เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 256/2019 January
อากาศที่หนาวเย็นเป็นช่วงฤดูแห่งดอกไม้บานอีกช่วงเวลาหนึ่งนะครับ ช่วงนี้ดอกไม้ในฤดูหนาวตามยอดดอยต่างๆ พากันออกดอกบานสะพรั่ง รอให้ช่างภาพไปบันทึกภาพอยู่มากมาย อันที่จริงแล้วบ้านเราก็มีดอกไม้บานตลอดปี ไม่ว่าจะฤดูร้อน หรือฤดูหนาว รวมไปถึงฤดูฝน แต่เพราะช่วงฤดูหนาวนั้นเราเดินทางไปท่องเที่ยวกันมากเป็นพิเศษด้วยสภาพอากาศ สีสันของท้องฟ้า แม้ในวันที่อากาศไม่สดใสก็ยังมีสายหมอกมาทำให้เรารู้สึกละมุนไปกับบรรยากาศแบบนั้นจริงไหมครับ
สำหรับการถ่ายภาพดอกไม้สวยงามเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือการเลือกจัดวางองค์ประกอบภาพ ซึ่งเราจะนำเอาหลักการจัดองค์ประกอบภาพตามหลักศิลปะมาใช้ และในครั้งนี้ผมได้หยิบเอา 5 องค์ประกอบที่น่าสนใจมาเป็นตัวช่วยในการบันทึกภาพความงามของดอกไม้มาฝากกับทุกคนกันครับ
- เส้นทแยง Diagonal line
เป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่เหมาะสำหรับภาพดอกไม้ที่เห็นกิ่งก้านต่างๆ ในภาพ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาพกว้างและภาพแบบเจาะ หลักการคือการวางเส้นของกิ่งก้านต่างๆ ให้ทแยงจากมุมของภาพไปอีกมุมหนึ่ง เคล็ดลับคือพยายามอย่าให้เส้นนั้นเริ่มที่มุมแหลมของภาพพอดี แต่ให้ขยับไปด้านใดด้านหนึ่งเล็กน้อย และสำหรับดอกไม้ที่เป็นช่อส่วนปลายยอดของกิ่งหรือช่อดอกไม้นั้นควรเหลือพื้นที่ว่างเอาไว้เล็กน้อยเพื่อให้ภาพดูไม่อึดอัด สำหรับภาพกว้าง เช่น ทุ่งหรือแปลงดอกไม้ เราสามารถใช้เส้นทแยงในการวางแนวแปลงดอกไม้ต่างๆ ได้
- เส้นโค้ง Cave line
ดอกไม้บางช่อบางดอกจะแยกตัวออกมาจากกลุ่มดูโดดเด่นโดยเฉพาะกิ่งก้านที่โค้งลงมาจากต้น เราใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งได้ การจัดภาพจะคล้ายกับเส้นทแยงคือให้เส้นโค้งนี้รับกับเฟรมภาพ โดยอาจจะให้กิ่งของดอกไม้เริ่มจากมุมใดมุมหนึ่งของภาพ ข้อสำคัญที่ห้ามลืมเลยก็คือ เมื่อลากเส้นโค้งของกิ่งก้านแล้วไม่ควรวางดอกไม้ไว้กลางภาพเท่านั้นเอง
- กฎสามส่วน Rule of Thirds
เหมาะสำหรับทุ่งดอกไม้ที่กว้างมากๆ เมื่อเราแบ่งภาพเป็นสามส่วนไม่ว่าจะแนวตั้ง หรือว่าแนวนอน ให้เราเลือกจัดวางเส้นขอบฟ้า หรือขอบของทุ่งดอกไม้เอาไว้ที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของเส้นที่เกิดจากการแบ่งส่วนไว้ โดยอาจจะใช้วิธีนี้ร่วมกับเลนส์ทางยาวโฟกัสมากเสียหน่อยอย่างเลนส์เทเลโฟโต้ และเรายังสามารถใช้กฎสามส่วนนี้กับการวางตำแหน่งของดอกไม้บางดอกที่เราอยากจะให้เกิดความโดดเด่นในภาพได้อีกด้วย
- การซ้ำ Pattern
ดอกไม้บางพันธุ์ออกดอกคราวล่ะมากๆ เป็นร้อยพันจนเต็มต้นไปหมด บางคราวก็พร้อมใจกันออกดอกหลายต้น เป็นพุ่ม เป็นกอ ดูคล้ายกันไปหมด ดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ เราเลือกที่จะถ่ายโดยให้เห็นตัวดอกที่คล้ายๆ กันนี้ซ้ำๆ กันจนเต็มภาพได้ โดยส่วนใหญ่ผมจะใช้เทเลโฟโต้เลนส์ หรือเลนส์ซูมในการเลือกถ่ายเจาะดอกไม้เฉพาะกลุ่มที่มีการเรียงดอกซ้ำๆ กันไปผลจากเลนส์ช่วงเทเลนั้นจะทำให้ดอกไม้ที่อยู่ด้านหลังถูกดึงเข้ามาใกล้ทำให้ภาพดูแน่น ที่ต้องคอยระวังก็คือกิ่งไม้ส่วนเกิน หรือใบไม้ที่จะเข้ามารบกวนในภาพ ต้องพยายามหามุมภาพโดยขยับตัวไปซ้ายขวาสักเล็กน้อยที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนต่างๆ
- พื้นที่ว่าง Spec
เป็นวิธีในการจัดภาพเพื่อให้เกิดความเด่น ดอกไม้หลายดอกพออยู่รวมกันมากๆ เข้ามักจะกลืนกันไป การเลือกจัดองค์ประกอบภาพให้เกิดพื้นที่ว่างบ้างอาจจะต้องอาศัยการสังเกต สังเกตอะไรบ้าง คือ ดอกไม้ที่สมบรูณ์สวยงามโดดเด่นที่เราจะพอจะหามุมภาพแยกออกมาจากกลุ่ม สังเกตสองคือ ฉากหลังที่เรียบง่ายไม่รกรุงรังนั่นก็คือพวกกิ่งไม้ต่างๆ นั่นเอง การเว้นพื้นที่ว่างนี้เราสามารถใช้ร่วมกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบอื่นๆ ได้เช่น เส้นโค้ง เส้นทแยงต่างๆ การเว้นพื้นที่ว่างให้กับภาพดอกไม้บางครั้งทำให้อารมณ์ของภาพดูเปลี่ยวเหงาได้
ในการถ่ายภาพดอกไม้นั้นยังมีวิธีการในการจัดองค์ประกอบภาพอีกมากมาย รวมถึงเทคนิคต่างๆ ที่จะนำมาใช้ และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับคนที่เริ่มถ่ายภาพดอกไม้ที่จะนำเอาไปใช้ เป็นหลักการจัดองค์ประกอบเบื้องต้นที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพแบบอื่นได้เช่นกัน ก่อนที่ลมหนาวจะพัดผ่านไปลองหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพดอกไม้สวยงามๆ เหล่านี้มาให้ชมกันบ้างนะครับ…