เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
เวลาถ่ายภาพคิดอะไรอยู่…? คำถามนี้เป็นคำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้ยินในกลุ่มเพื่อนๆ ที่ชอบถ่ายรูป หรือบางครั้งเวลาที่เราได้มีโอกาสดูภาพคนอื่นที่เขาถ่ายออกมาดีๆ ในครั้งนี้ผมเลยถือโอกาสที่จะลองนำเอาแนวคิดของตัวผมเอง ที่ผมใช้เวลาที่ออกไปถ่ายภาพ โดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ผมคิดเอาไว้อยู่ในหัวก่อนถ่ายภาพและกำลังถ่ายภาพนั้นก็มักจะเป็นเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ถือเสียว่าคอลัมน์นี้เป็นช่วงเผยกันหมดเปลือกถึงไอเดียร์ แนวคิด วิธีคิดต่างๆ ต่อการถ่ายภาพในแต่ล่ะครั้ง โดยเรื่องแรกที่ผมจะนำเสนอก็คือการคิดก่อนถ่าย Think before you shoot เรามาลองดูกันนะครับว่า สิ่งที่ผมคิดก่อนถ่ายนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง
เนื้อหา Story
สิ่งแรกเลยคือการคิดถึงเนื้อหาของภาพก่อน ว่าเราอยากจะถ่ายอะไร อยากจะนำเสนออะไร ซึ่งเราอาจจะคิดหัวข้อเอาไว้ก่อนก็ได้ หรือบางครั้งหัวข้อการประกวดภาพถ่ายที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในช่วงนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นหัวข้อได้เช่นกัน การกำหนดเนื้อหาของภาพจะทำให้เรารู้ว่าเราจะถ่ายภาพอะไร หรือที่ไหน
แสง Lighting
เมื่อได้เนื้อหาที่เราอยากจะถ่ายแล้วนั้นสิ่งสำคัญอันดับถัดมาก็คือเรื่องของแสง เราอยากให้ในภาพที่เราจะถ่ายนั้นมีแสงแบบใด ลักษณะใด แสงแข็ง แสงนุ่ม ทิศทางแสงแบบใด เงาทอดยาวหรือไม่ หรือต้องการแบบน้อยแสง ฯลฯ การกำหนดแสงในภาพนั้นจะทำให้เรารู้ว่าควรไปถ่ายภาพในช่วงเวลาใด
ฉากหลัง Background
หลายครั้งเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะถ่ายตรงหน้ามากเกินไปจนลืมสนใจกับฉากหลัง นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพนั้นดูไม่น่าสนใจขึ้นมาทันที บางครั้งภาพบางภาพที่ดีเกิดจากการที่เราสนใจฉากหลัง แล้วรอคอยให้มีแบบเดินมาเข้าเฟรมบนฉากหลังนั้นก็ได้ และวิธีนี้มักจะใช้ได้ผลเสมอในการถ่ายภาพสตรีท
เลนส์ และ อุปกรณ์ที่จะใช้
การเลือกใช้เลนส์จะส่งผลต่อลักษณะของภาพ งานบางอย่าง หรือภาพบางภาพก็จะเหมาะสมกับเลนส์แต่ล่ะประเภท ในบางสภาพแสงเลนส์บางตัวทำงานได้ดี หรือมิติของภาพจากเลนส์แต่ล่ะแบบ
องค์ประกอบภาพ Composition
การจัดองค์ประกอบในภาพมีกฎเกณฑ์มากมายให้เราเลือกนำไปใช้ พยายามทำความเข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบภาพให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Element หรือกฎต่างๆ เพื่อที่เราจะได้หยิบมาใช้ได้ทันที บางครั้งเราสามารถศึกษาเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพจากการดูภาพมากๆ หรือดูงานศิลปะเยอะๆ ก็ได้
เทคนิค Technical
เทคนิคในที่นี้หมายถึงเทคนิคการถ่ายภาพ เช่น การเลือกใช้รูรับแสงเพื่อให้เกิดชัดลึก-ชัดตื้น หรือการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหว (Movement) เทคนิคการถ่ายภาพที่เหมาะสมจะทำให้ภาพดูน่าสนใจ แต่ภาพบางภาพเลือกใช้เทคนิคมากจนเกินไปก็ดูน่าเบื่อได้
จังหวะ Rhythm
จังหวะนั้นเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ช่างภาพมีติดตัว การใช้ทักษะการสังเกตเพราะการถ่ายภาพคือการหยุดเวลาเพียงเสี้ยววินาที เราจะเลือกบันทึกภาพในเสี้ยววินาทีไหน จังหวะไหน อากัปกิริยาแบบไหนที่เราคิดว่าดีที่สุด เป็นคำถามที่ทำให้เกิดการเตรียมพร้อมล่วงหน้า เราสามารถฝึกเรื่องจังหวะกับการถ่ายภาพสิ่งที่มีการเคลื่อนไหว เช่น คนกำลังเดิน การแสดงต่างๆ วิถีชีวิตผู้คน ฯลฯ
หลายคนอาจจะคิดว่าในความเป็นจริงเวลาที่ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ เป็นเพียงช่วงเวลานิดเดียว จะคิดอะไรมากมายเยอะแยะตามขั้นตอนขนาดนี้ได้อย่างไร ซึ่งถ้าเราลองทำดูบ่อยๆ เข้ามันจะไม่ใช่แค่ขั้นตอนที่เราจะต้องทำแต่เมื่อเราลงมือทำบ่อยๆ ซ้ำๆ จนเกิดความเข้าใจแล้วนั้น เราจะทำออกมาได้เองแบบที่เรียกว่าอัตโนมัติเลยล่ะครับ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจในสิ่งที่เราจะถ่าย และการเข้าใจในอุปกรณ์ของเราน่าจะทำให้เราได้ภาพในแบบที่เราอยากจะให้เป็นนะครับ…