เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 196/2014 January
จะเข้าสูฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นสบาย ทำให้อยากออกไปถ่ายภาพสวยๆ มาเก็บไว้นะครับ ในช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้าจะสดใสถ่ายภาพได้สวย ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกดวงโตๆ ท้องฟ้าเปลี่ยนสี และอีกสารพัดอย่างที่รอให้เราถ่ายรูป ยอดภูยอดดอยต่างก็ถูกจับจองพื้นที่เพื่อไปถ่ายภาพกัน และเมื่อท้องฟ้ามืดมิดลงแล้ว หลายคนเก็บกล้องถ่ายภาพเข้ากระเป๋า เตรียมตัวเข้าที่พัก หรือเต็นท์ซุกตัวเข้าผ้าห่มหนีอากาศที่หนาวเย็น โดยลืมไปว่ายังมีอะไรให้ถ่ายภาพกันอยู่นั่นก็คือดวงดาวบนท้องฟ้านั่นเอง
ในฤดูหนาวนั้น นับว่าเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพดาว ด้วยท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งไร้เมฆฝน แม้ในบางคืนจะมีแสงจันทร์รบกวน แต่โดยรวมแล้วนับว่าเหมาะแก่การถ่ายภาพดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นที่สุดครับ และในครั้งนี้ผมมีเทคนิคการถ่ายภาพดาวมาฝากทุกๆ คนครับ
ในการถ่ายภาพดาวนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีเลยก็คือ 1.กล้องถ่ายภาพ 2.ขาตั้งกล้อง 3.รีโมทสำหรับกดชัตเตอร์ 4.ผ้าหรือพลาสติกสำหรับคลุมกล้อง 5.แผนที่ดาว 6.ไฟฉาย 7.เสื้อกันหนาว (หมวก.ผ้าพันคอ)
ก่อนที่เราจะถ่ายภาพดาวนั้น เราควรศึกษาข้อมูลเสียก่อน เช่น สภาพอากาศในคืนที่เราจะถ่ายภาพดาว คืนนั้นจะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อะไรบ้างหรือไม่ เช่น ฝนดาวตกหรือดาวหาง มีแสงจันทร์รบกวน หรือว่าดวงจันทร์ขึ้นและตกเวลาใด เป็นพระจันทร์ข้างขึ้นหรือข้างแรม ข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้จากในเวบไซด์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ
การที่เรารู้ข้อมูลล่วงหน้าจะทำให้เราวางแผนการถ่ายภาพดาวได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คืนวันที่ 12-13 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ผมมีกำหนดการไปถ่ายภาพที่อุทยานฯเขาใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลในเวบฯ ดาราศาสตร์บอกไว้ว่า คืนนั้นจะมีฝนดาวตกในกลุ่มดาวคนคู่ แต่จะมีแสงจันทร์รบกวน ดังนั้นการวางแผนถ่ายภาพของผมคือ ถ่ายภาพในช่วงเวลาหลังตีสาม เพราะดวงจันทร์ได้ตกไปแล้ว จะมองเห็นดาวได้ชัดเจนกว่า และหันกล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นทิศทางที่มีกลุ่มดาวคนคู่อยู่ เพื่อจะมีโอกาสบันทึกภาพดาวตกติดเข้ามาในเฟรมภาพด้วย
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพดาวนั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า การถ่ายภาพดาวนั้นเราจะถ่ายภาพอะไรบ้างในการถ่ายภาพดาว ภาพที่เราจะได้ก็จะมี ภาพดาวในลักษณะที่เห็นดาวเป็นดวงๆ และกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้า, ภาพดาวที่เห็นการเคลื่อนที่ของดาวเป็นเส้นยาวๆ แบบ Stars Trails และภาพปรากฏการณ์บนท้องฟ้าต่างๆ เช่น ดาวตกหรือดาวหาง
เทคนิคการถ่ายภาพดาวในลักษณะที่เห็นดาวเป็นดวงๆ และกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้านั้น สิ่งแรกคือการตั้งค่ากล้อง แนะนำว่าให้เลือกโหมดถ่ายภาพแบบ M หรือแมนนวล F-stop ให้ใช้กว้างสุดของเลนส์ ส่วน Shutterspeed นั้นเราจะใช้กฎ 400/600 (ขอขอบคุณ คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโสสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้คิดกฎนี้ขึ้นมา) โดยกฎ 400/600 นี้จะใช้ในการหาค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพดาวให้เป็นดวง ไม่ให้ยืดเป็นเส้น
