เรื่อง+ภาพ : นายจักรยาน

ในช่วงฤดูฝนก่อนเทศกาลเข้าพรรษา ที่จังหวัดชลบุรีจะมีการแข่งขันวิ่งควายคราดนาเป็นประจำทุกปี การแข่งขัน มีวัตถุประสงค์หลักจริงๆ คือเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมให้ควายไทยให้คงอยู่ หลายท่านได้คงสัมผัสและเห็นภาพที่เผยแพร่อยู่ตามสื่อทั่วไปอยู่แล้ว เมื่อมีการจัดการแข่งขัน ทุกครั้งมักจะมีช่างภาพจำนวนมากไปเก็บภาพในงานดังกล่าว การจัดงานประจำปี แม้จะต่างสถานที่ ต่างอำเภอ แต่ควายและคนบังคับควาย ก็จะเป็นชุดเดิมๆ ที่ตระเวนลงสนาม เป็นเหมือนมืออาชีพ ที่ต้องลงแข่งขันทุกสนาม ซึ่งทั้งสองจะขาดกันไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบังคับควาย จะสังเกตได้ว่าคนบังคับทุกรุ่นของควายที่ทำการแข่งขัน เป็นมืออาชีพจริงๆ ในการวิ่งควายคราดนา จะแตกด่างจากการวิ่งควายแบบธรรมดา ประเพณีวิ่งควายธรรมดาเป็นการวิ่งโดยผู้ควบคุมขี่บนหลังควาย และวิ่งบนสนามแห้ง ส่วนการวิ่งควายคราดนา เป็นการวิ่งในสนามเปียก สนามที่ต้องมีน้ำขังอยู่ในนาที่ควายวิ่ง ซึ่งสร้างความสนุกตื่นเต้นให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่างภาพที่นิยมถ่ายภาพการแข่งขันวิ่งควายประเภทนี้ สิ่งที่แตกต่างจากการวิ่งความสนามแห้งคือ จะต้องวิ่งด้วยควายสองตัวที่เทียมด้วยคราด ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เป็นการจำลองจากคราดจริงๆ ผู้ควบคุมไม่ได้ขี่บนหลังควาย แต่ควบคุมด้วยเชือกและต้องวิ่งตามควายไปจนถึงเส้นชัย หนึ่งชุดมีควายสองตัวกับคราดและผู้ควบคุมจะเรียกว่า คัน 

ภาพในเวปนี้ผมได้รวบรวมงานวิ่งควายคราดนา จากสองตำบลของจังหวัดชลบุรี ที่มีการจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี นั่นคือ อบต.นาป่า และ อบต.สำนักบก สถานที่ที่สองอ่านว่า สำ-นัก-กะ-บก ทั้งสองตำบลนี้อยู่ในอำเภอพานทอง ที่อยู่ใกล้ๆ กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครนั่นเองครับ ลักษณะสนามแข่งขันก็คือแปลงนาที่มีความยาวประมาณ 500 เมตร ในวันแข่งจะสูบน้ำเข้ามาในสนาม หากลงไปเดินก็ประมาณครึ่งหน้าแข้ง ในช่วงแข่งขันขี้โคลนจะถูกดีดกระเด็น กระจายเต็มไปหมด เป็นภาพที่น่าหลงใหลสำหรับช่างภาพเป็นอย่างยิ่งครับ

