เรื่อง : นพดล
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 244/2018 January
มีผู้ถามมาเกี่ยวกับกล้อง Leica…เรียนตามตรงว่า ส่วนตัวสัมผัสกับ Leica น้อยมากก… แทบจะไม่ได้สัมผัสใช้งานเลยก็ว่าได้… ในอดีตเคยลองถ่าย 2-3 ครั้ง เมื่อทดลองกล้อง แต่ไม่ได้ใช้งานอย่างจริงจังกับกล้อง Leica ตอบตรงๆ ว่า ด้วยราคาของกล้องและเลนส์ที่ค่อนข้างสูงมาก
แต่ที่หาญกล้ามาเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของ Leica นั้นก็ต้องขอขอบคุณ คุณยงยุทธ แห่งร้าน ช.ศิลป์ชัย ที่เสียชีวิตไปแล้วได้จุดประกายให้เข้ามาอ่านเรื่องราวของ Leica จนได้ทำบทความต่อกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2532 เมื่อครั้งที่ นิตยสารคาเมร่า เปลี่ยนแปลงมาเป็นนิตยสาร CAMERART ใหม่ๆ
ในครั้งนั้น กล้อง Leica เริ่มแนะนำกล้องคอมแพค 35 มม. Autofocus แล้วมาถามคุณยงยุทธ ว่าได้ลองใช้หรือยังแล้วมีความเห็นอย่างไร ซึ่งคุณยงยุทธก็ได้ตอบไปว่า ไม่ค่อยตื่นเต้นนัก เพราะสำหรับผู้ที่ได้สัมผัสกับ Leica และศึกษาเรื่องราวของ Leica จะมีความรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ จะยกย่องชมเชย และรัก โดยถือว่า Leica เป็นกล้อง Classic ที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน และยังคงอยู่คู่กับวงการถ่ายภาพมาตลอดนับตั้งแต่ยุคของกล้องฟิล์ม จนมาเป็นกล้องดิจิตอลในเวลานี้ ด้วยรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้กล้อง Leica จัดเป็นกล้องที่น่าใช้ น่าสะสมจนถึงวันนี้
เอาละครับ… ขอย้อนกลับมาสาละวนปนเปกับ UR-CAMERA กันต่อจากคราวที่แล้วดีกว่า ขอย้อนสักนิด เมื่อตอนที่แล้วเราเล่ากันถึง ออสการ์ บาร์แนค ผู้ให้กำเนิดกล้อง Leica ด้วยการสร้างกล้อง UR-CAMERA ขึ้นมาเพื่อใช้งานด้วยกัน 2 ตัว โดยที่ใช้เป็นกล้องส่วนตัว 1 กล้อง และให้ท่าน เอิร์นสท์ ไลทซ์ ซึ่งเป็นเจ้านายของท่านเอง
กล้อง UR-CAMERA
กล้องของท่าน เอิร์นสท์ ไลทซ์ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ เวทซ์ล่าร์ กล้องตัวนี้เคยนำมาแสดงที่เมืองไทยครั้งหนึ่ง ที่ดุสิตธานี ในงานกล้องและผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพ Make in Gernany ซึ่งได้รับดูแลความปลอดภัยอย่างยิ่งยวด พร้อมการประกันภัยในมูลค่าสูงมาก (ไม่เป็นที่ปรากฏตัวเลข)
ส่วนกล้องของ ออสการ์ บาร์แนค ได้ถูกประมูลขายไปจากพิพิธภัณฑ์ แห่งเมืองมิวนิคเชื่อกันว่าปัจจุบันนี้ตกเป็นสมบัติส่วนตัวของนักสะสมผู้ไม่เปิดเผยชื่อ คงกลัวจะเจอดีเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งของวงการถ่ายภาพเลยทีเดียว
รูปร่างโดยทั่วไปของ UR-CAMERA ต้องบอกว่า ตัว Body ถูกสร้างด้วยมือล้วนๆ โดยใช้โลหะทั้งสิ้น ตัวเลนส์สามารถหดพับลงได้เมื่อไม่ใช้งาน ที่หน้าเลนส์ จะมีแผ่นฝาโลหะปิดสำหรับการที่จะเลื่อนฟิล์มและลั่นชัตเตอร์เนื่องจากไม่มีม่านกั้นแสง จึงใช้เป็นฝาปิดเพื่อหลีกเลี่ยงการที่ฟิล์มจะกระทบแสง
ที่ควบคุมความเร็วชัตเตอร์ติดตั้งอยู่ทางด้านบนของตัวกล้อง สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้เพียง 2 ระดับ คือ ที่ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/25 วินาที และความเร็วชัตเตอร์ที่ประมาณ 1/50 วินาที โดยการใช้ระบบบังคับด้วยความตึงย้อนทางของสปริงที่ควบคุมชัตเตอร์ ล้อเลื่อนฟิล์ม และสปริงชัตเตอร์จะทำงานเชื่อมโยงกัน ระบบนี้ คือ ต้นแบบของกล้อง 35 มม. ในระบบกลไก ที่ใช้ต่อเนื่องมาถึงกล้องในยุคหลังๆ จนกระทั่งมีการพัฒนาระบบชัตเตอร์อิเลคโทรนิคมาใช้งาน เรื่องนี้จึงกล่าวได้ว่า บาร์แนค มีความคิดที่น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ด้านบนของตัวกล้อง ยังได้รับการออกแบบให้มีที่สำหรับเสียบอุปกรณ์เสริมที่นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล็งภาพ (View Finder) ซึ่งแนวทางนี้ก็ยังใช้กันอยู่ถึงยุคปัจจุบันเช่นกัน
ที่นับจำนวนฟิล์มที่ถูกถ่ายภาพ (Film counter) ถูกออกแบบให้ติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าของตัวกล้อง มีเครื่องหมาย 0 ถึง 50 อันหมายถึงจำนวนภาพที่ถ่าย
การบรรจุฟิล์ม และการถอดฟิล์ม ทำได้ภายในห้องมืดเท่านั้น ไม่มีระบบกรอฟิล์มกลับ
ขนาดของกล้อง 28 x 53 x 128 (ความหนา x ความสูง x ความยาว)
ปัจจุบันนี้ ถ้าเพื่อนๆ แฟนๆ Leica บังเอิญไปพบเห็นกล้อง UR-CAMERA (Prototype) ที่ไหนนอกพิพิธภัณฑ์ เวทซ์ล่าร์ แล้วละก็…อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า…ท่านได้พบ UR-CAMERA ของ ออสการ์ บาร์แนค เข้าละครับ….
ทั้งนี้เนื่องจากว่า Leitz ได้ผลิต UR-CAMERA REPLICAS ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อเหตุผลในด้านการจัดแสดงนิทรรศการงานโชว์ และการสะสม ซึ่งเท่าที่คุณยงยุทธ กล่าวกระซิบดังๆ ว่า ในประเทศไทย อย่างน้อยก็มีอยู่ 1 ตัว แต่ใครเป็นเจ้าของ เจ้าตัวบอกไม่ได้ เดี๋ยวโดนเขกหัว แต่ตอนนี้ คุณยงยุทธก็จากไปแล้วเลยไม่รู้จะไปถามใคร ใครทราบช่วยบอกทีคร้าบ….
กล้อง ProtoType No.3 (ไม่ได้ติดเลนส์)
ดังนั้น… UR-CAMERA ทั้ง 2 ตัวนี้ก็เลยได้รับการขนานนามว่า เป็น Prototype ทั้ง 2 ตัว คือ เป็น Prototype อันดับที่ 1 และ อันดับที่ 2
สำหรับ Prototype อันดับที่ 3 นั้น ออสการ์ บาร์แนค ได้พัฒนารูปร่าง และ การทำงานให้เกิดอัตถประโยชน์มากขึ้นไปอีก อาทิ เช่น การติดตั้งกรอบของช่องมองภาพที่ติดอยู่กับกล้อง ระบบควบคุมการทำงานของความเร็วชัตเตอร์ โดยสามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์ได้มากขึ้นถึง 6 ระดับความเร็วชัตเตอร์ ด้วยการปรับระบบการเปิดช่องรับแสงให้กว้างและแคบที่แตกต่างกัน ตัวกลไกที่จะกำหนดความเร็วชัตเตอร์นี้ กำหนดให้เป็นรหัส 2 , 5 , 10 , 20 , 50 และ 0 เช่น เมื่อใดที่ปรับค่ามาที่เลข 50 ช่องรับแสงก็จะถูกง้างให้เปิดออก 38 แล้วก็จะลดลงตามลำดับความสัมพันธ์ของตัวรหัส กับความกว้างของช่องรับแสง
สรุปแล้ว Prototype 3 ได้พัฒนาในจุดของการเพิ่มจำนวนในการเลือกความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดก็ยังคงอยู่ เช่นเดิม ในเรื่องการบรรจุฟิล์ม และการถอดฟิล์มที่จะต้องกระทำในห้องมืด
และแล้ว….ต่อจากนี้ ก็จะเป็นการพัฒนาของกล้อง Leica จนกระทั่งถึง Leica M3 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของ Leica และเป็นรุ่นที่ยิ่งใหญ่รุ่นหนึ่งของ Leica เลยทีเดียว จนมีการเลียนแบบรูปร่างตามกันมาเป็นพรวนเลยก็ว่าได้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ออสการ์ บาร์แนค และเอิร์นทซ์ ไลทซ์ ที่ 2 จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาอย่างมากมาย ตั้งแต่การจดลิขสิทธิ์แต่ถึงกระนั้นปัญหาก็ยังไม่หมดสิ้น ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันปราชัยในสงคราม ทั่วโลกประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระหนี้สินจากค่าปฏิกรสงคราม (เหตุผลนี้ ก่อให้เกิดการวมตัวของบรรดาโรงงานผลิตกล้องหลายแห่งเพื่อความอยู่รอด เช่น Zeiss Ikon) ผู้ประกอบการค้าด้านอุปกรณ์การถ่ายภาพ ต่างก็ได้กักตุนสินค้ากล้องแบบกระจกเคลือบ (Photo glassplate)
แน่นอนว่า ในสภาวะเช่นนี้ ทุกด้านต่างพยายามคัดค้านการผลิต และแนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงที่จะนำฟิล์มมาใช้กับกล้องถ่ายภาพของ บาร์แนค และเอิร์นสท์ ไลทซ์ ที่ 2 อย่างชนิดหัวชนฝา
แต่อีกนั่นแหละ… จนแล้วจนรอด โดยไม่รู้ว่ารอดมาได้อย่างไร กล้องในรุ่น Null-Serie จำนวน 31 กล้อง ถ้าเรียกกันอย่างกำปั้นทุบดินแล้วละก็…ก็ต้องบอกว่า… เป็นกล้องที่ไม่มีชื่อรุ่นครับ… ก็ได้ปรากฏ และเกิดขึ้นมา พร้อมทั้งตายจากไป เพื่อการกำเนิดของ Leica
UR-CAMERA
Prototype No.3
ที่มาของคำว่า Leica มีความหมายมาจากคำว่า Leitz ด้วยการใช้อักษรตัวหน้า LEI ตัดอักษร tz ออก นำมาผสมเข้ากับคำว่า CAMERA โดยนำอักษรตัวหน้า CA มาใช้ร่วม LEI+CA เลยรวมเป็นชื่อกล้องว่า LEICA
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ยังมีการตัดตัวอักษร I ไปด้วย กลายเป็นชื่อว่า LECA ดังปรากฏในโปสเตอร์โฆษณาแรกๆ และมีการเปลี่ยนแปลงเป็น LEICA หรือจะเขียนว่า Leica ก็ไม่แปลก ดังในโปสเตอร์ที่ออกมาตอนหลัง
บัดนี้ Leica ก็ถือกำเนิดในตลาดกล้องถ่ายภาพ อย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะของกล้อง 35 มม. ที่ใช้ฟิล์มถ่ายภาพ 35 มม. ในการถ่ายภาพ
ภาพโฆษณาเปรียบเทียบชื่อกล้อง Leica และ LECA
ภาพโฆษณากล้อง LECA ครั้งแรกๆ
Leica Null Serie (Leica Serie O)
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918-1920 Leica Prototype No.3 ก็เผยโฉมถือกำเนิดเกิดขึ้นในโลกบูดๆ เบี้ยวๆ โดยในชั้นต้นถือเป็นกล้องต้นแบบในการคิดค้นพัฒนา ระบบของความเร็วชัตเตอร์ เรื่องราวเกือบจะแท้งกลางคัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะได้รับการคัดค้านจากกรรมการบริษัทการพัฒนากล้องก็ยังสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้
ในปี 1923-1924 ก้าวใหม่ของ Leica ก็ได้อุบัติขึ้น เมื่อ Leica Null Serie หรือ Serie O ได้รับการแนะนำออกสู่ตลาด เพื่อทดสอบสายงานการผลิต และทดสอบตลาด
กล้อง Leica Null Serie เป็นที่ปรารถนาของนักสะสม ตารางนี้บ่งบอกว่าปัจจุบันกล้องรุ่นนี้อยู่ที่ไหนบ้าง
Leica Null Serie หรือ Serie O เป็นการพัฒนาโดยใช้โครงสร้างของ Prototype No.3 เป็นหลักในการออกแบบพัฒนา Leica Null Serie หรือ Serie O เริ่มต้นในรุ่นนี้ทั้งหมดผลิตขึ้นมาด้วยกันเป็นจำนวน 31 กล้อง จัดเรียงหมายเลขตั้งแต่ No. 100 ถึง No.130
ในขั้นต้นผลิตออกมาเพียง 7 กล้อง คือ ตั้งแต่ No 100 ถึง No.106 และ ชุดที่ 2 อีก 15 กล้อง ตั้งแต่ No. 107 ถึง No.121 โดยกล้องทั้ง 2 ชุดนี้มีรูปร่างลักษณะที่เหมือนกันแตกต่างกันที่ในชุด No.100-No.106 ไม่มีฝาปิดเลนส์ที่ติดมากับกล้อง ในขณะที่ ชุด No.107-No.121 จะมีฝาปิดเลนส์ที่มีสายคล้องติดกับตัวถังกล้อง ต่อมาในชุดที่ 3 ตั้งแต่ No.122 ถึง No.130 รูปร่างหน้าตาของกล้อง Leica 2 ชุดแรกเล็กน้อย และกล้องในชุดนี้…น่าจะกล่าวได้ว่า คือ ต้นแบบของ Leica 1 ในเวลาต่อมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า กล้องที่ผลิตออกมาทั้ง 31 กล้อง มี No. 122 ถึง No.125 ที่ไม่มีการกล่าวขวัญถึงหมายเลขดังกล่าวเข้าใจกันว่าอาจจะเนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์ของการผลิต จึงไม่ได้นำออกใช้งาน
เมื่อมาถึงจุดนี้ นับตั้งแต่การเริ่มต้นทำกล้องตัวแรก คือ UR-CAMERA จนถึง Leica Null Serie บุคคลหนึ่งที่มีบทบาท น่ากล่าวขวัญถึงก็คือ แมกซ์ เบอเรค (Max Berek) ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานการคิดค้นผลิต Leica โดยที่ แมกซ์ เบอเรค คือผู้ที่พัฒนาเลนส์ที่จะใช้กับกล้อง Leica
