เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 235/2017 April
ความขัดแย้ง หรือ Contrast ในทางศิลปะจะหมายถึงความไม่ประสานสัมพันธ์กัน หรือสิ่งที่ตรงข้ามกัน แตกต่างกัน การนำความขัดแย้งมาใช้ในงานศิลปะจะช่วยทำให้ผลงานไม่เกิดความน่าเบื่อ นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดความตื่นเต้น ความน่าสนใจขึ้นอีกด้วย ความขัดแย้ง (Contrast) จะตรงข้ามกับความกลมกลืน (Harmony) เราสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์ประกอบได้หลายลักษณะ ขัดแย้งกันในขนาดขัดแย้งกันในรูปร่าง-รูปทรง ขัดแย้งกันในทิศทาง ขัดแย้งกันในแสง และขัดแย้งกันในเรื่องของสี
ความขัดแย้งของขนาด Size contrast
ขนาดของวัตถุมีความต่างกัน สามารถนำมาจัดวางอยู่ด้วยกันเพื่อเน้นขนาดของวัตถุนั้น สิ่งที่มีขนาดเล็กจะดูเล็กลงเมื่ออยู่แวดล้อมสิ่งที่มีขนาดใหญ่ สิ่งที่มีขนาดใหญ่จะดูใหญ่ขึ้นเมื่อแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้สิ่งที่มีขนาดแตกต่างกันเมื่อมาอยู่ด้วยกันจะสามารถใช้อ้างอิงขนาดของกันและกันได้ เช่นภาพน้ำตกขนาดใหญ่ เมื่อมีคนไปยืนอยู่ก็จะทำให้รู้ว่าขนาดของน้ำตกเทียบกับสัดส่วนของคนแล้วมีขนาดเท่าไหร่
ความขัดแย้งของรูปร่าง-รูปทรง Shape-Form contrast
วัตถุต่างๆมีรูปร่าง-รูปทรงที่แตกต่างกันออกไป การนำรูปร่าง-รูปทรงที่ต่างจากรูปทรงอื่นมาอยู่ด้วยกันจะสามารถทำให้รูปร่าง-รูปทรงนั้นโดดเด่นขึ้นมาได้
ความขัดแย้งของทิศทาง Direction contrast
ทิศทางของการเคลื่อนที่ของวัตถุ ในการเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันของวัตถุหลายชิ้น ถ้ามีวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่มีทิศทางการเคลื่อนที่สวนทางกันกับวัตถุส่วนมาก ก็จะแสดงถึงความขัดแย้งได้ดี
ความขัดแย้งของแสง Light contrast
ความขัดแย้งของค่าแสงบริเวณต่างๆ ที่มีค่าความสว่างที่แตกต่างกัน มีลักษณะของแสงที่แตกต่างกัน แสงที่มีความต่างของค่าแสงมากภาพจะมีค่าความขัดแย้งสูง (High contrast) ส่วนค่าความต่างของแสงน้อยจะมีค่าความขัดแย้งในภาพต่ำ (low contrast)
อัตราส่วนแสง (Lighting ratio) เป็นการแบ่งความเข้มของแสงทั้งสองด้าน (ซ้าย-ขวา) โดยให้แต่ล่ะด้านมีความเข้ม หรือความสว่างไม่เท่ากัน เป็นการสร้างมิติให้กับสิ่งที่เราจะถ่าย
แสงนุ่มแสงแข็ง (Hard light-soft light) มีผลต่อความขัดแย้งในภาพ แสงแข็งจะให้ Contrast ที่มากกว่า แสงนุ่ม
ความขัดแย้งของสี Color contrast
สีตัดกันจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ขัดแย้ง และช่วยสร้างความเด่นให้กับสิ่งที่เราให้ความสนใจ โดยสีที่ตัดกันนั้นจะเป็นสีตรงข้ามวรรณะกัน โดยสีตัดกันที่มีผลของความตัดกันมากที่สุดก็คือ สีคู่ตรงข้าม Complementary color สีคู่ตรงข้ามนี้ก็คือคู่สีที่ตรงข้ามกันในวงจรสีแต่ล่ะขั้น เช่น สีแดงตรงข้ามกับสีเขียว, สีส้มตรงข้ามกับสีน้ำเงิน และสีเหลืองตรงข้ามกับสีม่วง
ในสีคู่ตรงข้ามนี้จะมีสมดุล หรือเปอร์เซ็นต์ของสีที่เหมาะสมในการใช้งาน หรือการมาเข้าคู่กันอยู่ โดยแต่ล่ะคู่จะมีความสมดุลกันที่อัตราส่วนที่แตกต่างกันไป เช่น สีแดงกับสีเขียว มักจะให้สัดส่วนของพื้นที่ เท่าๆ กัน คือ 1 : 1 ในขณะที่สีส้มกับสีน้ำเงินจะมีอัตราส่วนของสีอยู่ที่ 1 : 2 และสีเหลืองกับสีม่วง จะมีสมดุลสีอยู่ที่อัตราส่วน 1 : 3 ซึ่งการกำหนดอัตราส่วนนี้ก็มาจากความสว่างของสีซึ่งสีเหลืองจะมีค่าความสว่างมากที่สุด รองจากสีส้ม และสีแดงกับสีเขียวที่มีค่าความสว่างเท่ากัน ถัดมาคือสีม่วง และสีน้ำเงินเป็นสีที่ทึบและมีความสว่างน้อยกว่า
การใช้องค์ประกอบในเรื่องของความขัดแย้งนี้ สิ่งที่มีลักษณะแตกต่างกับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาลักษณะความขัดแย้งที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน และทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยต้องคิดเสมอว่า แม้มีความขัดแย้ง แตกต่างกันในบางส่วน แต่ในภาพรวมแล้วยังมีความเป็นเอกภาพและเรื่องราวเดียวกัน ไม่ใช่ขัดแย้งกันในเนื้อหาของงาน…