เรื่อง+ภาพ : นพดล…

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 261/2019 June

เตรียมตัวถ่ายภาพ…ขบวนเรือ พยุหยาตราทางชลมารค…กันได้แล้วนะคร้าบ….ประมาณดือนตุลาคมนี้แล้วนะคร้าบ… การซ้อม… เริ่มการซ้อมฝีพายกันมาแล้ว… และจะมีการซ้อมขบวนกันที่คาดว่าจะเริ่มมีกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งอีกไม่นาน ก็จะมีการซ้อมขบวนเรือกันในแม่น้ำเจ้าพระยา…เส้นทาง ตั้งแต่ ท่าวาสุกรี จนถึง วัดอรุณราชวราราม…

ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค… ถือว่าเป็นพระราชพิธีหนึ่ง ที่มีความสวยงามอลังการในระดับโลก ช่างภาพต่างใฝ่ฝันอยากจะถ่ายภาพพระราชพิธีที่งามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่ช่างภาพจะได้มีโอกาสบันทึกถ่ายภาพความงดงามของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากที่ว่างเว้นกันมานานถึง 7 ปี นับจากที่มีพระราชพิธีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคครั้งหลังสุด

ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ที่จัดขึ้นในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จพระราชทานกฐินยังวัดอรุณราชวราราม ด้วย ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้

นี่จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับนักถ่ายภาพ ที่จะได้ถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญไว้อีกครั้งหนึ่ง และก็แน่นอนอีกเหมือนกันที่มั่นใจได้ว่า นักถ่ายภาพที่ต้องการบันทึกภาพครั้งนี้ ผมเชื่อว่ามีจำนวนนับพันเลยทีเดียว

แต่… จะมีนักถ่ายภาพกี่คนกันละที่มีโอกาสที่จะได้ถ่ายภาพในมุมภาพที่งามๆ สมกับความตั้งใจที่อยากถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งสำคัญไว้เป็นภาพของตนเองสักครั้งหนึ่ง… การเตรียมตัวแต่ต้นๆ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพครั้งนี้ สำหรับนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ก็คงจะเป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่สำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถ่ายก็คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับการหาทางถ่ายภาพครั้งนี้ ตามมาเลยครับ คำแนะนำครั้งนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่

หาจุดถ่ายภาพ

เรื่องแรกสำหรับการถ่ายภาพ ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ก็คือ การหาจุดถ่ายภาพ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ทิศทางของแสง ถ้ากล่าวโดยกว้างๆ ก็คือ จุดถ่ายภาพควรจะอยู่ในย่านฝั่งตรงข้ามกับกรุงเทพมหานคร นั่นคือ อยู่ฝั่งธนบุรี ที่ควรเป็นเช่นนี้ ก็เพราะทิศทางของแสง จะเป็นการถ่ายภาพตามแสง  โอกาสที่จะถ่ายภาพได้ภาพที่สดใสสว่างทั้งลำน้ำทำได้ง่ายกว่าการอยู่ฝั่งกรุงเทพ ซึ่งถ้าจุดถ่ายภาพอยู่ฝั่งกรุงเทพโอกาสที่จะถ่ายภาพย้อนแสงมีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครมีโอกาสอยู่ฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวังด้วยแล้ว จะได้พระบรมมหาราชวังและท้องฟ้าที่สดใสขบวนเรือสวยงามเลยทีเดียว

พิจารณาจุดถ่ายภาพ… เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ เส้นทางของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเส้นทางของขบวนเรือ จะเริ่มต้นที่ ท่าว่าสุกรี จากนั้นขบวนเรือจะล่องตามลำน้ำเจ้าพระยามายัง วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นจุดที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อประกอบพระราชพิธีทอดกฐินพระราชทาน ดังนั้น จุดที่นักถ่ายภาพมีโอกาสถ่ายภาพได้จึงอยู่ในแนวริมน้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งคือ ทั้งฝั่งกรุงเทพ และธนบุรี แต่อย่างที่ผมบอกไว้แต่เนิ่นๆ แล้วว่า ถ้าอยู่ฝั่งกรุงเทพ มีโอกาสถ่ายภาพย้อนแสงมาก ความสวยงามของขบวนเรือก็จะลดลง ทิศทางแสงที่ดี จึงอยู่ในย่านฝั่งธนบุรี แล้ว จุดไหนละ ที่จะได้ภาพที่สวยงามที่สุด เรื่องนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ผมจะบอกเล่าจากประสบการณ์ที่ถ่ายภาพมาหลายต่อหลายครั้งให้ฟังครับ ไล่กันเป็นจุดๆ ตั้งแต่จุดที่ดีที่สุดและ โอกาสที่จะเข้าไปถ่ายภาพเลยครับ

