เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 239/2017 August
การซ้ำ นับเป็นอีกวิธีหนึ่งในการจัดองค์ประกอบ ซึ่งโดยส่วนมากศิลปินมักจะนำมาใช้ประโยชน์ในงานศิลปะบ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะภาพถ่าย ที่จัดเป็นทัศนศิลป์ (Visual Art) แขนงหนึ่งเองก็หนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับอิทธิพลของการซ้ำนี้ไปด้วย ภาพวัตถุที่มี รูปทรง สี เส้น ต่างๆ ที่เหมือนกันมากกว่าหนึ่ง ผ่านการจัดวางด้วยมุมมอง, การให้น้ำหนักแสงเงา, สมดุล เหล่านี้คือที่มาของการซ้ำที่สวยงาม ในทางศิลปะเราแบ่งการซ้ำไว้ด้วยกันถึง 3 ลักษณะครับ นั่นก็คือ การซ้ำในเรื่องของเส้น การซ้ำในเรื่องของสี และการซ้ำในเรื่องของรูปทรง
ลักษณะการซ้ำในเรื่องของเส้นนั้นจะเกิดขึ้นจากพื้นที่ของส่วนที่เป็นแสงและเงาตัดกัน มีค่าน้ำหนักของแสงที่แตกต่างกัน หรือไล่ระดับกันไป ส่วนลักษณะการซ้ำของสีนั้นก็จะเป็นในเรื่องของโทนสีต่างๆ ซึ่งผมเคยกล่าวไปแล้วในบทความเรื่องสี คงจะไม่นำมาฉายซ้ำเดี๋ยวจะถูกมองว่าเอาของเก่ามาเล่าใหม่ สรุปง่ายๆ คือการใช้โทนสีที่ใกล้เคียงกันนั่นแหละ สำหรับการซ้ำในลักษณะของรูปทรง อันนี้แหละครับที่น่าสนใจ ทำไมหรือครับก็เพราะว่าการซ้ำในเรื่องของรูปทรงนี้สามารถสื่อออกมาได้ชัดเจนกว่าการซ้ำในลักษณะของเส้น และสี และสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าด้วย
การซ้ำทั้ง 3 ลักษณะ ที่กล่าวมานี้เมื่อแยกรูปแบบออกมาแล้วจะมีรูปแบบอยู่ด้วยกันเพียงแค่ 2 รูปแบบของการซ้ำเท่านั้น รูปแบบแรก เป็นการซ้ำของวัตถุแบบเดียวกัน ชนิดเดียวกัน วางซ้ำกันโดยมีจังหวะที่สม่ำเสมอกันอย่างเป็นระเบียบ เราเรียกรูปแบบนี้ว่า Pattern สำหรับรูปแบบที่ 2 เป็นการซ้ำของวัตถุแบบเดียวกัน ชนิดเดียวกัน แต่วางซ้ำกันโดยมีจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอกัน ไม่เป็นระเบียบ รูปแบบนี้เราเรียกว่า Repetition ถ้าจะพูดกันง่ายๆ ก็คือ Repetition นั้นเป็นการซ้ำแบบไม่เป็นระเบียบ ส่วน Pattern เป็นการซ้ำแบบมีระเบียบนั่นเอง ทำให้ในบางครั้งก็เรียกการซ้ำแบบ Pattern ว่า ลวดลาย เพราะด้วยจังหวะที่เป็นระเบียบสม่ำเสมอนั่นเอง
การซ้ำนั้น จะว่าไปแล้วดูเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทำไมเหรอครับก็คุณเคยได้ยินคำว่า ภาพดูซ้ำซากน่าเบื่อ บ้างไหมล่ะครับ นั่นก็เป็นเพราะว่าในภาพผู้ถ่ายไม่ได้นำความงามจากการซ้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ทำให้ภาพการซ้ำของเราดูแล้วน่าเบื่อแทนที่จะชวนให้น่ามอง
แล้วเราควรทำอย่างไรดีที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับภาพถ่ายของเรา ก่อนอื่นเราต้องหาสาเหตุกันก่อนว่าการซ้ำที่ดูน่าเบื่อนั้นเป็นสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุใดบ้าง
ประการแรก การซ้ำที่ดูน่าเบื่อ เป็นการซ้ำที่เกิดจากท่วงทำนองและจังหวะที่มีความถี่-ห่าง ซ้ำๆ กัน ‘มากครั้ง’ จนเกินไป เว้นช่องว่างของเนื้อที่เท่ากัน มีความถี่เท่ากัน อะไรๆ เท่ากันไปหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกในด้านความจำเจให้เกิดมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง ‘เรื่องราว’ ที่ซ้ำซ้อนก็สร้างการซ้ำที่เบื่อหน่ายได้ การซ้ำที่ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสร้างความสะดุดตาในภาพเลยนั้นทำให้ขาดความโดดเด่นไป ยกตัวอย่างภาพที่มีความโดดเด่นที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นกันมาก็เช่นภาพมุสลิมที่หันหลังกันเป็นกลุ่มแล้วมีคนหนึ่งหันหน้ามาที่กล้องไงครับ ซึ่งในกรณีนี้นักถ่ายภาพควรมองหาเงื่อนไขที่จะเข้ามาเบรคการซ้ำในภาพเพื่อสร้างให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นได้
