เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 213/2015 June

บทที่ 15 เทากลาง

โดยธรรมชาติเครื่องวัดแสงจะไม่รู้ว่าวัตถุที่วัดแสงนั้นเป็นวัตถุสีอะไรและเป็นวัตถุอะไร บอกได้แต่เพียงว่า ปริมาณแสงที่ตกลงบนเครื่องวัดแสงมีปริมาณเท่าใดแค่นั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้สร้างที่จะต้องกำหนดมาตรฐานการทำงานของเครื่องวัดแสงออกมาว่า จะให้ปริมาณแสงที่วัดแสงแปรออกมาเป็นค่าความเร็วชัตเตอร์และช่องรับแสงเท่าไร ซึ่งจะมีผลโดยตรงกับสีของภาพที่จะเกิดขึ้น สมมติว่าผมสร้างเครื่องวัดแสงโดยกำหนดให้ปริมาณแสงที่วัดได้เมื่อนำไปใช้ถ่ายภาพแล้วได้ภาพเป็นสีขาว L95 (ใช้ค่า Lightness) นั้นหมายถึงว่า เมื่อผมใช้เครื่องวัดแสงตัวนี้วัดแสงจะได้ภาพเป็นสีขาวเสมอ ไปวัดดอกไม้สีแดงก็จะได้ภาพเป็นสีแดงซีด วัดสีเทากลายเป็นขาว วัดสีดำกลางเป็นขาว วัดสีเขียวจะกลายเป็นสีเขียวซีด เป็นต้น เมื่อใช้เครื่องวัดแสงตัวนี้ จำเป็นที่จะต้องวัดแสงจากวัตถุสีขาวเท่านั้นจึงจะได้ภาพที่ถูกต้องคือ วัตถุขาว ถ่ายภาพได้สีขาว

ในอีกทางหนึ่ง หากผมสร้างเครื่องวัดแสงให้ค่าที่วัดได้ถ่ายภาพเป็นสีดำ L 5 เวลาใช้งานจะได้ภาพสีดำไม่ว่าจะถ่ายภาพจากวัตถุสีอะไรก็ตาม ถ่ายภาพดอกไม้สีแดงกลายเป็นแดงดำ เขียวเป็นเขียวดำ ขาวกลายเป็นดำ เทากลายเป็นดำ  การใช้งานที่ถูกต้องจึงต้องไปวัดแสงที่ส่วนดำในภาพจึงจะได้ภาพที่ถูกต้อง

ในการถ่ายภาพจริงนั้น วัตถุที่เราถ่ายภาพไม่ได้มีสีเดียวเหมือนกระดาษโปสเตอร์ มีสีขาว สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว สีฟ้า มีโทนมืด โทนสว่าง แดดออก ไม่โดนแดด ในร่มเงา ในเงามืด มีความแตกต่างของแสงมากมาย ภาพส่วนใหญ่ที่เราถ่ายกันจะมีสีในโทนกลาง ดังนั้นจึงต้องหาค่ากลางของสีที่ใช้งานได้หลากหลายที่สุด ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสีเทา แต่จะเป็นเทาอะไรนั้นจะต้องคิดขึ้นมา

เวลาที่เราถ่ายภาพจริงนั้น จะมีความหลากหลายของสีและความสว่างสูงมากๆ มือใหม่แทบจะไม่มีทางรู้เลยว่า อะไรคือส่วนขาว ส่วนเทากลาง และส่วนมืดที่แท้จริงในภาพ

มีการทดลองนำวัตถุสีดำที่สุดกับขาวที่สุดมาวางเอาไว้ในภาพเดียวกันได้รับแสงจากแหล่งกำเนิดแสงเดียวกัน (เช่นเอาถ่านไม้สีดำไปวางกลางหิมะ) จากนั้นลองวัดค่าการสะท้อนแสงของวัตถุทั้งสองชิ้นนี้ พบว่า วัตถุสีขาวมีค่าการสะท้อนแสงอยู่ประมาณ 90% (ในโลกนี้ไม่มีอะไรสะท้อนแสง 100.00%) ส่วนวัตถุสีดำสะท้อนแสงประมาณ 3.8% (ในโลกนี้ไม่มีวัตถุใดสะท้อนแสง 0.00%) ค่ากลางระหว่างสีขาว 90% กับ ดำ 3.8% คือ เทา 18% ที่เป็น 18% แทนที่จะเป็น 46.9 เป็นเพราะฟิล์มถ่ายภาพจะมีสีเข้มขึ้น 1 เท่าทุกๆ ค่าแสงที่เปลี่ยนไป 2 เท่า หรือพูดภาษาคณิตศาสตร์ว่า การตอบสนองของฟิล์มต่อแสงเป็นลักษณะทวีคูณหรือเป็นแบบ Logarithm ฐาน 2

กึ่งกลางของค่าการสะท้อนแสงวัตถุในกราฟของฟิล์ม อยู่ที่ 18% ส่วนดิจิตอลก็เลียนแบบการทำงานของฟิล์ม

เมื่อถ่ายภาพตามแสง วัตถุทั้งหมดได้รับแสงจากแหล่งเดียวกัน หากวัดแสงไม่ผิดพลาดจะปรากฏรายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่ส่วนขาวไปยังส่วนดำของภาพ

สีเทา 18% ถือเป็นค่ากลางสำหรับการวัดแสง  หมายถึง เราจะวัดแสงที่สีเทา 18% และได้ภาพเป็นสีเทา 18% ในการใช้งานจริง วัตถุโดยเฉลี่ยในภาพจะใกล้เคียงสีเทาอยู่แล้ว  เวลานำไปใช้งานจึงสะดวกและมีความผิดพลาดต่ำ สังเกตได้ว่าภาพที่เราถ่ายทั่วไปจะมีสีสันค่อนข้างดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องปรับแต่งค่าแสง ยกเว้นบางภาพที่มีส่วนขาวจัดหรือดำจัดในภาพเท่านั้นที่มีปัญหา

โดยลักษณะทั่วไป ภาพที่ถ่ายมักมีส่วนขาวหรือดำไม่มากนัก วัตถุส่วนใหญ่อยู่โทนกลาง การวัดแสงจากภาพเฉลี่ยจึงใกล้กับสีเทากลางอยู่แล้ว

ลักษณะภาพที่มีปัญหามักเป็นภาพทีมีส่วนสว่างพื้นที่มาก หรือมีส่วนดำค่อนข้างมาก จะทำให้การวัดแสงต้องปรับเปลี่ยน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสีเทากลางแบบภาพปกติ

หลักการของสีเทากลางมีข้อจำกัดในการถ่ายภาพวัตถุขาวและดำ มีส่วนสว่างหรือมืดในภาพมากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งจริงๆ ไม่ว่าจะสร้างเครื่องวัดแสงโดยใช้สีอะไรก็ย่อมจะมีข้อจำกัดทั้งนั้น เช่น สร้างให้ได้ภาพเป็นสีขาวก็ต้องวัดจากวัตถุขาว สร้างให้ได้ภาพสีดำก็ต้องวัดจากวัตถุดำ ซึ่งในการใช้งานจริงจะไม่สะดวกมากๆ หากท่านอยากรู้ว่า หากเครื่องวัดแสงสร้างเพื่อให้ได้ภาพสีขาวจะเป็นอย่างไร และใช้งานยากขนาดไหน สามารถทดสอบได้โดยการเปิดชดเชยแสง +2.3 stop ค้างเอาไว้ เครื่องวัดแสงจะกลายเป็นขาว 90% แทนที่เทา 18% ทันที หากอยากลองสีดำทำได้โดยการชดเชยแสงที่กล้องค้างไว้ที่ -2.3 stop เครื่องวัดแสงจะกลายเป็นดำ 3.8% ทันทีเช่นกัน

หลักการของเทากลางแบบง่ายๆ คือ กล้องจะปรับสีภาพโดยเฉลี่ยให้เป็นเทากลาง เมื่อถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวมากๆ สีของภาพจะมืดลงกว่าที่ควรจะเป็น ซ้ายคือภาพจากระบบวัดแสงสะท้อนแบบเฉลี่ยหนักกลาง ส่วนขวาได้จากการชดเชยแสงเพิ่มขึ้น

เมื่อถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวมากๆ สีของภาพจะสว่างกว่าที่ควรจะเป็น ซ้ายคือภาพจากระบบวัดแสงสะท้อนแบบเฉลี่ยหนักกลาง ส่วนขวาได้จากการชดเชยแสงลดลง

หลักการของเทากลางเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้เรื่องการวัดแสงแบบสะท้อนและเครื่องวัดแสงในตัวกล้อง  รวมถึงเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้เรื่องของการควบคุมโทนสี Tone Reproduction ซึ่งหลายคนเคยได้ยินในชื่อของ Zone System (Zone System เป็นส่วนหนึ่งของ Tone Reproduction)

หลักการของเทากลางนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การวัดแสงจากส่วนเทาเพียงอย่างเดียว เราแค่ใช้เทากลางเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดค่าวัดแสงเท่านั้น เช่น เมื่อวัดแสงจากตุ๊กตาสีขาวเราจะรู้ล่วงหน้าว่าตุ๊กตาจะออกมาเป็นสีเทากลางตามหลักการ เราสามารถชดเชยแสงดักไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ตุ๊กตาเป็นสีขาวได้ทันที และสามารถเลือกได้ว่าจะให้ตุ๊กตานั้นขาวเท่าไร โดยการปรับแต่งค่าเปิดรับแสงไปที่ Over 0.5, 1, 1.5, 2 หรืออื่นๆ แล้วแต่ความขาวที่ต้องการ ซึ่งเราสามารถทราบโทนสีที่เกิดขึ้นได้โดยการดูจากกราฟ Histogram หรือ Characteristic Curve ของกล้องที่เราใช้ (ได้มาจากการทดสอบดังเคยเขียนไปในตอนต้นเรื่อง) ในทางกลับกัน หากเราวัดแสงจากวัตถุสีเข้ม เราจะรู้ล่วงหน้าว่าวัตถุสีเข้มนั้นจะกลายเป็นเทากลาง สามารถปรับแต่งค่าแสงไปทางอันเดอร์เพื่อให้วัตถุนั้นกลายเป็นสีเข้มเฉดต่างๆ ได้ หรือจะให้กลายเป็นวัตถุสีขาวก็ยังได้โดยการปรับแสงไปทางโอเวอร์ (เรื่อง Histigram จะได้ยกมาเขียนเป็นเรื่องแยกต่างหากอีก 1 เรื่องหลังจากนี้)

กราฟ Histogram ใช้หลักการเดียวกับ Curve แสดงผลที่หลังกล้อง สามารถใช้ดูโทนของภาพที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับ Curve

กราฟ Histogram จะแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะภาพที่ถ่าย หากอ่านค่ากราฟนี้ได้ก็จะสามารถคุมสีได้แม่นยำยิ่งขึ้น

หลักการเทากลางถูกนำไปใช้งานในเครื่องวัดแสงสำหรับการถ่ายภาพทุกตัว ความแตกต่างในรายละเอียดอาจจะมีบ้างเล็กน้อย เช่น บางยี่ห้อใช้หลัก 18% บางยี่ห้อใช้ 14% ส่วนบางรายใช้ 12% มาตรฐานที่แตกต่างกันจะทำให้ภาพที่ออกมาแตกต่างกันเล็กน้อยด้วย เช่น หลัก 12% จะได้ภาพสีเข้มกว่า 18% แต่ว่าจะเป็นเท่าไรนั้นไม่ได้มีความสำคัญมากมายนักหากผู้ใช้ดูกราฟ Histogram หรือทดสอบ Curve ของกล้อง

เครื่องวัดแสงมือถือใช้หลักของเทากลางด้วยเช่นกัน โดยโดมทรงกลมครึ่งซีกหน้าเซลวัดแสง (Lumisphere) จะกรองแสงให้ผ่านได้แค่ 18% ดังนั้นจึงเป็นการวัดแสงจากเทา 18% ตลอดเวลา เครื่องวัดแสงมือถือแบบตกกระทบจึงวัดแสงได้แม่นยำโดยสีของวัตถุในภาพไม่มีผลต่อค่าแสง

 

กระดาษสีเทา 18%

มีการผลิตกระดาษสีเทา 18% เพื่อใช้กับเครื่องวัดแสงแบบสะท้อนเพื่อให้ได้ผลแบบเดียวกับเครื่องวัดแสงตกกระทบซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพชั้นนำ การใช้งานต้องเอากระดาษไปวางไว้หน้าวัตถุที่จะถ่ายภาพโดยหันมุมเข้าหากล้อง การตั้งมุมกระดาษผิดจะทำให้ค่าเปิดรับแสงผิดไปด้วย การใช้งานจะไม่ค่อยสะดวกนักเพราะต้องไปวางไว้ในวัตถุที่ถ่ายภาพ และยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานของกระดาษเทาอีกด้วย กระดาษเทา 18% จะต้องมีค่าสะท้อนแสง 18% พอดี และต้องเป็นสีเทาจริงๆ เมื่อใช้เครื่องวัดสีจะต้องได้ค่า RGB เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการผลิต ทำให้กระดาษมีราคาสูง ทั้งยังพกพาได้ยากอีกด้วย หากกระดาษเลอะหรือเปลี่ยนสีจะใช้งานได้แต่ไม่มาตรฐานอีกต่อไป โดยรวมแล้วผมไม่แนะนำกระดาษเทา 18% ควรเรียนรู้เรื่องเทากลางและฝึกชดเชยแสงจะได้ประโยชน์มากกว่า

Grey Card เป็นสีเทาที่มีค่าการสะท้อนแสง 18% ในทุกช่วงคลื่นและสีไม่เพี้ยนไม่ว่าจะอยู่ในแสง Visible Light แบบใดก็ตาม (Non Metamerism) เวลาใช้งานจะวางไว้หน้าวัตถุแล้ววัดแสงที่สะท้อนออกมา

Grey Card รุ่นพิเศษสำหรับสร้าง Exposure Profile ของ Sekonic  ใช้ร่วมกับเครื่องวัดแสงเฉพาะรุ่นมืออาชีพของ Sekonic โดยเฉพาะ