ในการจัดองค์ประกอบภาพสิ่งสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจก็คือหลักในการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ ซึ่งในส่วนแรกที่เราควรทำความรู้จักก็คือเรื่องของ visual element หรือภาษาไทยเรียกว่า ทัศนธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นของเราทั้งหมดนั่นเอง และทัศนธาตุตัวแรกที่เราจะว่ากันในครั้งนี้ก็คือเรื่องของเส้น (line)
เส้นเป็นทัศนธาตุที่เราพบเห็นได้ง่ายและอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ล้วนมีส่วนประกอบของเส้นด้วยกันทั้งนั้น เส้น จะมีผลตอบสนองกับสายตาของมนุษย์ สามารถทำให้เกิดความรู้สึก ต่างๆ ได้ เช่น ตื่นเต้น สงบราบเรียบ นิ่มนวล ร่าเริง เคร่งขรึม อ่อนหวาน ดังนั้นเส้นจึงเป็นประกอบหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของผู้สร้างงาน ศิลปะให้ผู้อื่นได้สัมผัสได้เข้าใจเป็นอย่างดี
เรื่องของเส้นนั้นสำหรับนักวาดภาพ เส้นจะมีบทบาทในเรื่องของการเลือกวาดเส้นแต่ล่ะแบบลงในภาพ ซึ่งนักวาดภาพจะวาดจากดินสอ หรือพู่กัน ส่วนในการถ่ายภาพนั้น ช่างภาพไม่ได้เป็นผู้วาดเส้นต่างๆ เหล่านั้น แต่เราจะเลือกมองหาเส้นต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ให้อยู่ในกรอบหรือเฟรมภาพของเรา เส้นแต่ล่ะแบบจะส่งผลต่อความรู้สึกในการมองที่แตกต่างกัน ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการได้
เส้นแบบต่างๆ ส่งผลต่อความรู้สึกที่แตกต่างกัน
เส้นตรง Straight Line
ให้ความรู้สึก แข็งแรง แน่นอน หยุดนิ่ง ถูกต้องเด็ดเดี่ยว เส้นตรงใช้มากในทัศนศิลป์ประเภทสถาปัตยกรรม แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
เส้นตั้ง เป็นเส้นตรงที่มีทิศทางในแนวดิ่งให้ความรู้สึกทางด้านความสูง ความแข็งแรงหนักแน่น มั่นคง
เส้นนอน เป็นเส้นตรงที่มีทิศทางในแนวระนาบ ให้ความรู้สึกทางด้านกว้าง ความราบเรียบ สงบ ความเป็นมาตรฐาน
เส้นเฉียง หรือเส้นทแยง เป็นเส้นตรงที่มีทิศทางในแนวทแยง ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ ความลึก
เส้นซิกแซก เกิดจากเส้นตรงหลายเส้นประกอบเข้าด้วยกันในหลายทิศทาง ให้ความรู้สึกถึงความรวดเร็ว กะทันหัน อันตราย ความรุนแรง
เส้นโค้ง Curved Line
ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ความรู้สึกสบาย ความต่อเนื่อง ความกลมกลืน นุ่มนวล ถ้ามีเส้นโค้งมากเกินไป จะให้เกิดความรู้สึกช้า เฉื่อยชา หรือ เรื่อยเฉื่อย ขาดเป้าหมาย เส้นโค้งมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะเช่น
เส้นโค้งตัว C ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ ความอ่อนโยน ความเคลื่อนไหว ความไม่หยุดนิ่ง
เส้นโค้งตัว S ให้ความรู้สึกถึงความอ่อนไหว นุ่มนวล การเดินทาง ความโรแมนติก
เส้นโค้งหยัก ให้ความรู้สึกถึงความสับสนความอิสระ ความวุ่นวาย ความต่อเนื่อง
การนำเส้นมาใช้ในการตัดองค์ประกอบภาพ
ในการถ่ายภาพ เราใช้เส้นมาช่วยในการจัดวางองค์ประกอบภาพได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพที่เราถ่าย และตัวซับเจคที่อยู่ในภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เรานำเส้นมาช่วยในการจัดวางภาพได้โดยอาศัยเส้นโดยนัย (Implied Line) คือเส้นที่ไม่ปรากฏรูปเส้นชัดเจนโดยตรง แต่เป็นเส้นที่เกิดจาก องค์ประกอบต่างๆ จัดเรียงตามตำแหน่ง และทิศทาง ที่ผู้ดูสามารถ รับรู้ได้โดยนัย และทราบว่าเป็นเส้นตรง โค้ง หรือ ซิกแซ็ก ซึ่งเส้นโดยนัยนี้ ก็จะให้ความรู้สึกเช่นเดียวกัน
เส้นที่ซ้ำกัน หรือขัดกัน
