เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 253/2018 Ocetober

หลายคนน่าจะทราบกันนะครับว่า ช่างภาพหนุ่มคนนี้มีดีกรีรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายมากมายเพียงใด ทั้งรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หรือจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมภาพถ่ายนานาชาติวันนริศฯ และอีกหลากหลายรางวัลที่เกินกว่าจะนับนิ้วหมด ดังนั้นแล้ว แนวคิด มุมมองต่างๆ ของเขานั้นน่าจะมีความน่าสนใจพอสมควร

พอดีผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ วินนิวัตร ไตรตรงธนรัตน์ เกี่ยวกับเรื่องของการประกวดภาพถ่าย ผมจึงคิดว่าหลายเรื่องที่คุยกัน บางประเด็นสามารถเอามาเผยแพร่ได้ เพื่อแบ่งปันเพื่อนๆ ที่สนใจงานประกวดภาพถ่าย จะก้าวเข้ามาสู่วงการประกวดภาพ ซึ่งคิดว่าอาจจะมีประโยชน์บ้าง จึงขอตัดบางช่วงบางตอนมาบอกต่อกันนะครับ

วินนิวัตร ไตรตรงธนรัตน์

ตีโจทย์อย่างไรเมื่อเห็นหัวข้อประกวด วิธีคิด แนวคิด ไอเดียร์ต่างๆ ก่อนถ่ายภาพ

วิน : “หัวข้อประกวดนั้น เปรียบเทียบกับโจทย์ที่ตั้งขึ้นเอง โดยการตีความหมายจะต่างกัน หัวข้อประกวดภาพถ่ายนั้นแยกออกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ หัวข้อที่เปิดกว้างมากๆ (ถ่ายอะไรก็ได้) กับ หัวข้อที่เจาะแคบๆ (เนื้อหาเรื่องราวในสถานที่ๆ จำกัดเฉพาะเจาะจง)

หัวข้อที่กว้างๆ นั้นผมจะใช้การสร้างสรรค์ในเรื่องของความคิดมากกว่า ตัวหัวข้อกว้างๆ มันทำให้เรามีความเป็นตัวเองสูง อะไรที่มันเกิดขึ้นแบบง่ายๆ ตรงโจทย์มากๆ ผู้แข่งขันมักจะมองคล้ายๆ กันไปหมด ความเลี่ยนของภาพที่เหมือนๆ กันก็จะเยอะ ฉะนั้นความแตกต่างที่สร้างสรรค์ขึ้นก็ฝึกความเป็นเรามากกว่าเดิม นี่คือความยาก ของการตีความแบบหัวข้อประกวดที่กว้างๆ (ถ้าเราทำบ่อยๆ นี้ความท้าทายที่มีวิธีคิดแบบไม่ตัน) ถึงแม้จะไม่ได้รางวัลก็ตาม มันจะมีความเป็นตัวตนเราไม่มากก็น้อย

ส่วนหัวข้อที่ เฉพาะเจาะจง มันเหมือนการเฟ้นหามุมมองประสบการณ์ การช่วงชิงวิธีคิดที่รวดเร็วกว่าหัวข้อกว้างๆ มันต่างตรงที่สถานที่ช่วงเวลาการเกิดขึ้น ทัศนมิติ การสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวนั้นๆ ที่จดจำในสิ่งต่างจากรอบตัวช่างภาพแต่ละคน เช่นโจทย์ที่ให้ถ่ายเฉพาะสถานที่นี้ ชุมชนนี้ อำเภอนี้ ในขอบเขตที่กำหนด

จริงๆ แล้วในอดีตที่ผ่านในด้านของความคิด กระบวนการตีโจทย์ของหัวข้อต่างๆ อดีตผมพูดตรงๆ ว่า การคาดเดาโอกาสความน่าจะเป็นสถิติต่างๆ ของแนวโน้มว่าภาพแต่ละเวที โดยประสบการณ์ว่าภาพน่าจะออกเป็นประมาณนั้นประมาณนี้ ก็คือการเดาทางจากกรรมการที่ตัดสินว่าแนวประมาณนี้ พอทำเข้าบ่อยๆ วันเวลาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากเราดูภาพของตัวเราแล้วไปมองภาพของคนอื่นๆ ถ้าคุณมองแล้วเป็นอย่างไร จงคิดให้นานๆ อย่าคิดเข้าข้างตัวเองมากจนเกินไป ก็จะเห็นมุมนั้นๆ ที่แคบๆ อยู่ด้านเดียว ผมกำลังบอกว่านี้คือเทคนิคง่ายๆ กับแง่มุมทางความคิด ที่วันเวลาผ่านที่เปลี่ยนไปตัวเราเองจะโฟกัสได้ชัดขึ้น”

รางวัลชนะเลิศภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2558 หัวข้อ ไกลสุดกู่

รางวัลชนะเลิศ ท่องเที่ยวอาเซียน 2560

รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระราชินีนาถฯ หัวข้อ ขิงข่าโลก 2558

ความแตกต่าง ยาก และง่าย ในงานประกวดภาพถ่าย

วิน : “ความแตกต่าง ความยากนั้นคือการจับจุดว่าเราต้องการเนื้อหาอะไรเป็นหลักมากกว่า เช่น การวางแผนกระบวนการความคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน เพราะประกวดภาพนั้นบางคนคิดเยอะแต่ถ่ายน้อย (นี้คือสิ่งละเอียดอ่อนมาก) ชัดเจนในมุมมอง ต่างจากคนที่ถ่ายเยอะๆ ใช้เวลานานๆ ไม่รู้จบ จนบ้างที สิ่งแวดล้อมผู้คนที่อยู่ในภาพอาจไม่เป็นธรรมชาติ (สิ่งนี้เราหลีกเลี่ยงรบกวนให้น้อยที่สุดนะ) สภาพอากาศช่วงเวลาการรอคอยเกิดเป็นปัจจัยอยู่หลายด้านสิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างในองค์รวม

ส่วนตัวผมการแก้ไขสถานการณ์แบบนี้เราต้องรู้ถึงการยืนระยะ มุมมองของช่วงเลนส์ที่มีความโดดเด่นที่สร้างเนื้อหาภาพออกมาได้อย่างน่าตื่นตาในระยะเลนส์นั้นๆ เช่น การถอยห่างจากวัตถุมากๆ ระยะมิติจะบ่งบอกถึงความน่าสนใจ หรือแม้แต่การที่เราอยู่ใกล้วัตถุมากๆ ควรคิดก่อน แล้วค่อยจับจังหวะให้ดีเพื่อไม่ให้มีการล่าช้ารบกวนผู้คนในภาพให้น้อยที่สุด สิ่งนี้คือความยากง่าย”

รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนฯ หัวข้อ สื่อบ้านนอก 2559

รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระองค์เจ้าธีปังกรรัศมีโชติ หัวข้อ สวนสัตว์ 2557

การเลือกภาพส่งเข้าประกวด การเลือกรูป การคัดภาพมีวิธีการอย่างไร

วิน : “การเลือกภาพส่ง นี้คือไม้ตายเลย 555 เอาตรงๆ นะครับ ประเด็นคืออยู่ที่กฎเกณฑ์การจำกัดจำนวนภาพเช่นถ้าน้อยไปก็จะเป็นผล 555 (ตัวเลือกน้อย) การคาดเดาก็มีการผิดพลาดสูงแต่เราคงต้องทำตามกฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง ซึ่งทุกอย่างต้องรักษาไว้ในกติกา

หลักๆ การเลือกภาพคงต้องอยู่จากความชอบส่วนตัวของเราเป็นส่วนใหญ่ ก็ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคน ที่จะกล้าสร้างความแตกต่างออกมาโดยส่วนใหญ่ช่างภาพก็จะเลือกตามความครอบคลุมหลากมุมมอง ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความชอบของกรรมการนั้นๆ ว่าตรงใจหรือไม่ ส่วนผมส่งตามใจตัวเราเองซะมากกว่า ดีกว่าเดาใจที่เค้าชอบนะ 555”