ประการที่สาม การซ้ำย่อมเกิดจากสิ่งมากกว่าหนึ่งมารวมกันในที่เดียวกัน ดังนั้น ‘จังหวะ’ ที่ดีย่อมทำให้ภาพดูไม่น่าเบื่อขณะเดียวกันถ้าขาดจังหวะที่เหมาะสม นอกจากภาพถ่ายจะดูน่าเบื่อแล้วยังทำให้รู้สึกขาดๆ เกินๆ อีกด้วย ก็เหมือนกับถ้าเราได้ยินจังหวะ 1..2..1..2..1..2. มากๆ แล้วอยู่ๆ ก็มี 1..2..1..2..1..2..3 ได้จังหวะที่ 3 นั่นเองที่จะทำให้น่าสนใจ รู้สึกสะดุดขึ้นมาทันทีเลยเชียว ซึ่งในการค้นหาจังหวะแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใด ต้องอาศัยความรู้สึกของเราเองว่าควรจะจัดการซ้ำของเราอย่างไร จังหวะไหนควรจะเป็น 3 จังหวะไหนควรเป็น 1, 2
นอกจากปัจจัย 3 ประการที่กล่าวมานั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไปนั่นก็คือ ลักษณะและทิศทางของแสงครับ ซึ่งมีผลที่ทำให้การซ้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างกัน แสงเป็นตัวสร้างเงา และเงานั้นเองที่สามารถเน้นลวดลายของการซ้ำบนวัตถุ ทิศทางจะเป็นตัวกำหนดขนาดเล็กใหญ่ของเงานั้นให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ในบางครั้งเราต้องสังเกตวัตถุที่เราจะถ่ายให้ดีว่าช่วงเวลาไหนที่แสงตกลงบนวัตถุแล้ว เงาที่เกิดขึ้นทำให้ภาพการซ้ำของเราสวยงามมากกว่ากัน
สำหรับในการถ่ายภาพซ้ำนั้น ไม่จำเป็นเลยนะครับที่เราจะต้องหาวัตถุที่แปลกใหม่เสมอไป วัตถุธรรมดาๆ ใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละครับดีที่สุดแล้ว ผมยังยืนยันอยู่เสมอและทุกครั้งว่าภาพศิลปะนั้นมีอยู่ทุกๆ ที่ ใกล้ตัวคุณรอบตัวคุณ หรือไกลตัวคุณออกไป บางทีอาจอยู่ที่ผู้อื่นแต่เราสามารถเก็บบันทึกไว้ได้ก็มี เพียงแต่เราอย่ารีบเบื่อหน่ายไปเสียก่อน โอกาสที่จะสร้างสรรค์ผลงานมีอยู่อีกมาก ในเรื่องการใช้สี จังหวะ รูปทรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเราสามารถเลือกใช้อย่างพินิจพิเคราะห์สักเล็กน้อย ก็สามารถทำให้งานภาพถ่ายของเราไม่ด้อยค่าไปกว่าใคร เริ่มจากลองนำสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวมาจัดวางในรูปแบบที่ซ้ำๆ กัน วางองค์ประกอบภาพให้ลงตัวอาจนำทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งเป็นหลัก แสงเงาอย่าลืมหรือมองข้าม ได้ผลอย่างไรลองนำไปเปรียบเทียบหรือปรึกษากับผู้ที่เก่งกว่าดู หรือตัวเราเองจะดูงานของผู้อื่นให้มากๆ แล้วเก็บข้อดีต่างๆ มาผสมผสานให้เป็นรูปแบบของเราดู ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ดีทีเดียว
ก่อนจากกันในตอนนี้ผมขอทิ้งท้ายแบบเท่ห์ๆ ดูบ้างว่า ภาพการซ้ำนั้น ซ่อนอยู่ทุกหนทุกแห่งและแอบคอยเราอยู่ แต่เราผู้ถ่ายภาพต้องมีความพร้อมที่จะออกแสวงหาภาพเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะของเราแต่ละคนล่ะครับที่จะทำให้ได้ภาพที่สวยงามกลับมาได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่าเราจะมีหลักการที่เหมือนกัน แต่การช่างสังเกตของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันนะครับ…