Tone Value คือค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่างไปจนถึงบริเวณที่เป็นเงามืดซึ่งมีผลต่อความอ่อนและความเข้มของบริเวณนั้นๆ โทนในภาพถูกกำหนดด้วยแสงและเงา ระดับความสว่างของแสงจากสว่างสุดไปจนถึงระดับความมืดของเงาที่มืดสุด ซึ่งการไล่ระดับของโทนที่มากหลายระดับนั้นจะส่งผลต่อความกลมกลืน และการไล่ระดับของโทนจำนวนน้อยจะส่งผลต่อความขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้น

แสงและเงาเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระดับของโทน เมื่อแสงส่องกระทบวัตถุด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเกิดส่วนของเงาด้วยเสมอ ระดับความเข้มของโทนจะขึ้นอยู่กับระดับความเข้มของแสง ระดับโทนที่เกิดขึ้นจากแสงนี้ เราแยกไว้ 6 ส่วนด้วยกัน

  1. ส่วนสว่างสุด (Hi-Light) เป็นส่วนที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด มีความสว่างมากที่สุด
  2. ส่วนสว่าง (Light) เป็นส่วนที่ได้รับแสงรองลงมา มีระดับของความสว่างที่มีรายละเอียด
  3. ส่วนเทากลาง (Mid) ส่วนที่ได้รับแสงน้อย จึงมีระดับโทนที่แสดงรายละเอียดในส่วนสว่างได้ดี
  4. ส่วนเงา (Shadow) เป็นส่วนที่ได้รับแสงน้อยมาก ไปจนถึงส่วนที่ไม่ได้รับแสง มีระดับของโทนที่แสดงรายละเอียดในส่วนมืด
  5. ส่วนเงามืด (Core of Shadow) ส่วนที่ไม่ถูกแสง หรือส่วนของเงาที่มืดที่สุด มีระดับโทนมืดที่เข้มที่สุด
  6. เงาตกทอด (Cast Shadow) ส่วนของเงาตกทอดที่ปรากฏบนพื้นหลัง จะมีความเข้มและลักษณะตามระยะห่างของพื้นหลังกับวัตถุ และทิศทางของแสง

ความสำคัญของ Tone Value จะส่งผลต่อมิติในภาพ ความลึก ความแตกต่างของรูปร่าง-รูปทรง ระยะใกล้-ไกล ความกลมกลืน และความขัดแย้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกให้ภาพนั้นมี Tone Value ในระดับไหน ทั้งนี้เราควรทำความเข้าใจถึงลักษณะของแสงที่เราเรียกกันว่า แสงแข็ง แสงนุ่ม

แสงแข็ง (Hard Light)

แสงแข็ง (Hard Light) เป็นแสงที่ส่องมาจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง ส่งลงที่วัตถุหรือแบบที่เราถ่ายภาพ โดยที่ไม่ได้ผ่านตัวกลางที่ขวางกั้นแต่อย่างใด และแสงแบบนี้แหล่ะครับที่เราจะได้ภาพที่มีความเปรียบต่างของแสงและเงาสูง (High Contrast) รายละเอียดในส่วนสว่างและส่วนมืดจึงน้อยลงไปด้วย เงาที่ได้ก็จะมืดสนิทเสียด้วยสิครับ

นอกจากการส่องโดยตรงจากแหล่งกำเนิดแล้ว แสงแข็งก็สามารถเกิดได้จากการสะท้อนกับวัสดุผิวเรียบ หรือผิวมันเช่นแผ่นสะท้อนแสงแบบเรียบสีเงิน หรือกระจก ก็ให้ลักษณะของแสงแข็งได้เช่นกัน

แสงธรรมชาติในวันที่ท้องฟ้าสดใส หรือแดดจัด แสงจากดวงอาทิตย์จะเป็นลักษณะของแสงแข็ง ส่วนในสตูดิโอนั้น การใช้ไฟแฟลชส่องเข้าวัตถุหรือตัวแบบโดยตรง โดยที่ไม่ได้ใส่วัสดุใดๆ กั้นแสงเลยก็ทำให้ได้ลักษณะแสงแข็งเหมือนกัน

แสงแข็งนั้นจะทำให้ได้ภาพที่แสดงถึงความรู้สึกหนักแน่น เข้มแข็ง จึงนำมาใช้กับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม อาคาร ที่ต้องการเน้นที่รูปทรง ความคมชัดของเหลี่ยม มุมต่างๆ

แสงนุ่ม (Soft Light)

