เรื่อง+ภาพ : AopchTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 253/2018 Ocetober

ฤดูฝนกำลังจะผ่านไปแล้วนะครับ ช่วงที่ผ่านมาฝนตกบ่อยเสียจนไม่ค่อยได้ออกไปถ่ายภาพบ่อยนัก ฝนตกไปทั่วแทบจะทุกวัน ช่างภาพอย่างพวกเราก็ได้แต่เซ็งกันนะครับ ด้วยว่าท้องฟ้าฤดูนี้ไม่สวยเอาเสียเลย ออกไปทางสีเทาๆ ทึมๆ หนำซ้ำบางวันเมฆมากฟ้าปิดแหงนหน้ามองไปทางไหนเป็นสีขาวไปหมด แสงแดดก็ไม่ค่อยจะมีส่องลงมา เห็นบรรยากาศแบบนี้แล้วพาลไม่อยากออกไปถ่ายรูปเลยใช่ไหมครับ ตั้งท่าเก็บกล้องลงกระเป๋าเตรียมพร้อมออกจากบ้าน ฝนก็ตกลงมาทันที แพลนที่ตั้งใจไว้ก็เป็นอันยกเลิกไปเสีย

เดือนตุลาคมนับเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวเตรียมเก็บกระเป๋าหาที่เที่ยว สำหรับนักถ่ายภาพแล้วก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะบรรยากาศหลังฝน มีความงามที่พิเศษอย่างการถ่ายภาพธรรมชาติในช่วงเวลาปลายฝนต้นหนาวเป็นเวลาที่ป่าสวยที่สุด ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี น้ำในลำห้วยไหลเย็นชุ่มฉ่ำ เส้นทางเดินป่าก็ตลบอบอวลไปด้วยไอหมอก นับเป็นเวลาเหมาะที่สุดที่จะออกไปชื่นชมความงามของธรรมชาติกัน ซึ่งก็มีอะไรๆ น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เรามาดูกันว่าหลังฝนตกมีอะไรให้เราบันทึกภาพได้บ้างนะครับ

 

รุ้งกินน้ำ

เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก โดยเกิดขึ้นจากแสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศ ทำให้แสงสีต่างๆ เกิดการหักเหขึ้น จึงเห็นเป็นแถบสีต่างๆ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ถ้าทิศทางของแสงที่พอเหมาะเรามักจะพบเห็นรุ้งกินน้ำเกิดขึ้นหลังฝนตก การหามุมภาพให้มีเรื่องราวหรือฉากหน้าอยู่ในภาพด้วยจะทำให้ภาพนั้นดูน่าสนใจมากขึ้นถ้าจะถ่ายภาพรุ้งกินน้ำนั้น ควรปรับกล้องและถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งช่วงที่สีของรุ้งกินน้ำจะเข้มสดที่สุดนั้นเป็นช่วงเวลาแค่นิดเดียว แล้วสีของรุ้งกินน้ำก็จะจางลงไป การถ่ายภาพให้มืดกว่าปกติสัก 1-2 สตอป ก็สามารถเก็บสีของรุ้งกินน้ำได้เต็มที่ มีคำถามว่า ถ้าจะถ่ายภาพรุ้งกินน้ำผ่าน Polarizing filter จะเห็นรุ้งกินน้ำชัดขึ้นหรือไม่ คำตอบคือ ทั้งใช่ และไม่ใช่ครับ สำหรับรุ้งกินน้ำตัวสั้นๆ การใช้ filter PL จะสามารถทำให้รุ้งกินน้ำดูชัดเจนขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นรุ้งกินน้ำตัวยาวๆ การใช้ filter PL จะทำให้บางส่วนของรุ้งกินน้ำดูชัดเจนขึ้น แต่มีบางส่วนที่จะเลือนหายไปเกือบหมด หรือหมดเลยด้วย เพราะรุ้งกินน้ำเกิดจากการหักเหของแสง และในแต่ละส่วน มีระนาบของการเป็น polarization ต่างกันครับ

หยดน้ำบนดอกไม้และต้นไม้ใบหญ้า

หลังฝนตกดอกไม้และต้นไม้ใบหญ้าเพิ่งได้รับน้ำมาอย่างชุ่มฉ่ำ มักจะมีหยดน้ำเกาะอยู่ทั่วไปหมด สร้างความสดชื่น หยิบเลนส์มาโครสักตัวมองหาความงามจากหยดน้ำดูบ้าง โดยอาศัยโบเก้ของเลนส์ และการจัดองค์ประกอบศิลปะหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามยอดหญ้า ใบไม้ ดอกไม้ ช่วยให้ภาพถ่ายโครสอัพของเราดูมีความชุ่มชื้นมากขึ้น สำคัญคือการถ่ายให้ใกล้ที่สุดและเน้นถึงอารมณ์ความสดชื่น หรือแม้แต่ หยดน้ำที่เกาะบนกระจก ก็สามารถใช้สร้างสรรค์ภาพได้อีกมากมาย เผลอแปบเดียวฟ้ามืดไม่รู้ตัวได้นะครับ

หมอก

หมอกเป็นของคู่กันกับสายฝน หลังฝนตกมักจะมีหมอกมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพอากาศในแต่ล่ะพื้นที่ อย่างบนยอดดอยนั้นหลังฝนตกหมอกจะค่อยๆ ก่อตัวไปเรื่อยๆ จากบางๆเริ่มเยอะขึ้นๆ และหนาจนมองอะไรไม่เห็นเลยทีเดียว และบ่อยครั้งที่เราอาจจะต้องรอให้หมอกเปลี่ยนแปลงจนได้จังหวะที่เราจะบันทึกภาพที่สวยงาม การถ่ายภาพหมอกต้องระวังเรื่องการชดเชยแสง กล้องมักจะทำการวัดแสงผิดพลาดได้ภาพมืดเกินไปเราควรชดเชยแสงให้ถูกต้องคือไปทาง +

แสงแดด

แสงแดดที่ส่องออกมาหลังฝนตกนั้นจะมีทิศทางที่ชัดเจน และค่อนข้างจัดจ้าน ด้วยส่วนใหญ่จะมีก้อนเมฆหลงเหลืออยู่ถ้าหลังฝนตกเป็นช่วงเวลาเย็น แสงแดดจะลอดผ่านเมฆลงมา สิ่งที่เราต้องทำไม่มีอะไรจะมากไปกว่าการรอคอยจังหวะของแสงที่สวยงาม และในช่วงเวลาเย็นนี้แสงจะมีความพิเศษคือสีสันที่อมส้มแดง หรือบางครั้งเป็นสีทอง

ฟ้าเปลี่ยนสี

ถ้าหลังฝนตกเป็นช่วงเวลาเย็น เราจะเห็นท้องฟ้าที่มีสีสันที่สดและสวยงาม ทั้งไอน้ำในบรรยากาศ และก้อนเมฆที่ช่วยทำให้ท้องฟ้าไม่โล่งเกินไป การรอคอยช่วงเวลาที่ฟ้าเปลี่ยนสี หรือแสงสุดท้ายหลังฝนตก ท้องฟ้ามักจะเป็นสีเข้มกว่าวันปกติ สีสันในภาพที่ได้จะดุดัน เข้มจัดจ้านอย่างน่ามหัศจรรย์ ข้อสำคัญก็คือ เราต้องพาตัวเราเองไปยังตำแหน่ง หรือจุดถ่ายภาพที่ต้องการให้ทันกับช่วงเวลาดังกล่า

ถึงแม้ว่าเราจะถ่ายภาพหลังจากฝนตกแล้ว อย่าลืม เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ กล้องเลนส์ และอุปกรณ์กันฝนอย่างร่มหรือเสื้อกันฝน ถุงพลาสติกกันน้ำ ในกรณีที่ถ่ายภาพอยู่แล้วอาจมีฝนก็เทลงมา ยังพอที่จะเอาถุงพลาสติกคลุมกล้องได้ทันนะครับ สุดท้ายขอให้นึกถึงเพลงฤดูที่แตกต่างของ บอย โกสิยพงษ์ ท่อนที่ว่า “อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เฝ้ารอเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ…”