เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 231/2016 December
จะภาพขาวดำหรือภาพสี? หลายครั้งคำถามนี้เข้ามารบกวนจิตใจของเราอยู่บ่อยๆ ใช่ไหมครับในบางครั้งการถ่ายภาพเราก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าภาพนี้เราจะถ่ายเป็นภาพขาวดำหรือภาพสีดี หรือในบางครั้งก็จะไปเกิดตอนที่เรากำลังแต่งภาพในโปรแกรม ว่าจะทำให้เป็นภาพขาวดำดีหรือไม่
วิธีคิดที่ตอบโจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับช่วงเวลาที่เรากำลังสับสนหรือลังเลให้เราพิจารณาลงไปเลยว่าภาพของเราจะเป็นภาพขาวดำที่ดีได้หรือไม่ นั่นหมายความถ้าจะให้ดีเราควรคิดคำตอบนี้ตั้งแต่ช่วงที่เรากำลังจะถ่ายภาพ เมื่อเรามองเห็นหรือรู้สึกแล้วว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนี้น่าสนใจ สิ่งที่เราจะคิดต่อไปก็คือมันจะเป็นภาพขาวดำที่ดีได้อย่างไร ซึ่งในการถ่ายภาพขาวดำให้สวยงามนั้นมีสิ่งที่เราต้องคิดก่อนถ่ายอยู่หลายเรื่อง
มองหารูปร่าง และ เส้นสาย Shape & Line
ทำความเข้าใจในรูปร่างของสิ่งที่เรากำลังจะถ่าย รูปร่างนั้นมีความน่าสนใจเพียงใดเพื่อกำหนดมุมมองที่จะถ่ายทอดรูปร่างนั้นให้ดีที่สุด หลังจากนั้นคือการมองหาลวดลายและความซ้ำซ้อนที่มักจะเกิดจากเส้นสายต่างๆ ที่อยู่ในนั้น และในบางมุมเราอาจจะต้องตัดส่วนภาพเพื่อเจาะเฉพาะส่วนแล้วเราอาจจะเห็นภาพ abstract จากในนั้นรวมทั้งรูปร่างของเงาตกทอดของวัตถุต่างๆ ที่เกิดจากทิศทางของแสงต่างเวลากัน ก็มีความน่าสนใจ
โทน และ ความเปรียบต่าง Tone & Contrast
การปรับ picture style ในกล้องจะทำให้เราได้โทนภาพที่แตกต่างกันออกไปแต่ควรระวังเรื่อง contrast ที่มากเกินไปบางครั้งการมองผ่านจอเล็กๆ หลังกล้องทำให้เราแยกแยะได้ไม่ดีนัก
ส่วนในเรื่องของโทนภาพบางสภาพแสงนั้น ลองพิจารณาดูว่าเราสามารถถ่ายภาพให้เป็นภาพ high-key หรือ low-key ได้หรือไม่ ซึ่งจะอาศัยการคุมโทนในภาพเข้ามาช่วยแต่จะได้ภาพขาวดำที่น่าสนใจกว่าให้เป็นโทนภาพปกติ
Interesting Textures พื้นผิวที่น่าสนใจ
พื้นผิวของวัตถุบางชนิด เป็นส่วนเสริมที่ดีให้กับมิติของภาพ แสงด้านข้างจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของพื้นผิวต่างๆ นั้นได้ชัดเจน การเน้นเฉพาะส่วนเพียงบริเวณที่เป็นเหมือนลวดลายเฉพาะของสิ่งๆ ต่างๆ มักจะได้ภาพที่มีพลังและเราก็มักจะมองหาพื้นผิวเหล่านั้นมาใส่ไว้ในภาพอยู่เสมอ
Minimal ความเรียบง่าย
การจัด composition ในภาพตามหลักของมินิมอลที่ว่า น้อยคือมาก สามารถนำมาใช้งานภาพขาวดำได้ดีเสมอ ด้วยการให้ความสำคัญของรายละเอียด แม้ว่าการภาพมุมกว้างที่เก็บวัตถุต่างๆ มาได้หมดจะดูสวยงาม แต่สำหรับ Minimal แล้วสิ่งสำคัญอยู่ที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสนใจ วิธีคิดง่ายๆ คืออะไรที่ไม่สำคัญก็ไม่ควรอยู่ในองค์ประกอบของภาพ
Mood & Atmosphere บรรยากาศและอารมณ์
อารมณ์ในภาพขึ้นอยู่กับการจับจังหวะ หรือเลือกจังหวะที่จะบันทึกภาพ ซึ่งอาศัยช่วงเวลาและสภาพแสงในขณะนั้น จังหวะในการจับบรรยากาศและอารมณ์ของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราก่อนการถ่ายภาพถือเป็นสิ่งที่ช่างภาพจะต้องค้นหาให้เจอ ช่วงเวลาของแสงเงาที่สวยงาม อากัปกิริยาท่าทางที่น่าสนใจของแบบ โทนสีในภาพ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้า
การจับจังหวะที่ดีนั้น เป็นการถ่ายภาพที่ต้องอาศัยการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันของจิตใจ สายตา ทักษะความชำนาญ การตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรียศาสตร์ ความรู้ โชค ความบังเอิญ การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่งๆ โดยใช้การตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที ในการที่จะบันทึกภาพสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นการเรียนรู้ทำความรู้จักกล้องของตัวเอง การปรับตั้งค่าต่างๆ ของอุปกรณ์ถ่ายภาพของเรานั้น เป็นเรื่องที่เราควรฝึกให้ชำนาญ จากนั้นคือการพาตัวเองไปพบกับเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ที่ควรจะบันทึกภาพในนาทีสำคัญ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจว่า ภาพที่เราจะถ่ายหรือปรับเป็นภาพขาวดำนั้น มีคุณสมบัติเหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้าเราสามารถบอกตัวเองได้ว่ามี หรืออาจจะมีอย่างน้อยสักข้อ นั่นก็มีแนวโน้มที่เราจะได้ภาพขาวดำที่น่าสนใจ อย่าลืมนะครับว่าภาพขาวดำไม่ใช่ทางออกของการนำภาพเสียมาทำให้ดูสวยขึ้น ภาพขาวดำที่มีพลังส่วนใหญ่แล้วไม่มีที่มาเช่นนั้น แต่เป็นภาพที่ผ่านกระบวนการทางความคิดมาก่อนแล้วจากประสบการณ์ต่างๆ ของช่างภาพนั่นเอง…