 แสงนุ่ม (Soft Light) เป็นแสงที่เกิดจากการที่แสงส่องจากแหล่งกำเนิดแสงขนาดใหญ่กว่าวัตถุ ส่องมาที่วัตถุหรือตัวแบบ โดยส่องผ่านวัสดุที่แสงรอดผ่านได้ วัสดุที่แสงลอดผ่านตัวนี้ทำหน้าที่กระจายแสง (Diffusion) ทำให้แสงที่ได้นุ่มลง แสงแบบนี้จะให้ความเปรียบต่างของแสงต่ำ (Low Contrast) ซึ่งเงาที่ได้จะไม่ดำมืด มีรายละเอียดในส่วนเงา

แสงนุ่มเกิดขึ้นได้จากการส่องผ่านวัสดุแล้ว ยังเกิดจากการสะท้อนกับวัสดุผิวขรุขระหรือผิวด้าน เช่นผนังห้อง แผ่นโฟม Reflector สีขาว ร่มสะท้อนแสง

ในสภาพแสงธรรมชาติ แสงนุ่มจะเกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆ แสงจากดวงอาทิตย์ส่องผ่านเมฆบางๆ หรือแม้แต่แสงที่ลอดผ่านผ้าม่าน ช่องหน้าต่าง ส่วนในสตูดิโอ มีอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้เกิดแสงนุ่มมากมาย เช่น Soft Box ร่มสะท้อนแสง กระดาษไข Reflector  

แสงนุ่มให้ความรู้สึกสบายตา มีน้ำหนักที่ลดหลั่นกัน สื่อความหมายในเชิงอ่อนหวานนุ่มนวล โดยมากจึงเหมาะสำหรับภาพบุคคล 

เราสามารถใช้ Tone Value ควบคุมอารมณ์ของภาพได้เช่นการใช้เทคนิคของ Zone system หรือเทคนิคภาพ High key และ Low key ซึ่งเป็นการควบคุมระดับของโทนในภาพรูปแบบหนึ่ง ในบทนี้จะขอกล่าวถึงไฮคีย์และโลว์คีย์ก่อน

High key และ Low key

ศิลปะภาพถ่ายที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่งนั้นก็คือ การถ่ายภาพที่เรียกกันว่า High key – Low key ภาพถ่าย High key – Low key นั้นเป็นภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นในเรื่องของการควบคุมโทนมืด และสว่างของภาพ ให้อยู่ในโทนที่เราต้องการ ในการควบคุมโทนในภาพให้ดีและได้ภาพแบบ High key – Low key นั้น แสงแข็งและแสงนุ่ม คือกุญแจสำคัญ

 

Hard Light & Soft Light

แสงนุ่มเป็นแสงที่ผ่านการกรองด้วยวัสดุต่างๆ ส่งผลให้ได้ภาพที่มีความเปรียบต่างน้อย ช่วยสร้างอารมณ์ของภาพที่ต้องการให้ ฟุ้ง สว่าง เบา สดใส, แสงแข็ง เหมาะสำหรับภาพแบบ High key เป็นแสงที่แรง และตกกระทบวัตถุโดยตรงไม่ได้ผ่านอะไร ส่งผลให้เงาที่แข็ง และความเปรียบต่างในภาพสูง อารมณ์ที่ได้จึงมีความแตกต่างจากแสงนุ่มคือความแข็งแรง หนักแน่น เหมาะสำหรับภาพแบบ Low key

ในภาพเขียน Portrait และ Still life ของศิลปิน ส่วนใหญ่การจัดแสงในภาพ จะมีลักษณะที่ตรงกันกับภาพ High key – Low key ไม่ว่าจะการควบคุมทิศทางแสง ปริมาณของแสง รวมไปถึงการคัดเลือกวัตถุที่จะมาจัดวาง เพื่อให้ได้โทนในภาพตามที่ต้องการ โดยเฉพาะกับแสงเฉียงที่ส่องผ่านบานหน้าต่างลงมาตกบนวัตถุ มักจะเป็นแสงที่ถูกเลือกนำมาใช้มากที่สุด

ภาพ High key เป็นภาพที่แสดง Tone Value ในส่วนสว่างกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ การที่จะให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพอยู่ในโทนสว่างนั้น ไม่ใช่การวัดแสงหรือชดเชยแสงให้ + หรือ Over Exposure แต่เป็นการเลือกใช้ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในภาพให้อยู่ในโทนสว่าง ไม่ว่าจะเป็น แสง วัตถุต่างๆ หรือฉากหลัง

เช่นเดียวกัน ภาพ Low key ก็เป็นภาพที่แสดง Tone Value ในส่วนมืดกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ และไม่ใช่ภาพที่เกิดจากการทำ Under Exposure ให้ภาพมืด แต่เป็นการควบคุม Tone Value ในภาพให้อยู่ในระดับโทนมืดนั่นเองครับ…