รางวัลชนะเลิศ วันข้าวไทย 2560

รางวัลชนะเลิศ ท่องไปในอาเซียน 2558

รางวัลชนะเลิศ วิถีชีวิต สมุทรปราการน่าเที่ยว

ความน่าสนใจของงานประกวดภาพถ่ายในเมืองไทย

วิน : “ประกวดภาพในเมืองไทยมีด้วยกันหลากหลายสนาม มีความแตกต่างกันออกไปอยู่มากมาย บางสนามก็มีแนวภาพแบบเดิมๆ บางสนามก็มีความแตกต่าง อยู่ที่เวทีไหนที่ได้ความนิยมเวทีนั้นช่างภาพก็จะมีแรงบันดาลใจอยากส่งมากขึ้น เช่นเวทีนานาชาติ, ถ้วยพระราชทาน, ระดับประเทศประมาณนี้

บางคนที่ส่งภาพหวังเงินรางวัลมากจนเกินไป จริงๆ ก็ไม่ผิดมันเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล สิ่งนี้มันกดดันตัวเราเองในการสร้างสรรค์ผลงานนะผมว่า ถ้าเรามองว่าความสำเร็จจากมาตรฐานผลงานที่ตัวเรา ต่อให้ได้รางวัลอะไรก็ตาม สิ่งนี้แหละที่จะเปลี่ยนวิธีคิดจากตัวเราเอง”

รางวัลชนะเลิศ กรุงรัตนโกสินทร์ 236 ปี

รางวัลชนะเลิศ คนมีชีวิตเมืองมีชีวา 2558

รางวัลชนะเลิศ กรุงรัตนโกสินทร์ 234 ปี

อยากบอกอะไรสำหรับคนที่สนใจการประกวดภาพ

วิน : “มันคือเกมส์ๆ หนึ่งหรือเกมส์หลายๆ เกมส์ที่เปรียบเสมือนเวทีประกวดภาพต่างๆ ที่เราอยากเล่น ในเมื่อเลือกที่จะเล่นก็ต้องเล่นไปตามเกมส์นั้น เมื่อจบเกมส์ มันไปต่อไม่ได้ คือ จุดสิ้นสุดว่าผู้ใดเป็นฝ่ายชนะ เราต้องรับสภาพกับสิ่งที่เป็นไปตามนั้น รางวัลไม่ใช่จุดสู่สุดของการถ่ายภาพแต่มาตรฐานตัวเรานั้นอยู่ที่ใด…คำตอบคือ ความเป็นตัวตนของเรานั่นเอง

โลกของดิจิตอลภาพถ่ายมันผ่านไปอย่างรวดเร็วนะ จนบ้างทีทำซ้ำๆ กลายเป็นภาพที่คุ้นชิน แต่มุมมองทางความคิดยังอยู่กับเราตลอดกับวันเวลาที่เราเจอทางตัน มันก็คือเทคนิคในการสร้างสรรค์งานของเราแล้วเราจะภูมิใจที่คนอื่นชื่นชอบงานของเรา ในมุมมองส่วนตัวของผมนะ ผมว่าสื่อทุกวันนี้ภาพถ่ายมันวิ่งเข้าหาตัวเราเยอะมากๆ เป็นธรรมดาของยุค 4.0 มันกลายเป็นยุคที่ผมว่าคนถ่ายภาพเก่งๆ ภาพสวยๆ เยอะมากๆ (เราลองหาโอกาสที่สร้างความว้าว ออกมาจากเวทีอื่นๆ ดูสิครับ) แล้วคุณอาจจะเจอคำตอบ”

รางวัลยอดเยี่ยม วันนริศ Cool 2559

รางวัลยอดเยี่ยม ระบบกรมชลประทาน 2557

รางวัลชนะเลิศ โฮมสเตย์ 2556

นี่ก็คือมุมมองของช่างภาพประกวดระดับท๊อปคนหนึ่งของเมืองไทยนะครับ ก็หวังว่าน่าจะพอจุดชนวนความคิดสำหรับหลายคนที่สนใจงานประกวดภาพถ่าย ลองส่งภาพถ่ายที่เรามีเข้าประกวดดู หลายสนามมีรางวัลที่น่าสนใจนะครับ ไม่แน่เมื่อคุณเข้ามาสู่วงการประกวดแล้วการถ่ายภาพของคุณอาจพัฒนาขึ้นอีกอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียวครับ…

รางวัลชนะเลิศ กระทรวงพลังงาน หัวข้อ มีพลังงาน มีความสุข 2556