เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 207/2014 Decemter
บทความ Master of Light Metering ตีพิมพ์ในนิตยสารคาเมราร์ตฉบับที่ 139 เดือนเมษายน 2552 เป็นครั้งแรก และมีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่บางส่วนเพื่อให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน ภาพประกอบในบทความ Master of Light Metering ทั้งหมดเป็นภาพจากกล้องถ่ายภาพโดยตรง ส่วนมากเป็นภาพไฟล์ JPG บางภาพจะมาจาก RAW โดยไม่ผ่านการรีทัช ซ้อน หรือปรับแต่งโดยใช้โปรแกรมภายนอกกล้อง มีเพียงการปรับฟังก์ชั่นการทำงานตามที่กล้องมีมาให้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เห็นผลจากการวัดแสงโดยตรงซึ่งทุกคนสามารถทำตามได้ ไม่ได้เป็นเทคนิคเฉพาะหรือเรื่องลึกลับซับซ้อนแต่อย่างไร เพียงมีความเข้าใจในระบบการวัดแสงของกล้องและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องก็สามารถถ่ายภาพได้แบบที่อยู่ในบทความนี้
บทที่ 1 ทำไมเราต้องรู้เรื่องการวัดแสง
ความก้าวหน้าทางอิเลคทรอนิกส์ทำให้โฉมหน้าในการถ่ายภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก จากการถ่ายภาพที่มีขั้นตอนต่างๆ มากมายนับสิบขั้นตอนในการถ่ายภาพแต่ละภาพ กลายเป็นแค่ 2 ขั้นตอน คือ เล็ง แล้วกดชัตเตอร์เท่านั้นก็ได้ภาพถ่ายสวยๆ แล้วขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้ถ่ายภาพจะต้องทำในอดีตเช่น การเลือกตำแหน่งปรับความชัด การเลือกความเร็วชัตเตอร์ ขนาดช่องรับแสงที่เหมาะสมกับปริมาณแสงและลักษณะภาพ ถูกระบบการทำงานอันชาญฉลาดของกล้องถ่ายภาพไปจัดการให้แทน ปัจจุบันเราจึงได้ภาพโดยไม่ต้องเรียนรู้การถ่ายภาพมากนัก ยิ่งการเข้ามาของโปรแกรมจัดการภาพถ่ายและความเร็วของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ทำให้ความสำคัญของการเข้าใจการถ่ายภาพพื้นฐานลดลง ผู้ใช้สามารถปรับความคมชัด ปรับแสง ปรับสีได้ที่โปรแกรมจัดการภาพถ่าย เราจึงจะได้ยินนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ กล่าวว่า ถ่ายภาพให้ติดมาก่อน ไม่ต้องซีเรียส แล้วคอยมาใช้โปรแกรม Photoshop ปรับทีหลัง
โปรแกรมเกี่ยวกับภาพทั้งหลาย เป็นผู้ช่วยของช่างภาพ ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป แต่ไม่ใช่เอาไว้แก้ข้อบกพร่องจากความไร้สามารถของผู้ถ่าย
ความสำคัญของพื้นฐานการถ่ายภาพอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วอย่างนั้นหรือ!!!!!!
หากต้องการเพียงถ่ายภาพให้ติด โดยไม่คาดหวังว่าภาพจะต้องออกมาในลักษณะใด กล้องถ่ายภาพในปัจจุบันสามารถทำงานได้ดีโดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การถ่ายภาพก็ได้ แต่หากถ่ายภาพแบบมีเป้าหมายว่า ภาพต้องออกมาในลักษณะใด การเรียนรู้ระบบการทำงานของกล้อง เรียนรู้พื้นฐานยังเป็นสิ่งจำเป็น
ในช่วงเริ่มเบ่งบานของการถ่ายภาพแบบดิจิตอล (ประมาณปี พ.ศ. 2549) ผมสังเกตว่านักถ่ายภาพรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจพื้นฐานการถ่ายภาพมากนัก อุปกรณ์ถ่ายภาพพื้นฐานอย่าง ND Filter, CPL, Graduate Filter, ขาตั้งกล้อง, แฟลช นั้นขายไม่ได้เลยแต่ปัจจุบันนั้นกลับตรงกันข้าม การเติบโตของกล้องดิจิตอลแบบ DSLR ราคากล้องที่ลดลงทำให้ความสนใจในการถ่ายภาพแบบจริงจังกลับขึ้นมาใหม่ ผู้ใช้กล้องดิจิตอลแบบคอมแพคหรือถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟนมาใช้กล้องดิจิตอลแบบ DSLR กันมากขึ้น ผนวกกับการเติบโตของเว็บไซต์การถ่ายภาพโดยเฉพาะ Facebook ทำให้นักถ่ายภาพเข้าถึงภาพถ่ายสวยๆ จากช่างภาพทั่วโลกได้มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเห็นภาพสวยๆ มากขึ้น มีกล้องดิจิตอล DSLR อยู่ในมือ ความกระตือรือร้นในการจะถ่ายภาพสวยๆ ได้เพิ่มระดับมากขึ้นตามไปด้วย นักถ่ายภาพที่เคยละเลยพื้นฐานการถ่ายภาพเมื่อได้ลองถ่ายภาพแบบจริงๆ จังๆ จะเริ่มพบว่า เขาไม่สามารถถ่ายภาพแบบนั้นได้เลยเขาไม่รู้วิธีง่ายๆ ว่า หากต้องการภาพสว่าง ต้องปรับกล้องอย่างไร ต้องการให้ภาพมืดลง ต้องปรับภาพอย่างไร โปรแกรม Photoshop ที่เคยพึ่งพาก็ไม่สามารถเนรมิตรภาพได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้ เพราะความคาดหวังนั้นสูงเกินกว่าต้นฉบับแย่ๆ จะเนรมิตรได้ นักถ่ายภาพกลุ่มนี้จึงได้รู้ว่า เขาต้องกลับสู่พื้นฐานเรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพอย่างถูกต้องใหม่ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดก่อน จากนั้นค่อยใช้โปรแกรมจัดการภาพตกแต่งภาพอีกทีในส่วนที่การถ่ายภาพจากของจริงทำให้ไม่ได้ เรื่องราวของการวัดแสงอันเป็นกระบวนการในการควบคุมความสว่าง ควบคุมสีควบคุมรายละเอียดส่วนมืด ส่วนสว่าง ควบคุมสีของจุดสนใจมีผลอย่างมากต่อรูปแบบการจัดองค์ประกอบ อารมณ์ของภาพเริ่มเป็นที่สนใจของนักถ่ายภาพมากขึ้น เรื่องวัดแสงที่ดูเหมือนจะเป็นง่ายๆ สามารถพึ่งพาระบบอัตโนมัติของกล้องได้ กลับกลายเป็นเรื่องยากมากมายเมื่อเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพและภาพถ่ายมากขึ้น
ข้อดีของกล้องดิจิตอลคือ ถ่ายภาพแล้วเห็นทันที หากได้คำแนะนำและการฝึกฝนที่ถูกต้องจะทำให้ก้าวหน้าเร็วและแก้ปัญหาเองเป็น, 26/1/2551 อบรมถ่ายภาพดิจิตอล ฝ่ายดิจิตอล สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ
Nikon D3 1/100s f/8 ISO 200, 23/8/2553 อังกฤษ
FUJIFILM X-T1 1/60s f/71 ISO 200, 13/1/2557 หล่มสัก เพชรบูรณ์
ผมเป็นหนึ่งนักถ่ายภาพไม่มากนักที่เข้าใจเรื่องราวของระบบวัดแสงได้ครบถ้วนกระบวนความตั้งแต่ระบบฟิล์มจนถึงระบบดิจิตอล คนกลุ่มนี้พยายามบอกถึงความสำคัญในการควบคุมความสว่างของภาพให้ได้อย่างที่ต้องการ แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพไม่ได้รับการตอบสนองเท่าไรนัก โดยเฉพาะเรื่องการวัดแสง ทุกคนคิดว่า มันยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจและไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพราะมีระบบอัตโนมัติทำงานได้ดีอยู่แล้ว ที่เหลือก็ใช้โปรแกรม Photoshop ผมจึงคิดว่า นักถ่ายภาพรุ่นใหม่คงไม่สนใจพื้นฐานการถ่ายภาพ โดยเฉพาะเรื่องการวัดแสงอีกต่อไปแล้ว ทำให้ผมไม่คิดจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการวัดแสง ผมมักจะเขียนเรื่องเที่ยว ทดสอบกล้อง เรื่องเที่ยวถ่ายภาพ ที่คนสนใจได้ง่ายกว่า
ไม่นานมานี้ (ผมพบว่า นักถ่ายภาพที่ถ่ายภาพไปได้สองสามปี กลับหันมาให้ความสนใจกับการวัดแสงอย่างไม่คาดคิดเรื่องราวเกี่ยวกับการควบคุมความสว่างของภาพกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะทางเว็บบอร์ดในเว็บถ่ายภาพต่างๆ คนที่มาตอบปัญหาในเว็บบอร์ดก็ไม่สามารถตอบได้ครบถ้วนกระบวนความ บางครั้งก็อ้างอิงข้อมูลที่ผิดพลาด ผมจึงคิดที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการควบคุมความสว่างของภาพ หรือที่เราเรียกว่า การวัดแสง ให้ครอบคลุมการใช้งาน มีความถูกต้อง ใช้งานได้จริงๆ อ้างอิงได้ ที่สำคัญ จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการวัดแสงแบบลึกๆ อย่าง Digital Chromazone System ให้เรียนรู้กันด้วย
Nikon D3 1/400s f/8 ISO 200, 19/10/2553 อังกฤษ