เลือกสปีดช้า สปีดเร็ว

การเลือกใช้ความเร็วหรือสปีดชัตเตอร์ในการบันทึกภาพ สามารถเลือกใช้ได้ทั้งเร็วและช้า ซึ่งให้ผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่มีใครตัดสินได้ว่าภาพที่ใช้ชัตเตอร์ความเร็วสูง เพื่อหยุดหยดน้ำให้หยุดนิ่งจนเห็นเป็นเม็ดเล็กๆ กระจายเต็มไปหมด ดีกว่า ภาพที่ใช้สปีดช้าจนเห็นน้ำที่เคลื่อนไหวเป็นเส้นๆ ทั้งสองเทคนิคมีความโดดเด่นในตัวของมันเอง มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว มีความยากในการถ่ายทั้งสองแบบ ที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป การใช้สปีดสูงต้องมีความแม่นยำในการหาตำแหน่งโฟกัส เพราะตามธรรมชาติของการใช้สปีดชัตเตอร์สูง ช่างภาพจะต้องใช้รูรับแสงกว้างอย่างแน่นอน และที่สำคัญสำหรับการเก็บอารมณ์ภาพหยุดนิ่งให้ได้อิมแพคของภาพที่สวยงามที่สุด จังหวะที่ดีที่สุด ควรจะใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากเลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์ซูม ใช้ในช่วงระยะเลนส์ระหว่าง 200-400 มิลลิเมตรจะสวยงามที่สุด การใช้เลนส์ยาวๆ ช่วงนี้ อาจจะต้องมาร์คตำแหน่งที่หวังผลไว้ล่วงหน้า ต้องวางแผน กะระยะที่เป้าหมายเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด จึงกดชัตเตอร์ การทำงานด้วยเลนส์เทเลระยะยาว และเลือกใช้สปีดสูงเพื่อหยุดความเคลื่อนไหวนี้ อาจจะไม่คล่องตัวและได้จำนวนภาพไม่มากเท่าการใช้สปีดช้า แต่ภาพที่ออกมาถ้าตำแหน่งโฟกัสเข้า จะออกมาสวยมากเลยครับ สปีดที่ใช้อยู่ระหว่าง 1/2000-1/4000 รูรับแสงกว้างสุด โดยตั้ง ISO ที่ออโต้ ในโหมดแมนนวล

ส่วนการใช้สปีดช้าเพื่อให้เกิดอารมณ์เคลื่อนไหวซึ่งมีผลที่ตรงข้ามกับการใช้สปีดเร็วอย่างสิ้นเชิง การใช้สปีดช้าแน่นอนว่า ต้องใช้เทคนิคการแพนกล้องมาใช้ร่วมกันอย่างแน่นอน การเซ็ทกล้องจะตรงข้ามกับการใช้สปีดเร็ว การใช้สปีดช้า เรื่องโฟกัสตำแหน่ง อาจจะไม่ยากเท่าการใช้สปีดเร็ว ช่วงเลนส์ที่ใช้ไม่ต้องเป็นเลนส์ยาว เป็นเลนส์นอร์มอลไปถึงเลนส์ไวแองเกิล ที่มีช่วงความชัดลึกมาก การใช้รูรับแสงค่อนข้างแคบ เพื่อให้ได้สปีดชัตเตอร์ที่ต่ำ การที่จะไปเจอปัญหาโฟกัสหลุด จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ส่วนสปีดชัตเตอร์ ผมใช้ที่ประมาณ 1/50 การใช้สปีดชัตเตอร์ในเทคนิคนี้ ในความคิดของผมค่อนข้างยากถ้าเทียบกับการถ่ายภาพแบบสปีดเร็ว เพราะการถ่ายภาพสปีดช้า ต้องใช้เทคนิคการแพนกล้องตามวัตถุ หรือควาย ที่วิ่งอยู่ข้างหน้าด้วย ความเร็วของการแพนต้องมีความสัมพันธ์กันถึงจะมีความคมชัด  นอกจากความเร็วที่สัมพันธ์กันแล้วยังมีการประคองตัวกล้องไม่ให้สั่นไหว ก็จะทำให้ภาพมีความคมชัดขึ้น ช่างภาพต้องประเมินน้ำหนักกล้องและเลนส์ ต้องมีความคุ้นเคย หากถ่ายลักษณะนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้ได้งานได้อารมณ์ ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว ช่างภาพหลายคนใช้ขาตั้งสามขา บางคนใช้ขาตั้งโมโนพอทหรือขาตั้งเดี่ยว เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยได้มากเลยครับ ทั้งการช่วยรับน้ำหนัก และการทำให้กล้องนิ่ง

เลนส์สั้นเลนส์ยาวกับตำแหน่งยืน

ในงานวิ่งควายมีช่างภาพไปเก็บภาพเป็นจำนวนมาก ใช้เลนส์หลากหลายช่วง เลนส์สั้น เลนส์ยาว มีจำนวนใกล้เคียงกัน กระจายยืนเก็บภาพอยู่ทั่วสนาม ไม่มีข้อจำกัดหรือสรุปได้ว่า ต้องใช้เลนส์ยาวถ่ายเท่านั้นถึงจะได้อารมณ์วิ่งควาย การใช้ช่วงเลนส์ปกติ เลนส์คิทติดกล้องก็สามารถถ่ายได้ ไม่แพ้เลนส์ตัวใหญ่ๆ ยาวๆ เพียงหาตำแหน่งยืนให้เหมาะสม หรือหาระยะหวังผลของช่วงเลนส์ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ช่วงไหน ได้ภาพที่มีอารมณ์การวิ่งควายได้ดีเยี่ยมครับ

ตำแหน่งครึ่งสนาม เป็นจุดหรือระยะที่ดีของเลนส์ช่วงปกติ ไปถึงเลนส์ช่วงยาวไม่มากนัก จุดกลางสนาม เป็นช่วงที่ควาย กำลังออกวิ่งได้เต็มที่ เป็นจุดที่ลุ้นกันเป็นตัวนำเพื่อพุ่งเข้าสู่เส้นชัย จุดกลางสนามเป็นจุดที่แพนกล้องได้สนุก และได้งานที่ดีหลายภาพครับ สภาพของสนามสองข้างเป็นคันนาโดยด้านหนึ่งเป็นส่วนที่ยกสูงเป็นลานดินและถนน เป็นที่นั่งที่ยืนของผู้ชมส่วนฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นคันนาและที่ว่างโล่งๆ สนามที่สำนักบก เป็นสนามที่มีคนเข้าไปชมไม่มากนัก ช่างภาพก็ไม่เยอะมากเช่นกัน ทำให้มุมที่ถ่ายจากที่นั่งดูไปฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่โล่งนั้น ดูโปร่งไม่มีคนดู และช่างภาพไม่เกะกะ ส่วนสนามที่นาป่า จำนวนคนมาชมและช่างภาพเยอะมาก ทำให้ฝั่งตรงข้ามของที่นั่งดูเต็มไปด้วยคน แต่ถ้าหากใช้เทคนิคแพนกล้อง กับสปีดช้า ก็จะช่วยได้เพราะการแพนทำให้ฉากหลังไม่ชัดเบลอเป็นเส้น ก็จะได้ภาพที่สวยงามกว่าภาพที่ใช้สปีดชัตเตอร์เร็ว ทุกอย่างหยุดนิ่งแต่ก็ทำให้ฉากหลังที่เป็นคนดูชัดไปด้วย ฉะนั้น ตำแหน่งยืนข้างสนามสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เรียงลำดับกันไปคือ เลนส์ปกติหรือซูมนอรมอล ใช้สปีดช้า และแพนกล้อง ถ้ามีขาตั้งกล้องหรือโมโนพอทมาช่วยพยุงรับน้ำหนักกล้องไว้ก็จะได้งานที่ดีมากครับ

มีสนามหนึ่งผมใช้เลนส์เทเลโฟโต้ 400 f/2.8 ระยะเลนส์ค่อนข้างยาว ผมไปยืนในตำแหน่งเฉียงค่อนไปทางท้ายสนาม เล็งเป้าหมายในช่วงที่ควายแข่งขันวิ่งมากลางสนาม การใช้เลนส์ช่วงยาวแบบฟิกซ์ระยะนี้ ทำงานแบบสปีดช้าและแพนกล้องไม่คล่องตัว ผมจึงต้องใช้สปีดสูง รูรับแสงกว้างเพื่อหยุดทุกอย่างให้นิ่ง นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ความคมของเลนส์ทำให้ภาพสดใส คมชัด มีมิติของภาพดีมาก ฉากหลังละลายสวยงาม การยืนตำแหน่งนี้ผมยืนให้สูงกว่าระดับสายตาประมาณเกือบสองเมตรบนหลังรถกะบะ ปกติก็สูงอยู่แล้วเพราะอยู่บนเนินดิน ภาพมุมสูงทำให้บางจังหวะมองเห็นควายและคนบังคับเกือบครบทั้งหมด มีความลึก ความคล่องตัวของเลนส์มีน้อย จึงได้ภาพจากการกดชัตเตอร์ไม่มากเหมือนการแพนกล้อง เพราะเป้าหมายเคลื่อนตัวใกล้เข้ามาจนล้นเฟรม แต่ทุกภาพมีความน่าสนใจใช้ได้เกือบทั้งหมดครับ

จุดตั้งกล้องท้ายสนาม จุดนี้มีความน่าสนใจท้าทายช่างภาพเกือบทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีเลนเทเลโฟโต้ช่วงยาวๆ จะได้ภาพที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะภาพที่ได้จะได้อารมณ์ที่กลุ่มควายวิ่งเข้าหากล้อง หากเลนส์ช่วงยาวมากๆ บางภาพจะดูเหมือนวิ่งเข้าปะทะเลยทีเดียว แต่ก็มีความเสี่ยงอันตรายต่อการที่เจ้าทุยจะวิ่งเข้าชนกันเพราะเมื่อเข้าถึงเส้นชัยแล้วจะไม่หยุดในทันที ต้องมีลูกทีมคอยรั้ง และดึงเอาไว้ บางครั้งก็รั้งกันไม่อยู่ วิ่งเตลิดเข้าหากลุ่มคนที่ยืนอยู่ตรงปลายขอบสนามรวมทั้งช่างภาพด้วย หากรักอยากจะได้ภาพตรงจุดนี้ ช่างภาพต้องเตรียมพร้อม ที่จะเคลื่อนย้ายตัวเอง ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเรียกว่า เอาตัวรอดให้เร็วที่สุด ครับ ผมยืนอยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปตำแหน่งอื่นครับ จุดนี้เป็นตำแหน่งที่ทั้งควาย และคนควบคุมวิ่งเข้าหากล้อง สปีดที่ใช้ก็ควรจะเป็นสปีดสูง เพราะถ้าเป็นเทคนิคสปีดช้า แพนกล้องจะควบคุมลำบาก

รอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ

การแข่งขันควายทั้งประเภทควายวิ่งบนสนามแห้งและสนามเปียก เป็นการแข่งขันภายในหนึ่งวัน เริ่มตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นๆ รอบเช้าจะเป็นรอบควอลิไฟน์ หรือรอบคัดเลือก เพื่อคัดเอากลุ่มที่เข้ารอบถึงเกณฑ์ที่กำหนดเข้าไปชิงชนะเสิศในตอนบ่ายๆ ความสนุกตื่นเต้นจึงตกไปอยู่ตอนบ่าย ถ้าผมไม่ติดธุระ ก็จะไปตั้งแต่เช้าเริ่มถ่ายตั้งแต่รอบเปิดการแข่งขันเลย ถึงแม้จะมีความตื่นเต้นน้อยกว่ารอบบ่าย แต่ผมถือว่าเป็นการซ้อมมือ ซ้อมเลน์ให้คุ้นเคย มาร์คตำแหน่งยืนที่เหมาะสมในแต่ละจุดให้คุ้นเคย ตอนบ่ายเป็นรอบชิงจะได้ไม่ติดขัดมีอุปสรรค รอบการแข่งขันทั้งวันดูมีน้อย แต่การดึงควายไว้ที่จุดสตาร์ทเพื่อเตรียมตัวออกค่อนข้างจะกินเวลานานแทบทุกรุ่น ควายเกือบทุกตัวจะควบคุมไม่อยู่มีการขยับตัว หมุนไป หมุนมา กว่าจะหยุดได้พร้อมกันกินเวลานาน บางรุ่นเป็นครึ่งชั่วโมง แต่การแข่งขันที่มีความยาวเพียง 500 เมตร ใช้เวลาไม่นานก็ถึงเส้นชัยแล้ว

การวิ่งควายทั้งสองประเภทมีจัดการแข่งขันอยู่ในจังหวัดชลบุรี ตระเวนไปตาม อบต. ต่างๆ ในช่วงก่อนเข้าพรรษา และออกพรรษา บางครั้งเมื่อเฝ้าดูการแข่งขัน และจดจ่อกับการถ่ายภาพ มีความรู้สึกสงสารน้องควาย ที่ถูกลงแส้ดังเปรี๊ยะๆ ผมรู้สึกสะดุ้งทุกครั้ง แต่มองอีกด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ให้ยังมีควายอยู่ มีความใกล้ชิดกับชาวนา มีความผูกพันกัน ทำให้ผู้คนทั่วไปเกิดความรักกับควายที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้บทบาทความสำคัญจะลดน้อยลงไปทุกที ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี มีเครื่องมือเก็บเกี่ยว มีการปลูกข้าวโดยไม่ต้องการควายมาไถนาอีกต่อไป เพราะเจ้าแทรคเตอร์เข้ามาแทนที่ นี่เอง การจัดกิจกรรมเช่นนี้ จึงเป็นผลดี ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้นทั่วไป และที่สำคัญ เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทยครับ