เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 212/2015 May
บทที่ 12 ระบบวัดแสงสะท้อนและตกกระทบ
โดยทั่วไปเราจะถ่ายภาพได้ต่อเมื่อมีแสงตกกระทบไปยังวัตถุ หรือวัตถุนั้นสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง เช่น หลอดไฟ แต่ส่วนมากวัตถุที่เราถ่ายภาพจะต้องอาศัยแหล่งกำเนิดแสงส่องแสงไปยังวัตถุ แล้ววัตถุนั้นจะสะท้อนแสงมายังเลนส์ ไปตกยังเซ็นเซอร์รับภาพอีกทอดหนึ่ง (ดังภาพประกอบ)
การถ่ายภาพโดยปกติคือถ่ายภาพแสงที่สะท้อนออกจากวัตถุหรือเปล่งออกจากวัตถุ
เมื่อถ่ายภาพจำเป็นต้องมีการวัดปริมาณแสงที่ตกลงวัตถุ หรือแสงที่สะท้อนออกจากวัตถุไปยังกล้องถ่ายภาพ หรือแสงที่ตกลงบนเซ็นเซอร์รับภาพเพื่อควบคุมความสว่างของภาพให้เหมาะสม
การวัดแสงโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
1.วัดแสงตกกระทบ (Incident Light Metering)
เป็นการวัดแสงที่ตกกระทบวัตถุทางหน้าที่หันไปยังกล้อง โดยใช้เครื่องวัดแสงเฉพาะที่ออกแบบมาสำหรับการวัดแสง เช่น เครื่องวัดแสงแบบมือถือ หรือติดตั้งอุปกรณ์พิเศษด้านหน้ากล้องถ่ายภาพเพื่อไปวัดแสงที่ตกกระทบทางด้านหน้าของวัตถุ เช่น Expodisc เครื่องวัดแสงที่ออกแบบสำหรับการวัดแสงตกกระทบโดยทั่วไปจะมีแผ่นกรองแสงด้านหน้าเซลวัดแสง ลักษณะเป็นแผ่นเรียบสีขาว (Lumidisc) หรือแผ่นโค้งครึ่งวงกลมสีขาว (Lumisphere)
กล้องถ่ายภาพปกติวัดแสงแบบสะท้อน เมื่อติดตั้ง Expodisc สามาถวัดแสงแบบตกกระทบได้
หัววัดแสงตกกระทบ ซ้าย Lumisphere ส่วนขวา Lumidisc
ระบบวัดแสงตกกระทบมีข้อดีคือ ค่าวัดแสงที่ได้จะไม่มีความผิดพลาดจากสีของวัตถุ เนื่องจากการวัดไม่ได้วัดแสงจากวัตถุแต่เป็นการวัดแสงจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง ทำให้ความผิดพลาดจากสีของวัตถุไม่มี สามารถวัดอัตราส่วนของแสงได้ แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องไปวัดแสงที่ด้านหน้าของวัตถุในมุมที่หันเข้าหากล้อง ซึ่งบางครั้งอาจจะเข้าใกล้วัตถุที่ถ่ายภาพไม่ได้ และไม่สามารถคุมโทนสีของวัตถุในขั้นตอนการวัดแสงได้
ระบบวัดแสงตกกระทบและเครื่องวัดแสงมือถือใช้กันมากในกลุ่มมืออาชีพที่ใช้กล้องแบบไม่มีเครื่องวัดแสง หรือเครื่องวัดแสงในกล้องขาดความแม่นยำซึ่งมักจะเป็นกล้องขนาดใหญ่ หรือใช้งานในสตูดิโอที่มีการใช้แฟลชสตูดิโอ
การถ่ายภาพในสตูดิโอ ใช้แฟลช ส่วนมากจะใช้ระบบวัดแสงแบบตกกระทบเป็นหลัก ภาพโดย อ.วิชิต ยันตรพานิชย์
- วัดแสงสะท้อน (Reflex Light Metering)
เป็นการวัดแสงที่สะท้อนออกจากวัตถุไปยังกล้องถ่ายภาพ โดยใช้เครื่องวัดแสงที่ออกแบบสำหรับการวัดแสงสะท้อน เช่น เครื่องวัดแสงมือถือแบบจุด เครื่องวัดแสงในกล้องถ่ายภาพโดยทั่วไปจะวัดแสงสะท้อนออกจากวัตถุเป็นหลัก
ระบบวัดแสงแบบสะท้อนวัดแสงที่สะท้อนจากวัตถุเข้ามายังกล้อง
ระบบวัดแสงสะท้อนมีข้อดีคือ เป็นการวัดแสงจากวัตถุที่ถ่ายภาพโดยตรง ทำให้สามารถปรับแต่งค่าแสงเพื่อควบคุมโทนสีของภาพได้ และยังคาดเดาโทนสีที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการวัดแสงได้ สามารถรู้ความแตกต่างของแสงในจุดต่างๆ โดยใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดเช็คค่าแสงที่ตำแหน่งต่างๆ และไม่จำเป็นต้องเข้าใกล้วัตถุที่ถ่ายภาพเพื่อวัดแสง
ระบบวัดแสงแบบสะท้อนมีข้อดีในการกำหนดสีของภาพที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ โดยดูจาก Histogram หรือ Curve ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการดูภาพจากจอ LCD หลังกล้อง
ในสภาพแสงซับซ้อนเช่นการถ่ายภาพย้อนแสง การใช้ระบบวัดแสงแบบตกกระทบมักจะเปิดรายละเอียดส่วนเงา ส่วนระบบวัดแสงสะท้อนมักได้ภาพเป็นเงาดำซึ่งได้อารมณ์ภาพที่แตกต่างกัน
ส่วนข้อเสียคือ ค่าแสงจะผิดพลาดได้ตามสีของวัตถุที่ถ่ายภาพ เช่น เมื่อวัดแสงจากวัตถุสีอ่อนจะทำให้ภาพอันเดอร์ และเมื่อวัดแสงจากวัตถุสีเข้มจะทำให้ภาพโอเวอร์ รวมทั้งค่าวัดแสงจะผิดเพี้ยนกับวัตถุสีแดงและน้ำเงินได้ง่าย
ไม้แกะสลักลงยาสีเข้ม เมื่อวัดแสงแบบสะท้อนกับวัตถุสีเข้ม จะได้ภาพสว่างกว่าความเป็นจริง เป็นธรรมชาติของระบบวัดแสงแบบสะท้อน