เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 173/2012 February
..แสงแดดยามบ่ายเริ่มเล็ดรอดผ่านพ้นเงาเมฆ แต่ความเย็นไม่ได้ลดลงเสียเท่าไหร่นัก ผมนั่งอยู่ริมขอบถนน บนอช. เขาใหญ่ กลางช่วงเวลาฤดูหนาวแบบนี้ อากาศค่อนข้างจะเย็นเยือก ลมพัดมาแต่ล่ะทีก็อดคาดเดาถึงอากาศที่เราจะเจอในค่ำคืนนี้ไม่ได้แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าผม ครอบครัวช้างป่าโขลงหนึ่ง ช้างป่า สัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สุดครอบครัวนี้ กำลังเปิดเผยตัวให้ผมและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาแถวนั้นได้พบกัน…
ผมขึ้นมาถ่ายภาพบนอุทยานฯ เขาใหญ่บ่อยครั้ง มีช่วงหลังมานี้ที่ห่างหายไปเสียนาน การได้มีโอกาสขึ้นมาอีกครั้งทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ระบบการจัดการพื้นที่จองเต็นท์ และก็เพิ่งจะรู้กับเขาเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้ถ้าจะมากางเต็นท์บนเขาใหญ่ ควรจองพื้นที่กางเต็นท์จากเวบไซด์ของกรมอุทยานฯ เสียก่อน แล้วถึงนำใบจองมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่โดยมากเจ้าหน้าที่ก็จะอนุโลมให้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำการจองแบบผม (เกือบไม่มีที่นอนแล้วเรา)
มาครั้งนี้ผมไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษนัก ตั้งใจว่าจะมาถ่ายภาพวิวยอดหญ้าเล่นตามเรื่องตามราว แต่ก็ต้องลบความคิดนั้นทิ้งไป เมื่อหลังจากทานข้าวกลางวันที่ร้านอาหารของที่ทำการฯขณะกำลังนำจานไปเก็บ ได้ยินเสียงคนคุยกันบอกว่าวันนี้ช้างออกเท่านั้นผมก็คว้ากล้องติดเลนส์ 80-400 มม. รีบวิ่งไปในทันที…
ผมมาถึงโป่ง พบครอบครัวช้างฝูงนี้ มีช้างอยู่ 6 ตัวด้วยกันตัวผู้ที่มีงาเสียด้วย และเจ้าตัวเล็กที่กำลังซน ตามองแนบบนวิวไฟน์เดอร์ จับโฟกัสไว้ที่ช้างตัวผู้ที่งากำลังสวยงามทีเดียว บันทึกภาพไปได้ 4-5 ช็อตอย่างไม่เร่งรีบอะไรนัก ผมพยายามที่จะไม่เข้าไปใกล้มากไปกว่านี้ ด้วยคิดว่าระยะเลนส์ที่มีอยู่คือ 80-400 มม. และ 135 มม. ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมว่าภาพสัตว์ป่าที่สวยงามควรจะเหลือพื้นที่ของป่าที่เป็นฉากหลังไว้บ้างก็ดีนะครับ การถ่ายเพื่อให้ใกล้ที่สุด บางครั้งอาจจะทำให้สัตว์ป่าตื่นตกใจได้ แทนที่จะได้ภาพดีๆ กลับกลายเป็นการรบกวนสัตว์ป่าเสียเปล่าๆ
ตามปกติช้างป่านั้นในฝูงมักจะมีพี่เลี้ยงที่คอยช่วยเลี้ยงดูลูกเล็กๆ อาจจะเป็นช้างพี่ที่โตแล้วช่วยทำหน้าที่เลี้ยงน้อง เพราะช้างเล็กๆ นั้นจะซนมาก อยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด ที่สำคัญ มักจะเป็นที่หมายปองของเสือ มีคนเล่าไว้ว่าสำหรับสัตว์ขนาดใหญ่อย่างช้างนั้น เสือคงจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่เสือจะใช้วิธีการตามไปเรื่อยๆ และหาโอกาสช่วงกลางคืน เข้ากัดบริเวณข้อเท้า ครั้งล่ะแผล ไปเรื่อยๆ คอยเฝ้าติดตามจนกระทั่งลูกช้างตัวนั้นเป็นแผลใหญ่ เริ่มอ่อนแรง จนล้มลง เสือก็จะเฝ้ารอจนแม่และพี่เลี้ยงยอมตัดใจจึงจะเข้ากัดกิน ซึ่งกว่าจะได้นั้นก็ไม่ใช่ง่ายๆ เลย เพราะแม่ช้างและพี่เลี้ยงนั้นจะคอยปกป้องลูกอย่างสุดชีวิตทีเดียว
