เรื่อง : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 249/2018 June

The Die-cast Model

ในระหว่างที่โลกประสบภาวะวิกฤติ เกิดสงครามไปทั่วทุกหย่อมหญ้า Leitz เริ่มก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตกล้องถ่ายภาพแบบใหม่ ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของเหล่าช่างภาพ ที่ต้องการกล้องถ่ายภาพชนิดที่มีความแข็งแกร่ง ทนทานเป็นเยี่ยม และมีระบบการทำงานภายในเป็นยอด โดยนำกรรมวิธีผลิตกล้องแบบ “The Die-cast Model” เข้ามาใช้

กล่าวโดยย่อ การผลิตกล้องแบบ “The Die-cast Model” หมายถึงการหล่อตัวถังด้วยการอัดฉีดโลหะร้อนเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์ แล้วนำตัวถังกล้องประกอบเข้ากับกลไกส่วนอื่นโดยใช้เกลียวยึด ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ส่งผลให้ตัวกล้องมีความแข็งแกร่งในทุกสภาวะมากขึ้นกว่ากรรมวิธีผลิตในแบบเดิม ที่เป็นการประกอบชิ้นส่วนโลหะทองเหลืองขนาดเล็กเข้าด้วยกันเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรรมวิธีการผลิตข้างต้น  นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตกล้องถ่ายภาพ ที่ Leitz มีส่วนในการพัฒนาขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งค่าใช้จ่ายในการประดิษฐ์คิดค้น และวัตถุดิบที่ต้องนำมาใช้ ก็ส่งผลทำให้ราคาของกล้อง Leica ไต่ระดับสูงขึ้น ยากต่อช่างภาพประเภท รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง จะแสวงหามาใช้ได้

เอาละ เรามาดูกันต่อไป ว่ากล้อง Leica รุ่น The Die-cast Models จะมีหน้าตา และมีเรื่องราวมันๆ กันอย่างไรบ้าง

 

Leica IIIc

 เมื่อดูภาพกล้อง Leica IIIc โดยผิวเผิน จะพบว่ากล้อง Leica IIIc มีความแตกต่างกับกล้อง Leica IIIb ที่ผลิตออกมาก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ข้อแตกต่างที่ว่ากลับเป็นจังหวะก้าวครั้งยิ่งใหญ่ของ Leitz เลยที่เดียว

กล้อง Leica IIIc ปรากฏตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1940 ด้วยรูปลักษณ์แบบใหม่ของการเป็นกล้องสมบูรณ์แบบ โครงสร้างตัวถังกล้องหล่อด้วยการฉีดโลหะร้อนเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์ ที่เรียกกันว่า Die-cast ซึ่งเป็นวิธีการผลิตกล้องแบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่การประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันตามที่เคยมีมา

รูปร่างหน้าตาของ Leica IIIc แม้ว่าจะคล้ายคลึงกับ Leica IIIb แต่สิ่งที่ทำให้ Leica IIIc แตกต่างจากกล้อง Leica ในรุ่นก่อนหน้า ได้แก่การรวมเครื่องหาระยะชัดกับช่องมองภาพเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปรับขนาดของกล้องให้ยาวกว่าเดิมอีก 3 มม. รวมเป็นยาวถึง 136 มม. เพื่อให้ได้ขนาดพอดีกับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมรุ่นใหม่ๆ ที่ Leitz ผลิตขึ้น

การผลิต Leica IIIc ในระยะแรก เข้าใจกันว่าผลิตแบบชุบด้วยโครเมี่ยมก่อน แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นใช้ในกองทัพ ซึ่งจะเรียกในที่นี้ว่าเป็น “Military Version” จะผลิตแบบเคลือบด้วยสีเทา หรือสีน้ำเงินแทน

ข้อแตกต่างปลีกย่อยระหว่างกล้อง Leica IIIc รุ่นแรกกับรุ่นหลังๆ ที่ผลิตขึ้นก็คือ การขยายวงแหวนเกลียวโลหะที่หุ้มอยู่รอบๆ ไกชัตเตอร์ให้มีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้สายลั่นไกชัตเตอร์ที่นับจำนวนภาพที่ถ่าย จะทำงานทุกครั้งที่มีการถ่ายภาพไป 1 ภาพ

การผลิตกล้อง Leica IIIa เริ่มผลิตใน ค.ศ. 1940 ที่หมายเลข 360101 และเป็นสายการผลิตหลัก ผลิตต่อเนื่องกันไปจนถึงหมายเลข 397650 ใน ค.ศ. 1946 และเริ่มผลิตใหม่อีกครั้งใน ค.ศ. 1950-51 ที่หมายเลข 400000 ถึง 525000 ระหว่างที่หยุดผลิต โรงงาน Leitz ก็มิได้มีการผลิตกล้องรุ่นอื่นใดออกจำหน่ายเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุที่รู้ๆ กัน นั่นคือการเกิดสงคราม โลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1936-1945) โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องยุติลง และหันมาเดินเครื่องจักรผลิตยุทธ์ปัจจัยกันหมด! อย่างไรก็ดีกล้อง Leica IIIc ที่ผลิตในช่วง ค.ศ. 1940-46 ก็เป็นรุ่นที่มีจุดเด่นชัดเจนมาก ตรงที่มีการติดตั้งคานกรอฟิล์มขนาดใหญ่ไว้ที่ด้านหน้าตัวกล้องขณะที่ Leica IIIc รุ่นหลังก็จะไม่มีคานกรอฟิล์ม แต่จะไปอยู่ด้านบนตัวกล้องแทน และยังมีปุ่มล็อคความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ปุ่มปรับความเร็วชัตเตอร์ ยังมีการทำเครื่องหมายขีดสีดำด้านหนึ่ง และสีแดง อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกล้อง Leica ในช่วงนี้

อนึ่ง จากบันทึกเกี่ยวกับการผลิตกล้อง Leica ในระยะแรก ได้กล่าวถึงวัสดุที่นำมาใช้ห่อหุ้มตัวถังกล้องไว้ว่า การประดิษฐ์เครื่องห่อหุ้มกล้องในระยะแรก ยังอยู่ในขั้นทดลอง จึงมีบางครั้งที่วัตถุดิบเกิดขาดแคลน หรือ บางครั้งวัตถุดิบที่มีก็ไม่ได้มาตรฐานนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ และในท้ายสุดยังพบอีกว่า ผลการทดสอบตลาดเบื้องต้น ไม่เป็นที่น่าพอใจ Leitz จึงมีการเรียกเก็บกล้อง Leica IIIc ที่ผลิตขึ้นในเวลานั้นกลับคืนโรงงานเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเท่าที่มีการบันทึกไว้ ก็คือกล้อง Leica IIIa รุ่นที่มีหมายเลข 362401-379226

ในทำนองเดียวกัน เมื่ออยู่ในยุคสมัยแห่งสงคราม แร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะขาดแคลน กล้องถ่ายภาพที่ผลิตขึ้นในเวลานั้น จึงไม่สามารถจะชุบด้วยโครเมี่ยมต่อไปอีกได้ ต้องหันไปใช้การเคลือบด้วยสีแทน หรือบางรุ่นก็มีการแกะสลักลวดลาย “พราง” แบบทหารไปเลย

กล้อง Leica IIIc ที่ผลิตขึ้นในระหว่างสงคราม และเป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก คือ กล้อง Leica IIIc รุ่น K type หรือชื่อเต็ม “Kugellaler” ซึ่งเป็นกล้องไลก้ารุ่นแรกที่ถูกนำไปใช้ในกองทัพอากาศเยอรมันโดยมีการจารึกคำว่า “The Luflwaffe” เป็นสัญลักษณ์ประกอบด้วย และนับเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม Military Version

ในการผลิตกล้อง Leica รุ่นนี้ Leitz ได้มีการนำตลับลูกปืน (ball-bearing) เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย เพื่อให้กลไกการทำงานมีความราบเรียบในทุกสภาวะ แม้ในอุณหภูมิต่ำ และเป็นกรรมวิธีผลิตแบบใหม่ที่ Leitz เริ่มนำมาใช้ผลิตกล้อง Leica IIIc ใน ค.ศ. 1946

การผลิตกล้อง Leica IIIc ในยุคหลังสงครามยุติ หรือการผลิต Leica IIIc ตั้งแต่หมายเลข 400000 เป็นต้นไปจึงเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีความแตกต่างไปจาก Leica IIIc รุ่นแรกอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือ ไม่มีคานโยกกรอฟิล์มที่เดิมอยู่ติดกับปุ่ม slow speed Shutter อีก กลไกการทำงานภายในกล้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตลับลูกปืนได้ถูกนำเข้าไปใช้แทนแกนหมุนฟิล์มในแบบเดิม และข้อแตกต่างอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การขยายขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้เลือกใช้เพิ่มขึ้น ปุ่ม slow speed shutter ที่อยู่ด้านหน้าตัวกล้องมีขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้เลือกใช้ตั้งแต่ 1 วินาที, 1/2-1/4-1/10-1/15 ; 1/20 และ 1/30 วินาที พร้อมชัตเตอร์ T การปรับขนาดข้ามไปมาระหว่างขนาดไวสุดและช้าสุด ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขนาดความเร็วชัตเตอร์สูงๆ

Leica IIIc รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Leica IIIc รุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สีเท่า ติดตั้งเลนส์ SUMMAREX f1.5 รุ่นแรกๆ

การพัฒนาในลำดับต่อมา Leitz ได้ติดตั้งปุ่มล็อคความเร็วชัตเตอร์แบบ slow speed ไว้ที่ 1/30 วินาที เพื่อป้องกันการเคลื่อนปรับปุ่มโดยไม่ตั้งใจ และการปรับปรุงปุ่มความเร็วชัตเตอร์แบบ high speed ให้มีขนาดเล็กลง มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 1/30 – 1/40 – 1/60 – 1/100 – 1/200 – 1/500 และ 1/1000 พร้อมชัตเตอร์ Z ช่องมองภาพ แสดงภาพย่อลงในอัตราส่วน 1:2 และเครื่องหาพิสัยให้กำลังขยายภาพ 1.5 เท่า

Code ของกล้อง ในระยะแรกถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 ใช้ LOOGI, ถ้าติดตั้งเลนส์ SUMMITAR F2 ใช้ LOODU และถ้าติดตั้งเลนส์ XENON F1.5 ใช้ LOOSB ถ้าเป็น Leica IIIc ยุคหลังสงคราม Leica IIIc ที่ติดตั้งเลนส์ SUMMART F1.5 ใช้ LOOIT ถ้าใช้ ELMAR ใช้ LOOPN และถ้าใช้ SUMMITAR ใช้ LOOKX แต่ถ้ามีเฉพาะตัวกล้องไม่มีเลนส์ใช้ LOOHW

นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว Leica IIIc ที่ผลิตในรุ่นหลัง ยังมีการกำกับคำว่า “GERMANY” ลงไปด้วย แต่ชื่อย่อต่างๆ อาทิ Leica D.R.P., Ernst Leitz Wetzlar และอื่นๆ ก็ยังคงเหมือนเดิม

ในตอนนี้จะยังไม่กล่าวถึงกล้อง Leica IIIc ชุดที่เป็น Military Version แต่พอจะแย้มได้นิดๆ ว่า ขนาดกล้อง Leica IIIc ชุดธรรมดาๆ ที่มีหมายเลขต่ำกว่า 400000 ยังพอหาพบได้ในตลาดสะสมกล้อง ประมาณ 3-6 เดือนต่อกล้อง ในระดับราคากล้องละประมาณ 425 เหรียญสหรัฐและในรุ่นที่มีหมายเลขมากกว่า 400000 ก็พบได้ทั่วไป ในราคาประมาณ 250 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าเป็น Military Version แล้วละก็ บอกได้เลยว่าหายาก และราคาแพงกว่าหลายเท่า และราคาเหล่านี้ก็มิใช่ “เน็ทๆ” ซะด้วย อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถึง +-300% เชียวละครับ (เป็นราคาที่ปรากฏในปี 1992)

ถ้าจะกล่าวถึงกล้อง Leica IIIc โดยไม่กล่าวถึง Leica IIId ก็ดูกระไรอยู่ เพราะกล้องสองตัวนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ ในการให้ชื่อรุ่นว่าเป็น Leica IIIc หรือ IIId นั้น ถ้าจะดูตามลำดับการผลิตแล้ว Leica IIId ผลิตขึ้นก่อนหน้า IIIc สำหรับ Leica IIId ถูกระบุว่าเริ่มผลิตที่หมายเลข 360002 ใน ค.ศ. 1939 และ Leica IIIc เริ่มผลิตใน ค.ศ. 1940 ที่หมายเลข 360101 ทั้งสองโมเดลต่างหล่อตัวถังกล้องแบบ Die-cast ทั้งคู่ และมีกลไกการทำงานที่คล้ายคลึงกัน แต่เรามาดูกันต่อไปว่าอะไรคือ ส่วนที่แตกต่างกันของกล้องทั้งสองแบบนี้

กล้อง Leica IIIc ที่มีหมายเลขต่ำกว่า 400000 จะมีคานโยกกรอฟิล์มอยู่ติดกับปุ่ม show speed shutter และ Leica IIIc ที่มีหมายเลขสูงกว่า 400000 ขึ้นไป ปุ่มกรอฟิล์มกลับจะแบนราบเรียบอยู่บนตัวกล้อง และมีการเพิ่มปุ่มล็อค slow shutter speed

Leica ระหว่างสงคราม Leica IIIb, IIIc, และ IIId ที่เป็นรุ่น Chrome และสีเท่า มีรุ่นเฉพาะทที่เป็นอักษร K ต่อท้าย Serial No ที่มีทั้งสี Chrome ผลิต 400 กล้อง และ สีเทา ผลิตอยู่ 3,400 กล้อง