เป็นการเลือกจัดองค์ประกอบภาพจากความสวยงาม และน่าสนใจของเส้นต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ วัตถุหลายอย่าง มีความน่าสนใจเมื่อเราสังเกตถึงลักษณะเด่นของวัตถุนั้นๆ แล้วพิจารณาดูว่า สามารถนำเสนอในเรื่องของเส้นต่างๆ ได้หรือไม่ เช่น เส้นของกิ่งไม้แห้ง เส้นของสะพาน เส้นของตึกอาคารต่างๆ
เส้นที่ซ้ำกันหรือขัดกันนี้ นับว่าเป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ ด้วยสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้น ล้วนประกอบขึ้นด้วยเส้นที่หลากหลาย ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะพบว่าเส้นเหล่านั้นเมื่อเราจัดภาพโดยแสดงให้เห็นถึงการซ้ำกันมากๆ หรือเลือกจัดมุมภาพที่นำเสนอว่าเน้นเส้นสายเหล่านั้น เราจะพบว่าภาพของเรามีแรงดึงดูดที่น่าสนใจ
เส้นโค้งตัว C
เส้นโค้งรูปตัว C เราสามารถพบเห็นได้จากวัตถุที่มีรูปทรงโค้งกลม หรือสิ่งของที่มีลักษณะโค้ง เช่น สะพานโค้ง ท่อต่างๆ ลูกบอล ถนน อ่าว ขอบภาชนะ ฯลฯ การนำเส้นโค้งรูปตัว C มาช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพนั้น ข้อสำคัญเราควรใช้การสังเกตในการมองให้เห็นเส้นโค้งที่อยู่ในภาพเสียก่อน
อีกวิธีหนึ่งคือการนำเส้นโค้งมาใช้เป็นเส้นนำสายตา เส้นโค้งเมื่อนำมาช่วยนำสายตา ภาพจะดูมีความน่าสนใจ และมีความลึกเพิ่มมากขึ้น ในการใช้เส้นโค้งนำสายตานั้น ข้อดีคือ จะทำให้เกิดความรู้สึกนุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป ต่างกับการใช้เส้นตรง ในบางครั้ง ถ้าเราเริ่มต้นเส้นนำสายตาจากมุมภาพ อาจทำให้ภาพดูตันๆ และดูอึดอัด เลี่ยงได้โดยการเริ่มจุดเส้นนำสายตาบริเวณขอบภาพแทนจะได้ภาพที่สบายตากว่า
เส้นโค้งตัว S
เส้นโค้งรูปตัว S เป็นเส้นที่นำมาใช้ในการจัดวางองค์ประกอบภาพได้อยู่เสมอ ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะ ถนนหนทางต่างๆ แต่ก็มีสิ่งต่างๆ รอบตัวอีกมากที่มีลักษณะเฉพาะของเส้นโค้งรูปตัว S ภาพที่จัดวางองค์ประกอบโดยใช้เส้นโค้งรูปตัว S นั้น จะให้ความรู้สึกอ่อนโยน นุ่มนวล
เส้นโค้งรูปตัว S เมื่อนำมาใช้นำสายตานั้นจะเหมือนกับการใช้เส้นโค้งรูปตัว C สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาก็คือความอ่อนช้อยนุ่มนวลที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญของการใช้เส้นนำสายตาก็คือจุดหมายปลายทางของเส้นที่นำสายตาเราจะนำสายตาไปที่อะไร ดังนั้นเราต้องคำนึงถึง subject หลักที่เราจะเน้นหรือให้เส้นนำสายตาพาไป
การจัดองค์ประกอบด้วยเส้นนั้น การมองสิ่งต่างๆ โดยสังเกตถึงโครงสร้างหลักของสิ่งนั้น จะช่วยให้เรามองภาพรวมของเส้นออกได้ เช่น ตึกและถนนทางเดินที่เซนาโดสแควร์ จะประกอบไปด้วยเส้นตั้ง เส้นนอน และเส้นเฉียง จากตัวตึกที่เรียงลึกเข้าไป เส้นโค้งจากลวดลายบนถนนทางเดิน หรือภาพเห็ดแชมเปญ เราจะเห็นว่าปกติกอเห็ดจะขึ้นเป็นแถวยาว แต่พอเราเปลี่ยนมุมมองเห็ดนั้นก็มีโครงสร้างของเส้นโค้งรูปตัว S ในบางครั้งเราสามารถใช้เทคนิคการถ่ายภาพสร้างเส้นนำสายตาขึ้นมาเองก็ได้เช่นการใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำๆ กับการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง เช่น เส้นไฟที่เกิดจากรถวิ่ง สายน้ำที่ไหล ฯลฯ
เส้นจะส่งผลต่อความรู้สึกในภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนั้นวัตถุต่างๆ ในภาพรอบๆ ตัวเราถ้าสังเกตดูแล้วจะพบว่าประกอบไปด้วยเส้นต่างๆ ทั้งนั้น สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพที่แตกต่างจากการวาดภาพก็คือการที่เราไม่สามารถ ‘สร้าง’ เส้นต่างๆ ได้ตามที่เราต้องการทั้งหมด แต่สำหรับงานถ่ายภาพนั้นเราสามารถ ‘เลือก’ ที่จะจัดวางเฟรมภาพให้มีเส้นอะไรบ้างอยู่ในภาพของเรา สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจกับความหมายของเส้นแต่ล่ะแบบเพื่อการสร้างสรรค์ภาพได้อย่างที่อยากจะให้เป็นครับ…