พื้นผิว (Texture) หมายถึงบริเวณผิวนอกของสิ่งต่างๆ ที่เราสามารถมองเห็น รับรู้ได้ด้วยสัมผัสทางตาและสัมผัสทางกาย พื้นผิวช่วยทำให้เกิดความรู้สึกในลักษณะที่ต่างกัน เช่น หยาบ ละเอียด มัน วาว ด้าน และขรุขระ พื้นผิว เป็น Element ที่สำคัญของศิลปะอันหนึ่ง
ลักษณะที่สัมผัสได้ของพื้นผิว มี 2 ประเภท คือ
1. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยมือ หรือสัมผัสทางกาย เป็นลักษณะพื้นผิวที่เป็นอยู่จริงๆ ของผิวหน้าของวัสดุนั้นๆ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้จากงานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรมและสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ
2. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จากการมองเห็นแต่อาจจะไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของผิววัสดุนั้นๆ เช่น การวาดภาพก้อนหินบนกระดาษ จะให้ความรู้สึกเป็นก้อนหิน แต่มือสัมผัสเป็นกระดาษ หรือใช้กระดาษพิมพ์ลายไม้ ใบไม้หรือ พื้นผิวบนผิวหน้าของสิ่งต่างๆ ลักษณะเช่นนี้ถือว่า เป็นการสร้างพื้นผิวลวงตา ให้สัมผัสได้ด้วยการมองเห็นเท่านั้น งานศิลปะภาพถ่ายเองก็จัดอยู่ในลักษณะนี้ด้วย
พื้นผิวลักษณะต่างกัน จะให้ความรู้สึกต่องานศิลปะที่แตกต่างกันด้วย พื้นผิวหยาบจะให้ความรู้สึกหนักแน่น มั่นคง แข็งแรง ในขณะที่พื้นผิวเรียบ จะให้ความรู้สึกเบา สบายการใช้ลักษณะของพื้นผิวที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจน จากงานประติมากรรม หรือแม้แต่ในงานสถาปัตยกรรมซึ่งมีการใช้พื้นผิวที่ต่างกันหลายลักษณะจากหลายวัสดุ เช่น อิฐ ไม้ โลหะ กระจก คอนกรีต หรือก้อนหิน ซึ่งแต่ล่ะวัสดุนั้นมีความขัดแย้งกัน แต่ศิลปินก็ได้นำมาผสมผสานให้เกิดความเหมาะสม และสวยงาม
พื้นผิวในงานศิลปะจะเป็นตัวช่วยที่เพิ่มความรู้สึกที่เป็นจริงขึ้นมา (Realism) ทำให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้น มีผิวสัมผัสอย่างไร องค์ประกอบแต่ละอย่างจะมีผิวเรียบมันหรือหยาบและมีลวดลาย และสีสันที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผิวของกระจกที่เรียบมัน ผิวของหินที่ขรุขระ ผิวของคนชราเป็นริ้วรอยเหี่ยวย่นการเลือกใช้พื้นผิวต่างกันมาประกอบกันทำให้ภาพดูเด่นและน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น วัตถุที่มีผิวเรียบวางเด่นอยู่บนผิวขรุขระ ก็จะสร้างความรู้สึกที่ขัดแย้งให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามพื้นผิวจะแสดงเด่นชัดเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพ และทิศทางของแสงที่ส่องลงไปที่วัตถุนั้น
ในการถ่ายภาพนั้นเราใช้พื้นผิวเพื่อช่วยแสดงรายละเอียดต่างๆ การเลือกทิศทางแสงหรือการปรับ Contrast ล้วนมีผลต่อความชัดเจนของพื้นผิว เราสามารถมองหาความแตกต่างระหว่างพื้นผิวของวัตถุต่างๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับภาพถ่ายของเราได้ เมื่อเราจำกัดหัวข้อในการถ่ายภาพมาเป็นเรื่องของพื้นผิวแล้วนั้น เราก็จะพบว่า วัตถุที่เราพบเห็นได้ทั่วๆ ไปนั้น มีความน่าสนใจเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถ่ายภาพบ้านไม้ โดยการถ่ายภาพตัวบ้านทั้งหลัง เราอาจจะได้ภาพสถาปัตยกรรมบ้านไม้ตามภาพทั่วๆไป แต่ถ้าเราโฟกัสไปที่พื้นผิวของลายไม้บนฝาบ้าน เราอาจจะพบภาพในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งก็เป็นการใช้ทัศนธาตุ (ธาตุที่เรามองเห็น) มาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพอีกแบบหนึ่ง
เทคนิคในการถ่ายภาพที่เราสามารถนำมาใช้ร่วมกับการจัดองค์ประกอบภาพในเรื่องของพื้นผิวนั้น ที่สำคัญดูเหมือนจะเป็นเรื่องของการควบคุมระยะชัดของภาพ การเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่เหมาะสมน่าจะทำให้ได้ภาพตรงตามที่ใจคิด และบางครั้งการเลือกใช้เลนส์ช่วงทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันก็อาจจะทำให้เราสามารถนำเสนอภาพที่แปลกออกไปได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทดลองถ่ายภาพของเราทั้งสิ้น นอกไปจากนี้น่าจะเป็นเรื่องของการช่างสังเกตของช่างภาพเอง ที่จะมองเห็นพื้นผิวที่แตกต่างหรือมีความน่าสนใจเพียงใดวิธีที่ช่างภาพหลายคนเลือกใช้และได้ผลเสมอก็คือการมองหาพื้นผิวที่ขัดแย้งกันมากๆ วางอยู่ด้วยกัน หรือทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันและกัน และนั่นจะทำให้วัตถุหลักดูโดดเด่นและมีความน่าสนใจขึ้นมาทันทีอย่างน่าอัศจรรย์…