เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

การจัดองค์ประกอบภาพนั้น เรื่องของสมดุล (Balance) เป็นเรื่องสำคัญ ในเฟรมภาพนั้นเราสามารถเลือกจัดวางภาพแบบใดก็ได้แต่ภาพนั้นจะดูด้อยค่าลงทันทีเมื่อภาพนั้นขาดความสมดุลภายในภาพไป

สมดุล (Balance) คืออะไร สมดุลก็คือการรักษาระดับที่เท่ากันขององค์ประกอบในภาพ ไม่ให้หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ในทางศิลปะยังรวมถึงความผสมผสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของส่วนต่างๆในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ลงในงานนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ตามธรรมชาติแล้วทุกสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้ม ก็เพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากัน หรือมีความสมดุลกันนั่นเอง

การรักษาสมดุลเป็นหลักที่ใช้ในศิลปะทุกแขนง ทั้งงานจิตรกรรม ปะติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม รวมทั้งงานอย่างภาพยนตร์ ศิลปะการถ่ายภาพเองก็มีการนำเอาหลักการของความสมดุลมาใช้ด้วย โดยเรานำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบของภาพ

หลักการพิจารณาเรื่องความสมดุลในงานศิลปะนั้น มีหลักอยู่ว่าถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป หนาแน่นไป หรือเบาบางไป ก็อาจจะส่งผลให้งานนั้นดูเอนเอียง และเกิดความรู้สึกที่ขาดความสมดุลขึ้นได้ นับเป็นความบกพร่องในผลงานนั้น ความสมดุล (Balance) ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ สมดุลแบบสมมาตร (Symmetrical Balance) และ สมดุลแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance)

 

สมดุลแบบสมมาตร (Symmetrical Balance)

สมดุลแบบสมมาตร (Symmetrical Balance) เป็นความสมดุลที่เรียกว่า “ความสมดุลโดยองค์ประกอบภาพ” กล่าวคือ เป็นการจัดวางส่วนประกอบภาพที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน เช่น เหมือนกันด้วย สัดส่วน ขนาด น้ำหนัก ทั้งด้านซ้ายและขวาของภาพ ส่งผลให้ด้านซ้ายและขวาของภาพนั้นมีน้ำหนักที่เท่ากัน เมื่อแบ่งกึ่งกลางภาพแล้วจะสามารถประกบกันได้ เช่น ใบหน้าของมนุษย์ สมดุลแบบสมมาตรนี้ให้ความรู้สึกถึงลักษณะที่ดูเป็นทางการ ซึ่งเราจะพบเห็นบ่อยในการถ่ายภาพบุคคลหน้าตรง หรือการถ่ายภาพพระประธานในโบสถ์ รวมถึงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมด้านหน้ามุมตรงเช่นกัน

สมดุลแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance)

สมดุลแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance) เป็นความสมดุลที่เรียกว่า “สมดุลโดยความรู้สึก” ซึ่งไม่จำเป็นที่องค์ประกอบซ้าย-ขวา หรือ บน-ล่าง จะต้องเหมือนกัน หรือมีขนาด ปริมาตร เท่าๆ กัน แต่ควรให้ความรู้สึกในขณะที่มองดูแล้วมีความสมดุลภายในภาพไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง สมดุลแบบอสมมาตรนี้ในภาพถ่ายเราสามารถจัดวางวัตถุเพื่อถ่วงดุลกันในภาพได้อย่างอิสระ โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบภายในภาพ

การจัดองค์ประกอบภาพให้เกิดความสมดุลในภาพถ่ายนั้นสิ่งสำคัญคือการเลือกจัดวางวัตถุต่างๆ ในภาพ ให้กระจายหรือถ่วงสมดุลกัน โดยอาจจะมีหลักง่ายๆ ในการพิจารณาดังนี้

 

โทนสี

โทนสีของวัตถุมีส่วนช่วยในเรื่องของการกระจายความสมดุลในภาพ วัตถุที่มีโทนสีเข้มจะให้ความรู้สึกหนักกว่าวัตถุที่มีโทนสีอ่อน ดังนั้นการเลือกจัดวางวัตถุในภาพเราอาจจะเลือกให้วัตถุโทนสีเข้มอยู่ด้านล่าง วัตถุโทนสีอ่อนอยู่ด้านบนหรือ การกระจายวัตถุโทนสีเข้มให้อยู่ทั่วบริเวณภาพ ไม่ไปรวมกลุ่มด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปแล้วให้มีโทนสีอ่อนแทรกอยู่บ้างเพื่อถ่วงดุลกัน

 

แสงเงา

แสงและเงาเป็นของคู่กัน แสงจะเป็นตัวแทนความรู้สึกของน้ำหนักที่เบา ส่วนเงาจะให้ความรู้สึกของน้ำหนักที่หนักแน่นมากกว่า ดังนั้นการให้น้ำหนักของแสงเงาในภาพจึงส่งผลต่อความสมดุลภายในภาพด้วย โดยเฉพาะภาพที่มีพื้นที่ของเงาดำมากเกินไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว จะทำให้ภาพมีความรู้สึกที่ขาดสมดุลได้ง่ายๆ การเลือกใช้แสงเงาจะพิจารณาตามขนาด รูปร่าง-รูปทรงของวัตถุ และการเลือกทิศทางของแสง

 

จุดเด่น

การวางจุดเด่นในภาพมีผลต่อสมดุลของภาพอย่างแน่นอนโดยปกติแล้วเรามักจะวางตำแหน่งของจุดเด่นในภาพที่ตำแหน่งของจุดตัดเก้าช่อง ซึ่งในภาพบางลักษณะแล้ว การวางแค่เพียงวัตถุที่เราอยากจะให้เด่นเพียงอย่างเดียว อาจจะส่งผลให้ภาพดูหนักไปด้านใดด้านหนึ่งได้ ดังนั้นทางแก้ไขคือการหาวัตถุรองมาช่วยเสริม หรือถ่วงให้ภาพไม่เสียสมดุลไปได้

 

เส้นระนาบ

เส้นระนาบ หรือเส้นขอบฟ้าในภาพ เป็นเส้นที่เราต้องระวัง ถ้าเราต้องการรักษาสมดุลในภาพแล้วนั้น เส้นระนาบ หรือเส้นขอบฟ้าไม่ควรให้เอียง การเปิดตารางกริดในช่องมองภาพสามารถนำมาช่วยในการวางเส้นระนาบได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้คือการใช้หลักการจัดองค์ประกอบเรื่องสมดุลในภาพ ภาพหลายภาพมีเนื้อหาที่น่าสนใจ มีมุมมองที่แปลกตา แต่ในบางครั้งขาดความประณีต เพราะขาดการรักษาสมดุลนั่นเอง สมดุลในภาพจึงมีส่วนช่วยให้ภาพนั้นดูเนี๊ยบ ดูประณีต แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำในการจัดวางองค์ประกอบของศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงาน…