เรื่อง+ภาพ : นพดล
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 167/2011 August
ในการเดินทางท่องเที่ยววันนี้ แทบทุกคนทุกหมู่ก็ว่าได้ต่างต้องนำกล้องถ่ายภาพติดตัว จะเป็นกล้องของตนเองหรือจะยืมมาใช้งานเพื่อจะไปเที่ยวก็ตาม เพื่อที่จะใช้เป็นกล้องสำหรับบันทึกการเดินทาง เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนยังสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ
การถ่ายภาพนั้นส่วนใหญ่ก็จะใช้บันทึกภาพของสถานที่ บันทึกความสนุกสนานของการท่องเที่ยว และสิ่งหนึ่งที่คนท่องเที่ยวหลายคนอยากจะถ่ายภาพก็คือ ภาพของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีชีวิตของแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นถ่ายภาพอย่างไร
ความจริงแล้ว ภาพวิถีชีวิตต่างๆ นั้นมีอยู่แล้วทุกแหล่งท่องเที่ยว เพียงสอดส่ายสายตามองดูทุกสองข้างทาง เราก็จะพบว่า ภาพวิถีชีวิตหลากหลาย มีให้พบเห็นอยู่เสมอ ใช้ความสังเกตสักนิด มองมุมภาพสักหน่อย โอกาสที่จะได้ภาพงามๆ ก็ไม่ยากเกินไป
ข้อที่ควรทำความเข้าใจก็คือ การถ่ายภาพในลักษณะเช่นนี้นั้น กล้องที่ติดเลนส์ซูมช่วงยาวหน่อย จะทำให้การถ่ายภาพดำเนินไปได้อย่างง่ายดายขึ้นโดยที่บุคคลที่จะถูกถ่ายภาพไม่ค่อยรู้ตัว แต่ถ้าเป็นกล้องที่ติดเลนส์ช่วงมุมกว้าง
แล้วละก็สิ่งหนึ่งที่ควรทำก็คือ มารยาทในการถ่ายภาพ การขออนุญาตถ่ายภาพด้วยความสุภาพเป็นสิ่งที่ควรทำ และส่วนใหญ่เราจะพบว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้ รูปข้างทาง ที่แสดงถึงวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของที่ที่คุณไปเที่ยวแล้วล่ะครับ
ภาพที่ 1 เป็นภาพที่ถ่ายจากการเดินเที่ยวในย่านโรงงานเก่าที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นย่านแสดงงานศิลปะอยู่ในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรูปหล่อโลหะ 2 รูป แต่แรกตั้งใจจะถ่ายภาพรูปหล่อโลหะ 2 รูป แต่เผอิญเห็นมีตำรวจรักษาการยืนอยู่ด้วย จึงถ่ายอีกภาพหนึ่งที่มีตำรวจยืนในลักษณะที่คล้ายกัน ล้อเลียนรูปหล่อโลหะติดมาด้วย นอกเหนือจากเป็นลักษณะที่ล้อเลียนแล้ว ยังสามารถแสดงถึงขนาดได้อีกด้วย
ภาพที่ 2 และ 3 เป็นภาพขอทานที่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว ที่ยังมีพบในจีน ในภาพที่ 2 นั้นแต่เดิมถ่ายภาพขอทานเดี่ยวๆ ซึ่งดูในภาพแล้วยังขาดอารมณ์ไปหน่อย จึงลองถ่ายอีกภาพหนึ่งที่รอให้มีผู้คนเดินผ่าน ก็ต้องใช้เวลาสักหน่อย และความพยายามอีกนิด เพื่อให้ส่วนของคนเดินผ่านไว้ทางมุมขวาโดยที่ไม่บดบังขอทานที่กำลังรอคอยการให้ทานของผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมา
สำหรับภาพที่ 3 เป็นภาพถ่ายอย่างทันทีทันใดที่พบเห็น ซึ่งแต่แรกไม่แน่ใจว่าจะได้ภาพที่พอดี แต่โชคช่วยที่ได้ภาพออกมาในจังหวะที่พอดีกับการมองมายังกล้องถ่ายภาพ
ภาพที่ 4 และภาพที่ 5 เป็นภาพขอทานอีกเหมือนกัน แต่ต่างจากภาพที่ 2 และภาพที่ 3 นั่นคือ เขาไม่ได้เป็นเพียงขอทาน แต่เป็นการขอที่มีการแสดงแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ทั้ง 2 ภาพนี้ เป็นชายพิการ ที่พยายามขอโดยการแสดงดนตรี และการเขียนอักขระ แม้จะเป็นชายพิการขอทาน แต่เขาขอด้วยการนำเสนอเป็นการตอบแทน
ภาพที่ 6 เป็นภาพชายขี่จักรยานบนถนนในจีนจักรยานสองล้อในอดีตนับเป็นพาหนะที่สำคัญและมีจำนวนที่พบเห็นได้มากมาย แต่ในปัจจุบันนี้ จักรยานสองล้อแบบถีบด้วยแรงคน แทบจะหาไม่เจอในเมืองใหญ่ๆ ที่พบเห็นดังในภาพ คันหนึ่งเป็นจักรยานยนต์ ที่พบได้บ้างแต่ไม่มากนัก ที่พบเห็นมากจะเป็นจักรยานคันที่ผู้ขับขี่กำลังโทรศัพท์อยู่ เป็นจักรยานไฟฟ้าใช้กำลังไฟฟ้าในการขับขี่ ไฟหมดก็สามารถชาร์ตไฟใหม่ได้ หรือจะใช้แรงงานถีบก็ได้ ลองสอบถามดูเขาว่า ชาร์ตไฟครั้งหนึ่ง ขับขี่ได้ประมาณ 50-60 กิโลเมตร
ภาพที่ 7 ภาพแมว นั่งอยู่บนหินสลักสิงโตจีน ภาพนี้ถ่ายง่าย แต่เสียเวลาหน่อยในการคอยจังหวะในการถ่ายภาพที่เสียเวลาก็คือ การรอจังหวะในการหันของแมว ซึ่งเหลียวไปมา บางจังหวะก็หันเข้ามาหากล้อง แต่รอจังหวะที่หันไปทางเดียวกับสิงโตหิน
ภาพข้างทาง เป็นภาพที่มีอยู่แล้วในการเดินทางไม่ว่าจะเป็นเดินทางท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเดินทางในบ้านเรา ภาพเหล่านี้ เป็นทั้งภาพการบันทึก และเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นภาพที่ไม่ยาก เพียงสังเกตสักนิดวางมุมภาพสักหน่อย คุณก็สามารถได้ภาพถ่ายที่มีคุณค่าได้ไม่ยากนักครับ