โป่งบนเขาใหญ่ที่ช้างมักจะออกมาให้เห็นนั้น มักจะเป็นโป่งต้นไทร และโป่งชมรมเพื่อน สองโป่งนี้แหละที่มักจะได้พบเห็นช้างป่านอกไปจากการออกมาเดินริมถนน จะว่าไปแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามนะครับ การที่เราเข้าป่า และได้มีโอกาสเห็นช้างป่านั้นต้องนับว่าโชคดีมากๆ ช้างนั้นจะมีเส้นทางหากินเป็นประจำ โดยจะเป็นวงรอบ เมื่อครบปีก็กลับมาที่เดิมนั่นเอง ในฝูงนั้น ช้างตัวเมียจะเป็นผู้นำฝูงที่รู้และชำนาญในเส้นทางว่าต้องไปหาอาหารจากแหล่งใดช่วงเวลาใด ทางที่ช้างเดินนั้น สัตว์ต่างๆ มักจะมาอาศัยตามรอยไปด้วย เพราะผลพลอยได้คือ ทางด่านที่ช้างเดินล่วงหน้าไปก่อนนั้นจะไม่รก ยอดไม้ ใบไม้สูงต่างๆ จะถูกช้างดึง หักลงมา เป็นอาหารได้ และเมื่อถึงโป่ง ช้างมักจะขุดเอาดินด้านล่างขึ้นมาไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ ได้กินง่ายขึ้น นับว่าสมกับความเป็นพี่ใหญ่ในป่าจริงๆ
ความฉลาดของช้างที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่กินน้ำในห้วย มักจะชอบขุดหลุมเล็กๆ ริมห้วยเอาไว้ ให้น้ำค่อยๆ ซึมผ่านเข้ามาแล้วน้ำในหลุมนั้นจะใสสะอาด นับว่าเป็นวิธีกรองน้ำที่น่าสนใจทีเดียว
แสงในเวลาบ่ายแก่ๆ เกือบจะเย็นเช่นนี้นั้น สวยงามมาก แสงสีส้มส่องลงบนผิวที่ขรุขระของช้าง และตามพื้นหญ้าสร้างความน่าประทับใจ ผมถ่ายภาพไปเป็นร้อยภาพแล้ว โดยเลือกจับจังหวะ อากัปกิริยาท่าทางต่างๆ ซึ่งช้างนั้นไม่ได้อยู่นิ่งหรอกครับโดยเฉพาะการสะบัดงวง หรือการไล่ต้อนเจ้าตัวเล็ก และในบางครั้ง ทั้งหมดก็มายืนรวมตัวเรียงกันกินดินโป่งเหมือนมาเข้าแถวให้ถ่ายภาพเลย
เพื่อจะบันทึกความงดงามเหล่านี้ไว้ให้ได้มากที่สุด หลังจากที่นานๆ ทีจะออกมาโชว์ตัว (จริงๆ แล้วมากินดินโป่ง) ร่วมสามชั่วโมงช้างป่าฝูงนี้ก็เดินหายเข้าชายป่าไป คิดถึงช้างป่าที่อยู่ในเขตป่าต่างๆ แต่ก่อนนี้พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะติดกัน เป็นผืนป่ากว้างใหญ่ที่ช้างสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ แต่เวลานี้ช้างไม่มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างป่าแล้ว เส้นทางของช้างถูกปิดกั้นและตัดขาดไม่ว่าจะจากการสร้างถนน สร้างเขื่อน หรือขยายพื้นที่ทางการเกษตร ผืนป่าต่างๆ ในเมืองไทยจึงมีสภาพเป็นเกาะ เราจึงมักได้ยินข่าวเกี่ยวกับช้างบุกรุกพื้นที่ทำกินชาวบ้านบ้าง หรือช้างที่ออกมาเดินตามถนนอย่างบนเขาใหญ่ ออกมาเดินบนถนนบนอุทยานฯ นั้นคงไม่เท่าไหร่นอกจากเสี่ยงกับรถที่ขับเร็วๆ แต่ออกมาเดินบนถนนเพื่อขายกล้วยอ้อยกับควาญช้างนั้นน่าเป็นห่วงมากกว่านะครับ
เห็นข่าวเหตุสลดยิงและเผานั่งยางช้างป่าเพื่อเอางาที่ป่าแก่งกระจานแล้วก็อดเศร้าใจ และหดหู่ใจไม่ได้
สัตว์ป่าที่ถูกฆ่าโดยสัตว์ป่า จะเป็นการกินกันเป็นทอดๆ ตามห่วงโซ่อาหาร คือความสมดุลของระบบนิเวศ เช่นกัน กับการทำมาหากินของชาวบ้านในสมัยก่อน ที่เข้าป่าล่าสัตว์ก็เพื่อความอยู่รอดของชีวิต คงเป็นเรื่องยากที่ ความสำคัญต่างๆ ในธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ถ้าในเมื่อท้องหิว แต่สิ่งที่แปลกก็คือคนเมืองที่มีทางเลือกมากมายในการดำรงชีพ กลับใช้ซากของสัตว์ป่าในการสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง ทำให้บางคนหลงลืมไปว่าเมื่อธรรมชาติหมดไป เราก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน อยากให้ทุกคนรักและเคารพในสิทธิของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเราต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันบนโลกใบนี้ครับ
แสงยามเย็นใกล้จะหมดไปแล้วพร้อมกับช้างป่าฝูงนี้ที่เดินหายเข้าป่าไป ผมเก็บกล้องและขาตั้งลุกขึ้นยืน ลมเย็นพัดมาทำให้ร่างกายรับรู้ถึงความหนาว ความหนาวที่ปะปนมาด้วยความแห้งแล้ง ที่ “ป่า” กำลังจะบอกอะไรบางอย่างกับพวกเรา…
“สัตว์ป่า คงอยู่ไม่ได้ หากไม่มี ‘บ้าน’ อันหมายถึงป่าใหญ่ และป่าใหญ่จะไม่สมบรูณ์หากไร้ซึ่งสัตว์ป่าอดีตอันเป็นความสมบรูณ์ของผืนป่า และการทำลายล้างสัตว์ป่าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและต่อไป ทำให้เราเริ่มรู้ว่าบทสุดท้ายของสัตว์ป่ามาถึงแล้ว และบทแรกของความหายนะกำลังเริ่มต้น” (บนเส้นทางของการค้นหา: ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ)
โป่งต้นไทร เป็นโป่งขนาดไม่ใหญ่นักอยู่ริมถนนทางด้านขวามือที่ ก.ม. 36 ถนนธนะรัชต์ ก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ รอบๆ บริเวณโป่งมีต้นไม้ขึ้นอยู่ร่มครึ้ม ส่วนมากเป็นต้นปอหูช้างและใกล้ๆ กับโป่งมีต้นไทรขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง โป่งแห่งนี้ถึงได้ชื่อว่าโป่งต้นไทร สัตว์ป่าที่ออกมากินโป่งแห่งนี้ส่วนมากเป็นอีเก้ง กวาง และช้าง ถ้าเราลงไปดูรอยที่โป่งมักจะพบแต่รอยเท้าของสัตว์เหล่านี้เสมอ นอกจากนี้แล้วบริเวณนี้ยังมีฝูงลิงกังฝูงหนึ่งที่มักมาหากินลูกไม้ ใบไม้อยู่เสมอๆ มันจะเคลื่อนย้ายฝูงข้ามลำตะคองและข้ามถนนผ่านบริเวณโป่งต้นไทรเพื่อหาแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ
โป่งชมรมเพื่อน เป็นโป่งเทียมที่ทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 นี้เอง ขนาดของโป่งเป็นโป่งขนาดเล็ก มีสัตว์ป่าจำพวกกวาง เก้ง ช้างออกมากิน โป่งแห่งนี้อยู่ในทุ่งหญ้าขวามือของถนนธนะรัชต์ ที่ ก.ม. 35