เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
สัดส่วน Proportion เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างขนาดที่แตกต่างกันขององค์ประกอบที่แตกต่างกัน เป็นความพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยขององค์ประกอบทั้งหลายที่มารวมกันในภาพ ซึ่งความเหมาะสมของสัดส่วนนี้เราสามารถพิจารณาจาก 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน และสัดส่วนจากความรู้สึก
สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน มาจากรูปลักษณะตามธรรมชาติ เช่น รูปลักษณะของ คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน ฯลฯ ตามปกติแล้วเราจะถือว่าสัดส่วนตามธรรมชาตินั้นมีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว มีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ขณะที่สัดส่วนจากความรู้สึก เป็นสัดส่วนที่มาจากอารมณ์ หรือเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึก เราจะพบเห็นได้ในงานศิลปะของชนชาติต่างๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันตามเรื่องราวในแต่ละสังคม สัดส่วนจากความรู้สึกนี้มักจะมีความผิดเพี้ยนไปจากสัดส่วนทางธรรมชาติ แต่ส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ที่เด่นชัด
การวางสัดส่วนในภาพโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะหลีกเลี่ยงการแบ่งพื้นที่ภาพเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน หรือแบ่งพื้นที่ภาพกึ่งกลางภาพ เราจะหลีกเลี่ยงโดยการแบ่งพื้นที่ให้สัดส่วนในภาพ 2 ส่วนนั้นไม่เท่ากัน เช่นการใช้หลักการของสัดส่วนทอง หรือที่เรียกว่าอัตราส่วนทอง (Goldenratio)
Golden ratio สัดส่วนที่สวยงามที่สุดที่อัตราส่วน 1:1.618
งานศิลปะชั้นเลิศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ดนตรีหากวิเคราะห์ในโทนของสี สัดส่วน ท่วงทำนองจังหวะของเสียง ล้วนเป็นสัดส่วนในตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่สวยงาม สถาปัตยกรรมคลาสสิกเช่น พีรามิด สัดส่วนภาพวาดช่วงใบหน้าของโมนาลิซ่า (ที่ลูฟร์) หรือโครงสร้างวิหารพาเธนอน (ที่กรีก) ล้วนใช้สัดส่วนทอง The golden mean ในการสร้างสรรค์งานทั้งสิ้น ศิลปินที่มีชื่อเสียงและใช้สัดส่วนทองนี้ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ลีโอนาร์โด ดาวินชี
สัดส่วนทอง (The golden mean) มีชื่อเรียกหลากหลาย golden ratio, golden section, extreme and mean ratio (ดาวินชี เรียกมันว่า Divine Proportion) สัดส่วนทองที่ว่านี้ คือสัดส่วน 1:1.618 หรือ 0.618:1 ที่มาของมันจะมาจากอะไรนั้นไม่สำคัญ เดี๋ยวจะกลายเป็นการคุยเรื่องตัวเลขไป (คร่าวๆ คือมันมาจากเลข Fibonacci) แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ที่มาของมันไม่สำคัญเท่าการนำไปใช้ในงาน สัดส่วนทองนี้เมื่อมันมาอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม มันบอกอะไรเราได้บ้าง และเรานำมันมาใช้ในงานถ่ายภาพของเราได้อย่างไร ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าเมื่อแบ่งพื้นที่สี่เหลี่ยมตามสัดส่วนทองได้แบบใดบ้าง เราจะได้ภาพดังนี้
Da Vinci Vitruve Luc Viatour
Golden Spiral แบ่งขนาดสี่เหลี่ยมในภาพให้เท่ากับ 1:1.618 ของสี่เหลี่ยมทั้งหมด จากสี่เหลี่ยมรอบนอก เข้าไปจนหมดพื้นที่ เมื่อแบ่งไปเรื่อยๆ และลากเส้นโค้งจากมุมของสี่เหลี่ยมทั้งหมดต่อกัน ได้โค้งลักษณะก้นหอย
Golden Triangle แบ่งขนาดสี่เหลี่ยมในภาพให้เท่ากับ 1:1.618 และแบ่งพื้นที่ด้วยการลากเส้นทแยงมุมเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมเหมือนกัน 3 ขนาด
หลักๆ เรามักจะเห็นการจัดสัดส่วนทองตามลักษณะนี้ อาจจะมีผิดแปลกไปอีกก็ได้ตามค่าตัวเลข 1:1.618 แต่ก็มักจะมีพื้นฐานมาจาก 2 แบบตรงนี้ ซึ่งในตำแหน่งของจุดตัด และตำแหน่งของเส้นต่างๆ มักจะถูกใช้ในวางองค์ประกอบของภาพที่น่าสนใจ จะเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ภาพถ่ายที่สวยงามที่เราเคยเห็นวางในลักษณะนี้กันทั้งนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะเห็นศิลปินหลายคนสร้างสรรค์งานศิลปะจากสัดส่วนทองที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เราลองเอาลักษณะของสัดส่วนทองนี้ไปเทียบกับงานของศิลปินต่างๆ ดูก็ได้ครับ
ทั้งสัดส่วนทองแบบ Golden Spiral และ Golden Triangle นั้นนอกจากจะวางวัตถุหลักของภาพลงไปที่จุดตัดแล้วนั้น การวางเส้นนำสายตา หรือเส้นสายต่างๆ ในภาพตามแนวเส้นโค้งหรือเส้นทแยงมุมได้อีกด้วย ซึ่งการวางวัตถุในภาพให้อยู่ในตำแหน่งจุดตัดต่างๆ และในตำแหน่งของเส้นต่างๆที่เกิดขึ้นในสัดส่วนทอง มักจะให้ความดึงดูสายตาของผู้ชมภาพ และทำให้การจัดองค์ประกอบภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
ในการถ่ายภาพของเราหลายครั้งเรามักจะรู้สึกว่า มีวัตถุในภาพมากมายหลายอย่าง การเลือกวางให้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ นั้นอยู่บริเวณใดจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งเราสามารถหยิบเอาเรื่องสัดส่วนทองนี้ไปใช้ได้เสมอ ตามลักษณะและรูปแบบภาพนั้นๆ ครับ…