เรื่อง+ภาพ : นพดล…

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 264/2019 September

เรื่องของภาพถ่าย…มีเรื่องให้คุยกันได้ตลอด…ยิ่งในวงการประกวดภาพถ่ายยิ่งมีเรื่องราวคุยกันไม่รู้จบ…แต่เรื่องหนึ่งที่นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ ที่เริ่มเข้าประกวดภาพถ่าย  อาจจะมองข้าม ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของ  “หัวข้อการประกวด” นั่นคือ “คุณภาพความคมชัดของภาพถ่าย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…การตัดสินว่า “ภาพไหนเป็นภาพไหว ภาพไหนเป็นภาพเคลื่อนไหว”

บริบทเบื้องต้นของการถ่ายภาพ นั่นคือ “ภาพถ่ายต้องมีความคมชัด” แต่นักถ่ายภาพก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่นอกเหนือจากการถ่ายภาพให้ชัด ด้วยการพัฒนาการถ่ายภาพให้มีความสร้างสรรค์ที่มากยิ่งขึ้น ด้วยการผสมผสานความคมชัดของภาพถ่าย กับ ความไวชัตเตอร์ เกิดเป็นมิติใหม่ของการถ่ายภาพนั่นคือ “ภาพเคลื่อนไหว”…ศิลปะของการถ่ายภาพได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา กรรมการตัดสินภาพเอง… ก็ต้องมีพัฒนาการในการตัดสินภาพที่มากยิ่งขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพให้ชัด ก็ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพของภาพถ่าย…

ภาพไม่ชัด!!!…ภาพไหว!!!…

ผมก็ยังของยืนยันว่า… “ภาพถ่ายที่มีคุณภาพ คือ ภาพถ่ายที่คมชัด” นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ หลายคน พยายามถ่ายภาพในแนว Arts ด้วยความคิดที่ว่าเป็นภาพถ่ายแนวไหม่… ถ่ายให้ไม่ชัด ถ่ายให้ไหวๆ… ต้องขอบอกก่อนว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธภาพถ่ายในแนวสร้างสรรค์แบบนี้ แต่ถ้าลองพิจารณาภาพถ่าย ที่ประสบผลสำเร็จในแนวนี้ จะพบว่า เป็นภาพถ่ายที่ได้รับการสร้างสรรค์มาอย่างผู้เข้าใจในกระบวนการถ่ายภาพ ดังนั้นสิ่ง นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ก่อน น่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการถ่ายภาพในแนวสร้างสรรค์ได้มากยิ่งขึ้น…

สาเหตุของการถ่ายภาพไม่ชัด จุดสำคัญของการถ่ายภาพไม่ชัดในยุคดิจิตอลที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ มาจากจุดเริ่มต้นการถ่ายภาพแล้วดูจากจอของกล้องโดยไม่ได้ขยายตรวจสอบภาพถ่าย ถ้าดูแต่เพียงจอภาพขนาด 3 นิ้ว ของกล้อง จะรู้สึกว่าภาพถ่ายคมชัดแล้วแต่ถ้าจะให้แน่ใจในเรื่องความคมชัดของภาพสิ่งที่ควรทำ คือ การขยายภาพตรวจสอบดู ซึ่งจะเห็นความคมชัดของภาพได้ดีกว่า

ถ้าขยายภาพดูแล้วพบว่า ภาพถ่ายไม่คมชัด…ก็ต้องพิจารณาภาพถ่ายละครับว่า “เกิดจากสาเหตุอะไร” ถ้าถ่ายภาพแล้ว ภาพไม่ชัด เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ 

โฟกัสภาพไม่ชัด ปัญหานี้เป็นบ่อยยิ่งในยุคของกล้องที่เป็นระบบ Autofocus สิ่งสำคัญที่นักถ่ายภาพรุ่นใหม่มักจะหลงลืมในการขยายภาพตรวจสอบดูโดยให้ความไว้วางใจกับระบบ AF…จริงอยู่ที่ระบบ AF ของกล้องวันนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงโฟกัสได้แม่นยำ ซึ่งผมยังอยากจะบอกว่าแม่นกว่า Manual Focus เสียอีก สะดวกกว่าด้วย…แต่ระบบโฟกัสของกล้อง ก็ยังมีให้เลือกใช้หลายรูปแบบ รวมทั้งจุดโฟกัสและพื้นที่โฟกัส จนถึงการโฟกัสติดตามวัตถุ ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานอีกด้วยเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดในจุดที่ต้องการอีกด้วย

ภาพไหว เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพไม่ชัด สาเหตุนี้เกิดจาก… ประการแรกการถือกล้องไม่มั่นคงทำให้กล้องสั่นไหว  ประการต่อมา ก็คือ การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ทำให้ภาพสั่นไหว และประการสุดท้าย เกิดจากการที่วัตถุที่ถ่ายภาพมีการเคลื่อนที่ หรือเคลื่อนไหว อย่างรวดเร็ว บางครั้งยังเกิดจากทั้งความไวชัตเตอร์ต่ำร่วมกับการเคลื่อนที่ของวัตถุอย่างรวดเร็ว ผสมกันด้วย เทคโนโลยีวันนี้ผู้ผลิตกล้องและเลนส์ต่างก็พัฒนาระบบกันสั่น ซึ่งมีทั้งการติดตั้งระบบกันสั่นไว้ที่ตัวกล้องก็มี ติดไว้ที่ตัวเลนส์ก็มี ดังนั้นการถ่ายภาพ จึงต้องผสมผสานกัน ระหว่างนักถ่ายภาพและตัวกล้อง การใช้งานที่เหมาะสมจะช่วยให้ นักถ่ายภาพสามารถสร้างสรรค์ภาพได้ตามที่ต้องการ

การตรวจสอบขยายภาพ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แล้ววิเคราะห์ภาพถ่ายว่า  การที่ “ภาพไม่ชัด” เกิดจาก “โฟกัสไม่ชัด” หรือ “ภาพไหว” หรือ “มีสาเหตุจากโฟกัสไม่ชัดร่วมกับ ภาพไหว” ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ทุกท่านสามารถควบคุมการถ่ายภาพได้ตามต้องการ

ภาพเคลื่อนไหว

พัฒนาการถ่ายภาพ สร้างสรรค์ภาพก้าวไกล “ภาพเคลื่อนไหว” จึงได้รับการพัฒนาจากนักถ่ายภาพให้ภาพถ่ายมีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ให้ความรู้สึกร่วมกับภาพถ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาการถ่ายภาพร่วมกันทั้ง “ระบบโฟกัสภาพ และความไวชัตเตอร์” เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีทั้งการโฟกัสภาพที่แม่นยำ และจำกัดความไวชัตเตอร์ เพื่อให้ภาพมีความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวในเวลาเดียวกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญของภาพประเภทนี้ จึงอยู่ที่ภาพ “แม้ว่าภาพจะมีความไหว แต่ก็มีการโฟกัสที่วัตถุแม่นยำ” ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่สำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้

ถ่ายภาพความไวชัตเตอร์สูง การถ่ายภาพที่ความไวชัตเตอร์สูง มีข้อดีก็คือ สามารถใช้ความไวชัตเตอร์สูงในการจับการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ดี หยุดภาพการเคลื่อนไหวได้นิ่ง  เมื่อผสมผสานกับการโฟกัสที่แม่นยำ  สามารถจับภาพวัตถุได้คมชัด อย่างเช่นในภาพตัวอย่างการแข่งเรือ การใช้ความไวชัตเตอร์สูง ให้อารมณ์ของฝีพาย การกระเซ็นกระจายของหยดน้ำ ให้ความรู้สึกถึงความมุ่งมั่นได้ดี แต่หลายท่านก็อาจจะพบว่า ภาพมีความรู้สึกที่นิ่งเกินไป ความรู้สึกในด้านความรวดเร็ว การเคลื่อนที่ มันหายไป

ถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จากความรู้สึกที่ว่าภาพถ่ายที่ความไวชัตเตอร์สูงทำให้ภาพมีความรู้สึกที่นิ่ง นักถ่ายภาพที่เข้าใจในเรื่องของความไวชัตเตอร์ จึงได้พัฒนาการถ่ายภาพด้วยการใช้ความไวชัตเตอร์ที่ต่ำลงในการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับภาพถ่าย ได้เป็นภาพถ่ายที่ไหวๆ แต่ยังอยู่ในระยะโฟกัสภาพ เกิดเป็น “การถ่ายภาพเคลื่อนไหว”

การลดความไวชัตเตอร์ ลดเท่าไหร่ ควรใช้ความไวชัตเตอร์เท่าไหร่…นี่เป็นคำถามที่ได้รับการถามอยู่เสมอ ความเข้าใจในเรื่องความไวชัตเตอร์ ถือว่า เป็นบริบทสำคัญของการถ่ายภาพประเภทนี้… ซึ่งขึ้นกับความต้องการของนักถ่ายภาพ ต้องการให้ไหวมากไหวน้อย และยังขึ้นกับการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ของวัตถุอีกด้วย

การลดความไวชัตเตอร์ อย่างเช่น ในภาพตัวอย่าง การถ่ายภาพการแข่งเรือ ที่มีความรวดเร็วพอตัว ลองที่ความไวชัตเตอร์ 1/60 วินาที หรือ 1/30 วินาที จะเห็นว่าผลของภาพก็แตกต่างกันไป ไหวแตกต่างกัน  การกระเซ็นของน้ำจะเป็นเส้นแทนที่จะเป็นหยดน้ำ การพริ้วไหว ก็แตกต่างกัน 

การแพนกล้อง เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่นักถ่ายภาพผู้ชำนาญการได้นำมาใช้ร่วมกับการถ่ายภาพที่ความไวชัตเตอร์ต่ำ เพื่อให้ความรู้สึกของการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องเกิดขึ้นจากการฝึกหัด ทดลองถ่ายประสบการณ์ จะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถสร้างสรรค์ “ภาพเคลื่อนไหว” ได้ตามที่ใจนึก กับ วัตถุประเภทต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการถ่ายภาพกีฬาต่างๆ เช่นการแข่งรถ การแข่งเจ็ตสกี…ล้วนแล้วแต่ใช้เทคนิคนี้เป็นต้นแบบทั้งสิ้น

ลองดูซิครับ…แล้วท่านจะพบว่า…ท่านสามารถสร้างสรรค์ภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัดเลยทีเดียว…