บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 243/2017 December
กองทัพเรือได้รับความไว้วางใจจากกองทัพเรือประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ในปีพุทธศักราช 2560 ตามมติที่ประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ครั้งที่ 8 ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่าง 26-28 สิงหาคม 2557 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 28 กรกฎาคม 2558 ให้ความเห็นชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวและกำหนดให้เป็นกิจกรรมหลักระดับประเทศ เพื่อให้การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความสมเกียรติ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นกิจกรรมยิ่งใหญ่ระดับโลก กองทัพเรือจึงได้รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหลายกิจกรรมมาจัดในช่วงระยะเวลาเดียวกัน คือระหว่างวันจันทร์ที่ 13 ถึงวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 รวมเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ณ พื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดใกล้เคียง และพื้นที่อ่าวไทยตอนบนรวมเรียกว่า “มหกรรมทางเรือนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี การก่อตั้งอาเซียน” โดยเมืองพัทยาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรับผิดชอบจัดกิจกรรมบนบก ซึ่งเป็นกิจกรรมสมทบเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ส่วนกองทัพเรือรับผิดชอบจัดกิจกรรมทางทะเลซึ่งเป็นกิจกรรมหลักเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมืออันดีระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพเรืออาเซียนและกองทัพเรือนอกอาเซียน
พิธีสวนสนามทางเรือ เป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งของทหารเรือ ที่ยึดถือปฏิบัติกันเป็นสากลทั่วโลก จัดขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลสำคัญๆ ของประเทศ หรือเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกำลังทางเรือในวาระสำคัญของชาติ เช่น วันชาติ วันที่ระลึกในการกระทำยุทธนาวี หรือ เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นต้น
พิธีสวนสนามทางเรือ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Fleet Review หรือ Naval Review และ Naval Vessels Parade หรือ Naval Parade
Fleet Review จะเป็นการสวนสนามโดยเรือทั้งหมดทิ้งสมออยู่กับที่ ในบริเวณอ่าวที่คลื่นลมสงบ และเรือตรวจพลหรือเรือประธาน ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะอยู่บนเรือลำนั้น จะวิ่งผ่านเรือต่างๆ ไป เมื่อเรือประธานวิ่งผ่านเรือแต่ละลำ ก็จะมีการแสดงความเคารพของทหารบนเรือต่อประธานในพิธีซึ่งอยู่บนเรือประธาน ลักษณะของ Fleet Review เช่นนี้ จะเหมือนกับการตรวจพลสวนสนามทางบก ซึ่งใช้รถวิ่งผ่านแถวทหาร
Naval Parade เรือทั้งหมดจะแล่นเป็นแถว หรือรูปกระบวนและวิ่งผ่านเรือตรวจพล หรือ เรือประธาน ไปตามลำดับ โดยเรือประธาน อาจจะแล่นไปในทิศทางเดียวกับเรือในหมู่เรือสวนสนาม แต่ใช้ความเร็วน้อยกว่าเรือในหมู่เรือ หรือแล่นสวนทางกันก็ได้ ซึ่งเมื่อเรือลำใดแล่นผ่านเรือประธาน ทหารบนเรือนั้นก็จะทำความเคารพประธาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ประวัติการ Fleet Review ในประเทศไทย
การสวนสนามทางเรือเริ่มต้นมาจากอังกฤษ เรียกว่า Fleet Review ต่อมาได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ จึงได้มีการแบ่งพิธีสวนสนามทางเรือ เป็น ๒ ประเภท คือ Fleet Review หรือ Naval Review และ Naval Vessels Parade หรือ Naval Parade โดย Fleet Review
ในส่วนของกองทัพเรือไทยเอง เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่านำแบบอย่างมาจากพิธี Coronation Review ของอังกฤษซึ่งเป็นธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินภายหลังจากพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลทางเรือ พิธีนี้ได้กระทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2430
ในปี พ.ศ. 2496 อังกฤษได้จัดให้มีพิธีพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 รัฐบาลไทยได้รับเชิญให้ส่งเรือหลวงเข้าร่วมพิธีด้วย กองทัพเรือจึงได้ส่งเรือหลวงโพสามต้น ไปร่วมพิธี เนื่องจาก ร.ล.โพสามต้นเป็นเรือที่กองทัพเรือได้รับมอบจากราชนาวีอังกฤษที่ประเทศสิงคโปร์ โดยได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 แล้วเข้าร่วมในพิธีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2496 และได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2496
ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 กองทัพเรือได้จัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือขึ้นตามแบบประเทศตะวันตกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2497 ณ บริเวณบางแสน จังหวัดชลบุรี โดยจัดเป็นกองเรือฝึกประกอบด้วยเรือหลวง จำนวน 45 ลำ โดยมี จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล) ขณะมียศ พลเรือเอก ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับกองเรือฝึก และมี พลเรือเอก หลวงชำนาญ อรรถยุทธ์ (เอื้อน กุลไกรเวส) ขณะมียศ พลเรือโท ผู้บัญชาการกองเรือ ยุทธการเป็นรองผู้บังคับกองเรือฝึก และใช้วิธีสวนสนามทางเรือ Naval Parade คือ จัดเรือ เป็น 4 หมวดเรือ แบ่งเป็น 2 แถว โดยมี เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือตรวจพลสวนสนาม และจอมพลเรือ ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการตรวจพลใช้สถานที่ในทะเลบริเวณหน้าบางแสนและมีเครื่องบินจากกองทัพอากาศบินผ่านร่วมตรวจพลด้วย โดยมีเรือเข้าร่วมพิธี จำนวน 41 ลำ
พิธีสวนสนามทางเรือเป็นพิธีที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะจะได้เห็นเรือต่างๆ ทอดสมอร่วมกันในอ่าวเดียวกัน หรือแล่นเป็นกระบวนสวยงาม ซึ่งปกติเราจะไม่ได้เห็นบ่อยนัก ยิ่งโดยเฉพาะกับพิธีสวนสนามทางเรือนานาชาติ ที่นอกจากจะได้เห็นเรือรบของชาติตัวเองแล้ว ก็ยังจะได้เห็นเรือรบจากชาติอื่นๆ ซึ่งจะมีลักษณะที่สวยงาม และสง่างามแตกต่างกันไป รวมถึงเครื่องแบบทหารเรือของแต่ละประเทศ ก็ยังมีรายละเอียดแตกต่างกันที่น่าสนใจซึ่งเราจะได้เห็นจากเรือรบที่เข้าร่วมงาน ดังนั้นจึงนับว่า มหกรรมทางเรือนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี อาเซียนนี้ เป็นงานที่ทุกคนไม่ควรจะพลาดอย่างเด็ดขาด
พิธีสวนสนามทางเรือนานาชาติฉลอง 50 ปีอาเซียน
พิธีเปิดงาน สวนสนามทางเรือนานาชาติแลอง 50 ปี อาเชี่ยน กระทำกันในวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน โดยมี พลเรือเอก นริศ ประทุมสุวรรณ กล่าวรายงานการจัดงาน ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี พัทย
ช่วงบ่ายในวันเดียวกัน เป็นกิจกรรม การแสดงการกู้ภัยทางทะเลของกองทัพเรือ และการแสดง Fancy Drill และกิจกรรมเดินพาเหรดทางบกในมหกรรมทางเรือฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ณ ถนนเลียบชายหาดเมืองพัทยา โดยมี พลเรือเอกนริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เป็นประธานในพิธีฯ
การเดินพาเหรดทางบกเป็นกิจกรรมที่ประกอบด้วยกำลังพลเรือของกองทัพเรือกำลังพลเรือของประเทศสมาชิกอาเซียนและกำลังพลเรือของประเทศนอกอาเซียน นอกจากนั้นยังมีขบวนศิลปวัฒนธรรม ขบวนแฟนซีจากสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงของเมืองพัทยาเข้าร่วมการเดินพาเหรด ซึ่งเป็นกิจกรรมแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนผู้ประกอบกิจการธุรกิจท่องเที่ยวสมาคมโรงแรมและผู้ประกอบการต่างๆ ในเมืองพัทยา เพื่อต้อนรับกำลังพลเรือนานาชาติ และต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี อาเซียน ให้มีความคึกคักสนุกสนานสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก
วันที่ 20 พ.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการตรวจพลสวนสนามทางเรือนานาชาติ ในงานมหกรรมทางเรือนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน ณ อ่าวพัทยา โดยกองทัพเรือในนามของกองทัพเรือประเทศสมาชิกอาเซียนได้เชิญกองทัพเรือมิตรประเทศ ร่วมจัดเรือรบที่ทันสมัยและมีสมรรถนะสูง เข้ามาร่วมสวนสนามทางเรือนานาชาติ จำนวน 25 ลำ รวมทั้งเรือรบไทย รวมทั้งหมด 40 ลำ ถือเป็นภาพแห่งความยิ่งใหญ่และแสดงถึงความร่วมมืออันดีระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพเรืออาเซียนและกองทัพเรือนอกอาเซียน อันเป็นการส่งเสริมเสถียรภาพด้านความมั่นคงทางทะเลให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
สำหรับเรือรบนานาชาติที่มาร่วมการสวนสนามทางเรือครั้งนี้ จำนวน 25 ลำ รวมกับเรือรบไทย รวมทั้งหมด 40 ลำ ดังนี้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลี จีน กัมพูชา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม บังคลาเทศ ญี่ปุ่น ศรีลังกา ปากีสถาน และอินเดีย และยังมีผู้บัญชาการทหารเรือและผู้แทนระดับสูงของกองทัพเรืออาเซียน และกองทัพเรือนานาชาติกว่า 39 ประเทศเข้าร่วมงาน ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา เยอรมัน ญี่ปุ่น คูเวต มาเลเซีย มัลดีฟส์ เมียนมา เปรู ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต เวียดนาม บาห์เรน บังกลาเทศ บราซิล แคนาดา ชิลี จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี อิสราเอล อินโดนีเซีย ลาว มอริเชียส นิวซีแลนด์ โอมาน ปากีสถาน รัสเซีย สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา