอบภาพ หากถ่ายภาพกลางแจ้ง ให้ระวังเลือกที่ที่แสงตกลงสม่ำเสมอ
  4. ปรับความคมชัดที่กลางภาพให้คมชัดมากที่สุด ตั้งกล้องให้มั่นคงมากที่สุดและใช้สายกดชัตเตอร์
  5. ถ่ายภาพโดยวัดแสงพอดี เปิดรับแสงตั้งแต่ขนาดรูรับแสงกว้างสุดจดแคบสุด ถ้าเป็นเลนส์ซูมให้ทดสอบที่ทางยาวโฟกัสน้อยสุด, มากสุด และตรงกลาง
  6. ดูผลการทดสอบโดยการนำภาพมาดูบนจอคอมพิวเตอร์ ขยายภาพ 100 %
  7. วิเคราะห์ผลการทดสอบ

ลักษณะการติด Test Target ที่ผนัง

ข้อควรระวังในการทดสอบ

  1. กล้องต้องตั้งให้นิ่งที่สุด
  2. ปรับความคมชัดให้มากที่สุด
  3. ตั้งกล้องให้ได้แนวขนานกับ Test Chart จริงๆ
  4. ต้องให้แสงตกลง Test Chart อย่างสม่ำเสมอทุกบริเวณ

การจัดแสงถ่ายภาพ Test Target ต้องให้แสงตกอย่างสม่ำเสมอ

การวิเคราะห์ผลการทดสอบ

                เมื่อได้ภาพออกมาเราจะสามารถวิเคราะห์ผลการทดสอบได้ โดยการพิจารณาจากส่วนต่างๆ ของภาพดังนี้

  1. ความคมชัด (Sharpress) เราสามารถดูได้ว่าเส้นของ Test Target แต่ละบริเวณมีความคมชัดขนาดไหน และสามารถแยกกันชัดเจนขนาดไหน เลนส์ที่ดี ควรแยกเส้นได้ชัดเจน และแยกได้แม้แต่เส้นเล็กๆ โดยปกติความคมชัดที่กลางภาพจะสูงกว่าขอบภาพ เมื่อเทียบที่รูรับแสงขนาดเดียวกัน และความคมชัดของเส้นที่มีขนาดใหญ่จะสูงกว่าเส้นที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปกติของเลนส์ทุกตัว
  2. ความสว่างของภาพ เลนส์ที่ดี ควรมีความสว่างสม่ำเสมอทั้งกลางภาพ และขอบภาพ ทุกขนาดรูรับแสง แต่อาจเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Vignetting บริเวณขอบภาพจะมืดลงเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ มักเกิดที่รูรับแสงกว้างมาก และลดลงเมื่อหรี่รูรับแสงแคบลง
  3. ความบิดเบือนของภาพ หากเส้นที่ขอบภาพอาจเกิดการโค้งเข้าหรือออกแสดงว่า เกิดความบิดเบือนของภาพเรียกว่า Distortion เลนส์ที่ดีไม่ควรเกิดการบิดเบือนหรือมีความบิดเบือนต่ำ

 

แล้วได้อะไรจากการทดสอบ

คงเป็นการดีหากเราสามารถทดสอบก่อนซื้อได้ สามารถเปรียบเทียบเลนส์แต่ละตัวว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร สมควรซื้อตัวไหน เลนส์ราคาถูกอาจมีคุณภาพดีกว่าเลนส์ราคาสูงก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่สามารถทดสอบก่อนการซื้อได้ เมื่อซื้อเลนส์มาแล้วการทดสอบจะช่วยให้เรารู้ว่า คุณควรใช้เลนส์ตัวนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงสุดได้ เป็นการใช้งานในจุดดีหลีกเลี่ยงจุดด้อยของเลนส์ แต่อย่างไรก็ตาม ควรทำใจก่อนการทดสอบ เพราะไม่มีเลนส์ตัวไหนในโลกที่ดีไปหมดทุกอย่าง ในราคาประหยัด!!!