แมกซ์ เบอเรค เกิดในปี 1886 เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญงานเกี่ยวกับการออกแบบเลนส์ เขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาท ทำให้ Leica ลือลั่นสนั่นโลกในเวลาต่อมา แมกซ์ เบอเรค เป็นผู้ออกแบบเลนส์เพื่อใช้กับ UR-CAMERA โดยใช้ชิ้นเลนส์ 4 ชิ้น ประกอบกัน หลังจากนั้น เบอเรค ก็เป็นผู้พัฒนาเลนส์ที่ใช้กับกล้องที่ บาร์แนค ออกแบบมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1949
ศาสตราจารย์ แมกซ์ เบอเรค ผู้พัฒนาเลนส์ Leica และภาพออกแบบเลนส์ในปี 1920
รูปลักษณ์ของ Leica Null Serie (Serie O)
Leica Null Serie มีขนาดกว้าง 30 มม. ยาว 133.2 มม. และ สูง 53 มม. ขนาดมีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากรุ่น UR-CAMERA การบรรจุฟิล์มสามารถทำได้สะดวกขึ้นไม่ต้องบรรจุฟิล์มในห้องมืด เนื่องจากเป็นการบรรจุฟิล์มใส่กลัก และกรอฟิล์มกลับเข้ากลักฟิล์มตัวกล้องด้านบน จะมีปุ่มแหวนหมุนขับเคลื่อนฟิล์มพร้อมทั้งระบบนับจำนวนภาพที่ถ่ายได้โดยมีตั้งแต่ 5 ถึง 40 ภาพ และปุ่มแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงได้ 5 ระดับ คือตั้งแต่ 2, 5, 10, 20, 50 จากการตรวจสอบเทียบระดับความเร็วโดยประมาณ ขนาด 2 มีค่าเท่ากับ 1/500 วินาที, 5 มีค่าเท่ากับ 1/200 วินาที, 10 มีค่า เท่ากับ 1/100 วินาที, 20 มีค่าเท่ากับ 1/50 วินาที และ 50 มีค่าเท่ากับ 1/25 วินาที
นอกจากนี้ยังมีปุ่มกรอฟิล์มกลับเข้ากลัก และระบบปรับ Z, M, R ที่ใช้งาน คือ Z สำหรับใช้กับ Time Exposure เมื่อปรับไปที่ 50, M คือการใช้งานปกติ และ R คือการปรับเพื่อกรอฟิล์มกลับ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยช่องมองภาพที่มีถึง 3 แบบด้วยกัน โดยประกอบเลนส์เพื่อการเห็นภาพ มีทั้งชนิดแบบพับได้ และแบบทรงกระบอก ที่น่าทึ่งก็คือ การออกแบบช่องเสียบอุปกรณ์เสริม ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบที่ใช้งานมาถึงปัจจุบันนี้
กล้อง Leica Null Serie
ระบบเลนส์
แมกซ์ เบอเรค ได้พัฒนาเลนส์ที่ใช้สำหรับกล้องรุ่นนี้ที่เรียกกันว่า Anastigmat ขนาด 50 มม. F3.5 มีชิ้นเลนส์ถึง 5 ชิ้น ประกอบกัน โดยมี 3 ชิ้นเลนส์ที่ประกบติดกัน ซึ่งเลนส์รุ่นนี้ก็ยังใช้ต่อมาจนกระทั่งเป็น Compur Leica แม้ว่าจะมีชื่อเสียงเรียงนามเปลี่ยนแปลงไปบ้างในตอนหลังโดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Elmax ซึ่งนับว่าเป็นเลนส์ที่มีราคาแพงในตอนนั้น เลนส์ Elmax ได้รับการพัฒนาต่อมาอีก โดยได้รับชื่อใหม่ว่า Elmar คำว่า Elmax มีที่มาโดยใช้ชื่อของ เอิร์นสท์ ไลทซ์ มาร่วมกับชื่อของ แมกซ์ บาเรค
Anastigmat สามารถหรี่ช่องรับแสงได้ถึงขนาด F12 และเมื่อพัฒนาต่อมาในรุ่น Leica 1 สามารถหรี่ช่องรับแสงได้ถึง F 18
(ตอนต่อไป พบกับ Leica 1 (Leica 1 หรือ Model A)
ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่