เรามาทำความเข้าใจกันก่อน โลกของเรานั้นหมุนรอบตัวเองและในขณะเดียวกันก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ เท่ากับ 360 องศา ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น 24 ชั่วโมง ตำแหน่งของดาวเปลี่ยนแปลงไป 360 องศา
ถ้า 1 ชั่วโมง ตำแหน่งของดาวเปลี่ยนแปลง = 360 / 24 = 15 องศาและถ้า 1 นาที ตำแหน่งของดาวเปลี่ยนแปลง = 15 / 60 = 0.25 องศา นั่นหมายความว่าดวงดาวที่เราคิดว่าอยู่นิ่งๆ นั้น แท้จริงแล้วมีการเคลื่อนที่เช่นกัน ซึ่งถ้าเราเปิดชัตเตอร์เป็นเวลานานก็จะส่งผลให้ดาวของเราเป็นเส้นเหมือนที่เราเคยถ่ายภาพดาวในระบบฟิล์มนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้ไม่เกิน 30 วินาที เพื่อให้ได้ดวงดาวในลักษณะที่พอรับได้ไม่ยืดมาเกินไป หรือใช้กฎ 400/600 ในการคำนวณหาความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะ
การใช้กฎ 400/600 นั้นก็คือว่าหากใช้กล้องแบบ Full Frame ก็เอา 600 ไปหารทางยาวโฟกัสเลนส์ แต่หากใช้กล้องแบบ APS-C ก็เอา 400 ไปหารทางยาวโฟกัสเลนส์ที่ใช้ เช่นใช้กล้องถ่ายภาพ Nikon D600 ซึ่งเป็นกล้องฟลูเฟรม ใช้เลนส์ 24-70 ที่ช่วง 24 มม. ก็จะเป็น 600/24 = 25 วินาที เป็นค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่จะถ่ายภาพดาวไม่ให้ยืดเป็นเส้น อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าใช้กล้อง Nikon D7100 ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ใช้เลนส์ 24-70 ที่ 24 มม. ก็จะเป็น 400/24 = 16.7 วินาที เมื่อได้ค่า F-stop ค่า Shutterspeed แล้วค่า ISO คือค่าต่อไปที่เราต้องตั้งกัน โดยปกติแล้ว จะใช้ค่า ISO ที่สูงในการถ่ายภาพดาว โดยส่วนมากจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1600 ไปจนถึง 3200 หรือ 6400 ขึ้นอยู่กับความสว่างของท้องฟ้าในแต่ละคืน การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ให้ใช้ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้)
สำหรับการถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของดาว ที่เป็นเส้นยาวๆ นั้น แต่เดิมในการถ่ายภาพระบบฟิล์มเราใช้การเปิดชัตเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อบันทึกการเคลื่อนที่ของดาว แต่มาในยุคดิจิตอลนี้ถ้าเราใช้การถ่ายภาพแบบเดิมนั้นเซ็นเซอร์ของกล้องจะเกิดความร้อนขึ้น และแบตเตอรี่กล้องก็จะหมดเร็วกว่าปกติ เพื่อป้องกันความเสียหายของเซ็นเซอร์กล้อง และเป็นการประหยัดพลังงานของแบตเตอรี่ เราจึงใช้การถ่ายภาพหลายๆ ภาพและนำมารวมกันด้วยซอฟแวร์ เป็นวิธีที่เราเรียกกันว่าการถ่ายภาพดาวแบบ Stars Trails
การถ่ายภาพดาวแบบ Stars Trails เป็นวิธีการถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นจำนวนมากๆ ให้เป็นเส้นยาว อย่างงที่บอกไปแต่แรกในเวลา 1 ชั่วโมง ดาวจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 องศา ซึ่งตำแหน่งและทิศทางที่เป็นที่นิยมการถ่ายกันมากที่สุดคือ การถ่ายภาพเส้นดาวทางทิศเหนือ เนื่องจากดาวดวงอื่นๆ จะเคลื่อนที่หมุนรอบดาวเหนือเป็นวงกลม
การเคลื่อนที่ของเส้นดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนเป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเป็นแนวแกนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆ ดาวเหนือ แต่ถ้าหากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง
ในการถ่ายภาพให้ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง เลือกมุมภาพโดยหันกล้องไปในมุมที่ต้องการ ถ้าอยากได้ดาวหมุนเป็นวงกลมก็คือทางตำแหน่งของดาวเหนือ ถ้าอยากได้เป็นเส้นขวางก็หันทางเฉียงตะวันตกหรือตะวันออก ตั้งค่ากล้อง โดยมากจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 30 วินาที F-stop ผมชอบใช้ประมาณ 4 (เพราะถ้ากว้างสุดของเลนส์แล้วมักจะได้เส้นดาวที่สว่างมากเกินไป ถ้าใช้มากกว่านั้นก็มักจะได้เส้นดาวที่เล็กเกินไป ทั้งนี้ให้ทดลองถ่ายภาพดูก่อนว่าได้ดาวที่เป็นจุดนั้นสว่างเพียงพอหรือยัง ค่า ISO เนื่องจากว่าเราถ่ายภาพจำนวนหลายๆภาพ ไม่ได้เปิดชัตเตอร์เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นสามารถตั้งค่า ISO สูงได้ ตั้งแต่ 400-1600 หรือมากกว่านั้น เมื่อปรับค่า Shutterspeed F-stop และ ISO แล้วให้ทดลองถ่ายภาพดูก่อนว่าได้ภาพดวงดาวเป็นที่พอใจหรือไม่ เพราะสภาพแสงโดยเฉพาะที่ฉากหน้าของแต่ละสถานที่นั้นแตกต่างกัน เมื่อได้ภาพแรกที่เราพอใจแล้ว ให้เปิดโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง ถ่ายภาพต่อเนื่องตามที่เราต้องการให้เส้นดาวยาวเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เราถ่ายภาพ ภาพละ 30 วินาที 2 ภาพคือ 1 นาที ถ้าต้องการบันทึกการเคลื่อนที่ของดาว 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที เท่ากับต้องถ่ายภาพทั้งหมด 120 ภาพนั่นเอง ภาพในส่วนนี้เราเรียกว่า Light frame
หลังจากที่เราถ่ายภาพจนครบจำนวนภาพที่ต้องการแล้ว เราต้องทำการถ่ายภาพ Dark Frame เพื่อเอาไว้ทำการลด Noise โดยการปิดฝาหน้าเลนส์แล้วถ่ายภาพด้วยค่าปรับกล้องต่างๆ เท่าเดิมจำนวน ประมาณ 10-20 ภาพถ้าต้องการลดสัญญาณรบกวนให้หมดก็อาจจะต้องใช้จำนวนมากกว่านี้ เราเรียกการลดสัญญาณรบกวนในลักษณะนี้ว่า Dark Frame Subtraction ซึ่งจะใช้กับการถ่ายภาพ Long Exposure
เมื่อได้ภาพดาวที่เราถ่ายมาแล้วทั้ง Light frame และ Dark Frame เราจะนำมารวมภาพด้วยโปรแกรมซึ่งมีโปรแกรมรวมภาพหลายโปรแกรมด้วยกัน ผมใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Startrails V.2.3 โหลดได้จากเวบนี้ครับ http://startrails.de/html/software.html เมื่อติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว ก็เปิดไฟล์ภาพ Light frame ที่ถ่ายไว้ทั้งหมดออกมา โดยคลิกที่ไอคอน open image จากนั้นคลิกที่ไอคอน open darkframes เพื่อเปิดภาพ Dark Frame ที่เราถ่ายมาทั้งหมด จากนั้นคลิกที่ไอคอน Startrails โปรแกรมจะจัดการไฟล์ภาพให้ทั้งหมด เราแค่รอให้โปรแกรมทำงาน เสร็จแล้ว save ภาพ โดยคลิก File / Save image เราก็จะได้ภาพดาวแบบ Stars Trails แล้วครับ
เคล็ดลับในการถ่ายภาพดาวนั้น การตั้งค่า WB ที่ 3200-4200 จะทำให้ได้ท้องฟ้าที่มีสีออกไปทางฟ้าน้ำเงิน จะช่วยเสริมอารมณ์ของภาพท้องฟ้าที่ดีกว่าการตั้งค่า WB อื่น และสำหรับกล้องถ่ายภาพที่มีระบบตั้งถ่ายภาพล่วงหน้า ควรตั้งให้เวลาเหลื่อมออกไปอีกเล็กน้อย เช่น ถ่ายภาพ 30 วินาที ทุก 33 วินาที 0.3 วินาทีที่เกินมานั้นเอาไว้สำหรับหน่วงเวลาส่วนต่างของแต่ละภาพนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีการใช้รีโมทกดชัตเตอร์ทีละภาพก็ไมได้ยากอะไรนักสำคัญคือห้ามเว้นช่วงเวลาในการถ่ายภาพ แต่ให้ถ่ายภาพทีละภาพต่อเนื่องกันไปจนครบเวลาที่เรากำหนดไว้เพื่อเส้นดาวที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดช่วง ส่วนอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายเสื้อกันหนาวและผ้าพันคอนั้น ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่าเอาไว้ทำอะไร…