เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
ในทางศิลปะสี (Color) นับว่ามีความสำคัญโดยใช้เป็นสื่อที่สามารถสร้างความประทับใจและความรู้สึกต่างขึ้นได้ สีนั้นมีผลทางจิตวิทยาในการที่จะช่วยเพิ่มอารมณ์ ความรู้สึกให้เกิดขึ้นได้ในภาพ ถ้าจะพูดกันในเรื่องของสีทั้งหมดแล้วนั้นผมเกรงว่าจะต้องใช้หน้ากระดาษมากมายเกินไป เอาเป็นว่าผมจะเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะภาพถ่ายก็แล้วกันนะครับ
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า ได้มีการแบ่งสีออกเป็น 2 วรรณะ หรือ 2 โทนด้วยกันคือ สีวรรณะร้อน (Warm Tone) และสีวรรณะเย็น (Cool Tone) ในสีวรรณะร้อนนั้นก็ประกอบไปด้วย สีแดง, ส้ม, ม่วง, เหลือง ส่วนสีในวรรณะเย็นก็จะเป็น สีเขียว, น้ำเงิน, ฟ้า, ม่วง และเหลืองจะสังเกตเห็นว่าสีม่วงกับสีเหลืองนั้นจัดอยู่ในสีทั้ง 2 วรรณะนั่นเป็นเพราะว่าสีทั้ง 2 เมื่อไปอยู่รวมในวรรณะใดก็สามารถให้ความรู้สึกในทางวรรณะนั้นได้นั่นเอง
นอกจากการแบ่งสีเป็นวรรณะแล้วนั้น หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินว่า สียังมีลักษณะเฉพาะอีกด้วย ซึ่งลักษณะเฉพาะของสี (Nature) นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ 1. Solid Color คือ สีแท้ ซึ่งจะเป็นได้ทุกสีลักษณะของสีแบบ Solid Color ก็คือไม่ว่าจะเป็นสีไหนก็ตาม เราสามารถมองเห็นสีนั้นได้อย่างเด่นชัด เช่นสีของดอกทานตะวันที่มีสีเหลืองสด หรือสีของเห็ดแชมเปญสีแดง 2. Pastel Color คือ สีที่ถูกเจือจางลง จะมีลักษณะที่แตกต่างกับสีแบบ Solid คือตรงกันข้ามเลยทีเดียว สีแบบ Pastel Color นั้นเราไม่สามารถที่จะบอกได้ชัดเจนว่าเป็นสีใดสีหนึ่ง เช่น สีครีม สีน้ำตาล เขียวอ่อน เหลืองอ่อน ชมพูอมแดง ฯลฯ การใช้โทนสีแบบ Pastel color ด้วยว่าสีแบบ pastel นั้นเป็นลักษณะของสีในโทนสีจืด หรือสีที่ไม่แท้ โทนสีแบบพาสเทลนั้นเกิดจากการที่สีใดๆก็ตามผสมกับสีขาว จึงเกิดการเจือจางของสีนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกที่นุ่มนวล เบา สบาย หวาน โรแมนติก อบอุ่น เป็นโทนสีที่มักจะเห็นใช้ในงานดีไซน์ต่างๆ รวมถึงเป็นโทนสีที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนี้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
ในการถ่ายภาพเรามองเห็นและบันทึกสีต่างๆ ได้จากแสง ซึ่งก็คือสีแสง (Light Color) นั่นเอง สีแสงที่เรามองเห็นนั้นมีจุดเริ่มมาจากแม่สีหลัก 3 สี (Additive primaries) ด้วยกันคือ แสงสีแดง (Red), แสงสีเขียว(Green) และแสงสีน้ำเงิน (Blue) หรือ ที่เราคุ้นเคยว่า RGB และเมื่อสีทั้ง 3 ผสมกันก็เกิดเป็นสีใหม่อีก 3 สี (subtractive primaries) คือ แสงสีเขียวอมฟ้า (Cyan), แสงสีม่วงแดง (Magenta) และแสงสีเหลือง (Yellow) หรือ (CMY) และจากแสงสีทั้ง 6 นี้เองที่ทำให้สามารถมองเห็นสีได้มากมายหลายเฉดสีด้วยกัน
หลายคนที่ใช้กล้องดิจิตอลในการถ่ายภาพ ต้องเคยเห็นหรือลองใช้คำสั่ง WB. ในเมนูของกล้องกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งเมื่อเราทำการปรับค่า WB นี้ เราจะพบว่าสีในภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น นั่นเป็นสาเหตุมาจากการปรับแก้อุณหภูมิสีของแสงนั่นเองอุณหภูมิสีของแสงมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา และแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้ภาพที่เราบันทึกมีสีที่แตกต่างกันด้วยถ้าเราลองสังเกตดูจะเห็นว่า ในช่วงเวลาเช้านั้นท้องฟ้าจะมีสีเหลืองส้ม พอช่วงสายๆ ไปจนถึงบ่าย ท้องฟ้าก็จะเป็นสีฟ้า น้ำเงิน และในช่วงเวลาเย็นสีของท้องฟ้าจะเป็นสีแดงม่วงหรือ ถ้าเราถ่ายภาพในห้องที่มีไฟพลูออเรสเซนท์ ภาพที่ได้จะติดสีอมเขียวเข้ามาด้วย หรือในภาพไฟกลางคืนที่เป็นไฟทังสเตนภาพที่ได้จะมีสีเหลืองส้ม ทั้งหมดนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสีของแสงทั้งสิ้น
เราสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสีกับการถ่ายภาพของเราได้โดยใช้ในการเลือก ช่วงเวลาที่ถ่ายภาพ สถานที่ถ่ายภาพ แหล่งกำเนิดแสง ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา การที่เราจะนำสีมาใช้ในการถ่ายภาพของเรานั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายรูปแบบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วที่เห็นเป็นที่นิยมกันมากก็คือ
1.รูปแบบการใช้สีตัดกัน (Color Contrast) เป็นการนำสีที่มีความแตกต่างกันมาใช้ร่วมกันในภาพเพื่อให้เกิดความสะดุดตา สดใส น่าตื่นเต้น สีที่ใช้มักจะเป็นสีคู่ตรงข้ามกัน เช่น สีแดงกับสีเขียว, สีน้ำเงินกับสีเหลือง, สีเหลืองกับสีม่วง ในการนำสีตัดกันมาใช้นั้นต้องคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างสีที่เราใช้ โดยส่วนใหญ่สัดส่วนจะอยู่ประมาณ 80% กับ 20% หรือ 70% กับ 30% แต่ไม่ควรให้สัดส่วนเป็น 50% เพราะจะทำให้ภาพดูน่าอึดอัดสีตัดกันมีประโยชน์ในการแยกวัตถุกับฉากหลัง เพื่อให้วัตถุเด่นชัดขึ้น
2.รูปแบบการใช้สีกลมกลืน (Color Harmony) เป็นการเลือกใช้สีที่มีความใกล้เคียงกันหรืออยู่ในกลุ่มวรรณะสีเดียวกัน มาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความรู้สึกกลมกลืน ลึกซึ้ง อบอุ่น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากการใช้สีตัดกัน ด้วยการใช้สีกลมกลืนนั้นมีความต้องการที่จะสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่สงบนิ่งอบอุ่นลึกซึ้งกินใจ
สำหรับหลักการที่จำเป็นของการใช้สีนั้นก็คือ เราต้องคำนึงถึงความหมายของสีแต่ละสี ซึ่งจริงๆ แล้วความหมายของแต่ละสีนั้นก็ไม่ได้มีความแน่นอนเสมอไป เช่น ถ้าเห็นสีแดง อาจมีคนนึกไปถึงเลือด ความร้อนแรง ความน่าสนใจ ในขณะที่อีกคนหนึ่งกลับนึกไปถึงความรัก หรือสีของดอกกุหลาบ หรือถ้าเห็นสีเขียวเราจะนึกถึงต้นไม้ ความสงบร่มเย็น สดชื่น แต่ในความหมายของฝรั่งอาจนึกไปถึงความริษยา ดังนั้นการที่เราจะใช้สีเพื่อสื่อความหมายใดๆ ก็ตามเราต้องนึกถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่รอบข้างด้วยในการถ่ายภาพโดยใช้หลักการในเรื่องของสีนี้การค้นหามุมมอง การแยกลักษณะการใช้สีในภาพให้เด่นชัดดูแล้วไม่สับสน เป็นวิธีการใช้สีอย่างถูกต้อง แล้วภาพถ่ายที่ได้ก็จะมีความสวยงามอย่างที่เราตั้งใจไว้ครับ และนี่ก็เป็นตอนสุดท้ายของ EP.1 เรื่องของทัศนธาตุในศิลปะ สำหรับคราวหน้าก็เตรียมพบกับ EP.2 หลักการจัดองค์ประกอบหวังว่าทุกคนคงจะถ่ายภาพด้วยความสนุกกันนะครับแล้วพบกันครับ…