Leica IIId

กล้อง Leica IIId กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นหัวใจสำคัญให้แก่การผลิตกล้อง Leica IIIc ในเวลาต่อมา ในระยะแรกกล้อง Leica IIId จึงมีลักษณะเหมือนกันกับLeica IIIc โดยเฉพาะการมีคานโยกอยู่ติดกับปุ่ม show speed shutter ที่ด้านหน้าตัวกล้อง

อย่างไรก็ดี มีข้อแตกต่างอยู่ 2 ประการ สำหรับการผลิตกล้องในรุ่นนี้ ที่ท่านผู้รักการสะสมกล้องควรทราบ คือการผลิตแบบเคลือบส่วนที่เป็นโลหะด้วยสีดำ หรือ ที่เราเรียกว่าแบบ Black และยังไม่มีการติดตั้งปุ่มล็อค show speed shutter แต่การผลิตในรุ่นต่อๆ มา จะเป็นแบบเคลือบด้วยสีแดง และติดตั้งปุ่มล็อค show speed shutter แบบเดียวกับ Leica IIIc ในยุคหลัง

การทำงานในตัวกล้องคล้ายกับกล้องที่ผลิตในรุ่นถัดไปคือ Leica IIIf และ Leica IIIg มากกว่า แต่เวลาลั่นไกชัตเตอร์จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถสังเกตได้จากภายนอกตัวกล้อง เครื่องเกาะเกี่ยวฟันเฟืองหน่วงการทำงานอาจจะดูเหมือนว่าเป็นอันเดียวกัน ที่จริงแล้วกลับประกอบขึ้นด้วยวัสดุต่างกัน ของ Leica IIId จะเชื่อมต่อด้วยสกรูเกลียวที่กระชับช่วยให้กลไกต่างๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย การปรับตั้งกล้องจึงต้องกระทำโดยการหมุนที่วงแหวนด้านหน้า ส่วนการทำงานอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม คือ อยู่ในระบบเดียวกับ Leica IIIc ที่ผลิตในรุ่นแรก

 การผลิต Leica IIId ผลิตขึ้นเพียง 7,000 กล้อง เท่านั้น เริ่มผลิตที่หมายเลข 360000 ถึง 367000 และได้ถูกนำออกสู่ตลาดจริงๆ ใน ค.ศ. 1940 โดยมี Code ดังนี้ ถ้ามีเฉพาะตัวกล้องใช้ LOOTP ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 ใช้ LOOUC ถ้าใช้ LAQOO และถ้าติดตั้งเลนส์ XENON F1.5 ใช้ LOOWD

จะเป็นด้วยจำนวนผลิตที่มีน้อย หรือเป็น Military Version ก็ไม่อาจระบุได้ แต่กล้อง Leica รุ่นนี้กลับเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีราคาแพง และหายากมากในตลาดสะสมกล้อง กล่าวคือ มีราคาสูงถึง 4,250 เหรียญสหรัฐในอัตราเฉลี่ยที่จะพบในตลาด 10 ปี ต่อกล้อง โดยเท่าที่ผ่านมาจดบัดนี้กล้องดังกล่าวยังไม่เคยปรากฏตัวให้เห็นแม้จะเพียงแค่ข่าว! (เป็นราคาที่ปรากฏในปี 1992)

สำหรับท่านที่ชื่นชม และรักการสะสมกล้องรุ่นเก่าๆ ไม่เฉพาะแต่กล้อง Leica ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพจัดแสดงเรื่องของกล้องถ่ายภาพ ภาพถ่าย การพิมพ์ และเทคโนโลยีทางภาพ ซึ่งท่านที่สนใจติดต่อเข้าชมได้ แย้มนิดๆ ว่าแฟนๆ Leica ไม่ควรพลาด เพราะมีกล้องไลก้ารุ่นต่างๆ ให้ชมอย่างจุใจ

Leica IIId

ภาพแสดงโครงสร้างภายในของ Leica model IIIc, d, f และ f แสดงชิ้นส่วน Plate ด้านบน, ชุดโครงสร้างชัตเตอร์ และ ช่องมองภาพ และชุดฐานกล้อง

ภาพเปรียบเทียบกล้อง Leica IIIc ที่ผลิตใช้ระหว่างสงครามของกองทัพอากาศเยอรมัน ด้านบนจะมีสัญลักษณ์นาซีอยู่ ด้านหลังจะมีอักษรกองทัพอากาศเยอรมัน Luftwaffen- Eigentum อยู่ด้วย เป็นกล้องที่หายาก

ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน (กำเนิดกล้อง Leica)

ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)

ย้อนไปดูตอนที่ 3 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 3 (Leica I หรือ Leica model A)

ย้อนไปดูตอนที่ 4 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 4

ย้อนไปดูตอนที่ 5 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 5

ย้อนไปดูตอนที่ 6 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 6