จุดที่ 1 ที่ราชนาวิกสภา กองทัพเรือ  

จุดถ่ายภาพจุดนี้ถือว่าเป็นจุดถ่ายภาพที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากเป็นจุดที่ดีที่สุด ที่ได้พระบรมมหาราชวังเป็นฉากหลัง ถ้านึกภาพง่ายๆ ก็คือ จุดถ่ายภาพจุดนี้เป็นจุดที่นักถ่ายภาพต้องการที่สุดที่จะได้ขบวนเรือ โดยมีพระบรมมหาราวังเป็นฉากหลัง ที่สำคัญก็คือ  เป็นมุมเปิดที่ไม่มีอะไรมาบังแนวของกล้องถ่ายภาพ (ยกเว้นช่างภาพกันเอง) มีแนวยาวมาก ถ้ายืนอยู่ที่หน้าราชนาวิกสภา กองทัพเรือ ซ้ายมือ คือ กรมอู่ทหารเรือ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ดีสำหรับการถ่ายภาพ ถัดมาด้านขวามือ เป็นแนวยาวมุมเปิด คือ บริเวณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่างภาพใฝ่ฝัน รองลงมาจาก จุดราชนาวิกสภา

แต่… แม้ว่าจุดถ่ายภาพจุดนี้จะเป็นจุดที่ดีที่สุดก็จริงอยู่ ซึ่งในวันซ้อม ถึง ซ้อมใหญ่ หลายคนก็มีโอกาสที่จะหาวิธีการของแต่ละคนเข้าพื้นที่ถ่ายภาพกันได้ เพียงแต่ว่า ในวันจริง สำหรับขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ปิด สามารถเข้าได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับการเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่นี้

 

จุดที่ 2 ที่วัดอรุณราชวราราม

จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถถ่ายภาพได้งดงาม โดยมีฉากหลังในแนวเฉียงที่ยังเห็นพระบรมมหาราชวังได้ ที่สำคัญ ก็คือ  เป็นจุดที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง เพื่อไปประกอบพระราชพิธีทอดกฐินพระราชทาน ดังนั้นเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักถ่ายภาพมีโอกาสสูงสำหรับการถ่ายภาพ 

ที่สำคัญก็คือ จุดนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าได้ด้วย (เท่าที่ผ่านมาประชาชนสามารถเข้าชมพระบารมีได้ในจุดที่กำหนดไว้) แต่เช่นเดียวกัน ตลอดริมน้ำจะเป็นจุดเฉพาะที่เข้าได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงไม่สะดวกนักสำหรับการหาวิธีการเข้าไปถ่ายภาพ

จุดที่ 3 ที่ท่าวาสุกรี

จุดนี้แม้ว่าจะเป็นจุดถ่ายภาพที่ดี มีสภาพย้อนแสงบ้าง แต่บริเวณริมน้ำ จะเป็นพื้นที่ปิด เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนเรือ ที่บรรดาผู้บัญชาการทหารเรือที่ต้องลงเรือ จะต้องมารวมกันที่นี่ และเป็นจุดที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาลงเรือพระที่นั่งที่นี่ จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่เป็นพื้นที่ปิด ที่บุคคลทั่วไปเข้าไม่ได้ นอกจากผู้ที่ได้รับอนุญาตเช่นกัน

 

จุดที่ 4 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถถ่ายภาพขบวนเรือได้ แม้ว่าจะย้อนแสง แต่ก็เป็นจุดที่สามารเปิดออกเห็นท้องน้ำที่มีขบวนเรือ สามารถถ่ายภาพได้ จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่มีโอกาสสำหรับการถ่ายภาพขบวนเรือได้ แต่ก็เช่นเดียวกันนะครับ ว่าไม่ใช่แต่เพียงนักถ่ายภาพที่ต้องการถ่ายภาพเท่านั้น แม้แต่บุคคลทั่วไป ก็ยังอยากชมขบวนเรือเหมือนกัน ดังนั้นการฝ่าฝันเตรียมการจึงต้องระลึกเสมอว่า ไม่ใช่เพียงแต่เราเท่านั้นที่ต้องการชม ต้องการถ่ายภาพ  

 

จุดที่ 5 บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ถึง ท่าช้าง และ ท่าเตียน

จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทั้งนักถ่ายภาพ และประชาชนที่ต้องการชมขบวนเรือ ต่างก็ต้องการเข้าไปทั้งนั้น จุดนี้สำหรับการถ่ายภาพมีโอกาสได้ภาพขบวนเรือโดยมีฉากหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม และราชนาวิกสภา แต่สิ่งที่นักถ่ายภาพต้องคิดเตรียมการไปก็คือ เป็นการถ่ายภาพที่ย้อนแสง Filter Graduate น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพมากๆ เลยทีเดียว

จุดที่ 6 สวนหลวง พระรามที่ 8

จุดใต้สะพานพระราม 8 คือ บริเวณ สวนหลวง พระรามที่ 8 เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจที่ติดริมน้ำ ถ่ายภาพได้ไม่ย้อนแสง  และไม่ใช่พื้นที่ปิดควบคุม ประชาชนทั่วไปน่าจะสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้ 

 

จุดที่ 7 บริเวณป้อมพระสุเมรุ บางลำภู

เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดสาธารณะ ที่นักถ่ายภาพมีโอกาสถ่ายภาพได้ มีแนวเปิดริมน้ำ แม้จะย้อนแสงบ้าง แต่ไม่ย้อนแสงเต็ม เป็นอีกจุดกนึ่งที่สามารถถ่ายภาพได้

จุดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้

พ้นจากจุดสำคัญที่ทุกคนอยากเข้าไปถ่ายภาพที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านจะพบว่า การหาจุดเข้าไปถ่ายภาพนั้นไม่ง่ายเลย สำหรับจุดที่มีองค์ประกอบครบ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพอื่นๆ จะไม่มีองค์ประกอบที่น่าสนใจ ภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบงามจริงอยู่เป็นภาพที่ทุกคนต้องการ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพองค์ประกอบอื่นๆ จะเสียเปรียบเสมอไป ท่านก็มีโอกาสได้ภาพงามๆ จากจุดอื่นๆ อีกเหมือนกัน อย่างเช่น จุดโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า และบริเวณริมน้ำอื่นๆ  รวมทั้ง ร้านอาหารริมน้ำต่างๆ บ้านเรือนริมน้ำ ก็เป็นจุดที่ท่านต้องไปสำรวจดู

สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ บริเวณสะพานต่างๆ ท่านมีโอกาสถ่ายได้อย่างมากเฉพาะวันซ้อมเท่านั้น วันจริง บนสะพานจะห้ามขึ้นทุกสะพาน

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ พิจารณาจุดถ่ายภาพ ในแผนที่ดูแล้วคิดเลยว่าท่านจะมีโอกาสเข้าไปได้ที่จุดไหนสำหรับการถ่ายภาพ จากนั้น เริ่มสำรวจเลยว่าริมน้ำบริเวณไหนบ้างที่ท่านสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้สะดวกที่สุด มีโอกาสเข้าไปได้มากที่สุด มีเวลาเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ เลยครับ

เตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพ

เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องยากแล้วละครับ เลนส์ที่จะใช้ ควรเผื่อไว้ทั้งช่วงเลนส์มุมกว้างถึงเลนส์ถ่ายไกล แต่ถ้าท่านอยากถ่าย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยแล้วละก็…ทำใจไว้หน่อย ขนาดเลนส์ 400-600 มม. ถึงจะพอครับ บางท่านอาจจะถามว่าควรนำขาตั้งกล้องไปด้วยหรือไม่ ผมขอแนะนำว่า ไม่ควรครับ ลำพัง ตัวพร้อมกระเป๋ากล้องไปยึดพื้นที่สำหรับการถ่ายภาพให้ได้ ผมว่าก็เหนื่อยแล้วครับ ถ้ามีขาตั้งกล้องไปด้วย จะเป็นภาระมาก และ  สถานที่ก็ไม่อำนวยให้กางขาตั้งกล้องเลยครับ

เริ่มคิด…เตรียมการ…สำรวจพื้นที่…พิจารณาว่าเราสามารถเข้าพื้นที่ได้แน่ๆ ยึดพื้นที่ริมน้ำสำหรับการถ่ายภาพให้ได้ก่อน  การถ่ายภาพนั้นถึงเวลา ก็ตัวใครตัวมันแล้วละครับ…

คงได้พบกันช่วงมีการซ้อมขบวนเรือนะครับ…ติดตามข่าวสารได้ที่ แฟนเพจ FB ของ Camerart Magazine หรือ FB ของผมก็ได้ครับ Nophadon Camerart Mag Achasuntisuk จะคอย Update ข้อมูลมาให้ครับ….