เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 254/2018 November
การจัดองค์ประกอบภาพนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ด้วยความที่ภาพถ่ายเป็นศิลปะ การจะตัดสินไปว่ามุมมองแบบใดถูกต้องนั้นจึงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าจะให้บอกว่าถ่ายไปตามมีตามเกิด หรือแล้วแต่จินตนาการและความต้องการของแต่ล่ะคน อันนี้ก็ดูจะเลื่อนลอยไปกันใหญ่ ดังนั้น กฎเกณฑ์หรือหลักการต่างๆ จึงมีไว้เพื่อให้เราอาศัยเป็นหลักยึด ผมคงไม่ฟันธงลงไปนะครับว่า กฎ 10 ข้อในการจัดองค์ประกอบภาพนี้นั้นจะเป็นหลักตายตัวที่ควรยึดปฏิบัติหรือเปล่า แต่ผมจะขอให้คิดว่า 10 ข้อนี้จะช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยในวันที่เราคิดไม่ออกว่าจะถ่ายภาพตรงหน้าอย่างไร จะวางมุมภาพแบบไหน เอาอะไรวางไว้ตรงไหน ในเฟรมสี่เหลี่ยมที่เรามองผ่านช่องมองภาพ ก็หยิบเอาตรงนี้มาใช้ก็แล้วกันนะครับ เรามาดูกันว่ากฎยอดฮิตในการจัดองค์ประกอบที่ช่างภาพส่วนใหญ่เขาใช้กันนั้นมีอะไรบ้าง
- Rule of Thirds กฎสามส่วน / จุดตัด 9 ช่อง
ฮิตติดอันดับ 1 ตลอดกาล สำหรับกฎสามส่วน หรืออีกชื่อติดปากว่า จุดตัด 9 ช่อง กฎสามส่วนเป็นหลักการเบื้องต้นของการวางจุดเด่น หรือวัตถุที่เราต้องเน้นในภาพให้ดูมีความน่าสนใจ นอกเหนือไปจากการวางวัตถุนั้นไว้กลางภาพ โดยเฉพาะเมื่อเราใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพนั้น วัตถุต่างๆ ในภาพจะเข้ามาอยู่ในเฟรมมากมายหลายอย่าง เราสามารถนำหลักกฎสามส่วนที่มีหลักการง่ายๆ คือ แบ่งภาพออกเป็นสามส่วนทั้งแนวตั้ง และแนวนอน เส้นแบ่งจะทำให้เกิดจุดตัดทั้งหมด 4 จุด แบ่งพื้นที่ภาพเป็น 9 ช่อง จุดตัด 4 จุดนี้แหละครับ ที่เราจะนำวัตถุหลักในภาพไปวางไว้ โดยเริ่มจากตำแหน่งด้านล่างไล่ขึ้นไป แล้วจะช่วยให้วัตถุนั้นมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
- Leading Lines เส้นนำสายตา
องค์ประกอบยอดฮิตอันดับสองคงหนีไม่พ้น เส้นนำสายตา การนำเส้นนำสายตามาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพมีมาตั้งแต่หลักการวาดรูป เส้นนำสายตานอกจากจะช่วยเน้นวัตถุในภาพแล้ว ยังพาผู้ดูภาพให้ไปหาจุดที่น่าสนใจในภาพนั้นๆ ได้ (ก็ตามชื่อที่บอกว่าเส้นนำสายตานั่นแหละครับ) นอกจากนั้นอีกความสามารถหนึ่งของเส้นนำสายตาก็คือ การช่วยเพิ่มระยะให้ภาพ ทำให้ภาพดูมีความลึกที่เป็นมิติที่ 3 หรือ Perspective ให้กับภาพถ่ายอีกด้วย
- Symmetry and Balancing Elements สมมาตร/สมดุล
การวางองค์ประกอบแบบสมมาตรนั้น นิยมใช้กับภาพที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เช่นงานสถาปัตยกรรม ปะติมากรรม ในหลายๆ ครั้งที่การวางภาพแบบสมมาตรกลายเป็นคำตอบที่ดูเหมือนจะลงตัวที่สุด ส่วนความสมดุลในภาพเป็นสิ่งสำคัญภาพที่รู้สึกว่าหนักไปด้านใดด้านหนึ่งแม้ว่าเราจะถ่ายภาพโดยรักษาระดับน้ำในภาพไว้แล้วก็ตาม แต่อาจจะด้วย ความเข้มของสีน้ำหนักแสงเงาในภาพก็ทำให้ภาพดูไม่สมดุลได้ ในการจัดองค์ประกอบภาพจึงขอให้พยายามรักษาสมดุลในภาพเอาไว้ด้วย
- Patterns การซ้ำ
การซ้ำนั้น เป็นรูปแบบที่ถูกนำมาใช้จัดองค์ประกอบภาพที่สร้างความน่าสนใจในภาพได้ง่าย โดยเฉพาะวัตถุที่มีจำนวนมาก และมีลักษณะรูปร่าง รูปทรง หรือสี เส้นต่างๆ คล้ายๆ กัน การจัดองค์ประกอบภาพด้วยการซ้ำนั้นจะนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเน้นย้ำ การซ้ำในเรื่องของรูปทรงนี้สามารถสื่อออกมาได้ชัดเจนกว่าการซ้ำในลักษณะอื่น ที่ควรระวังคือ การซ้ำที่เกิดจากท่วงทำนองและจังหวะที่มีความถี่-ห่าง ซ้ำๆ กัน มากครั้งจนเกินไป เว้นช่องว่างของเนื้อที่เท่ากัน มีความถี่เท่ากัน อะไรๆ เท่ากันไปหมดจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกในด้านความจำเจน่าเบื่อ
- Viewpoint มุมมอง
มุมมองภาพระดับสายตานั้นมักจะทำให้ได้ภาพที่ธรรมดา ไม่หวือหวาเท่ากับมุมมองที่เหนือระดับสายตา หรือต่ำกว่าระดับสายตา มุมเหล่านี้มักสร้างความแปลกประหลาดใจ เพราะเป็นมุมที่ไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวัน การนั่งลงไปกับพื้น หรืออาจจะถึงขั้นหมอบ นอน และการขึ้นที่สูง การยกขาตั้งกล้องขึ้น จึงสร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้มากกว่า
- Background ฉากหลัง
วัตถุในภาพจะเด่น เรื่องราวในภาพจะสมบรูณ์ อารมณ์ในภาพจะราบรื่นไม่สะดุด ฉากหลังนี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญ ภาพหลายภาพเรื่องราวดีมากแต่ฉากหลังไม่เข้ากัน หรือฉากหลังแย่งความเด่นไป และบางครั้งที่ตัวแบบจะจมหายหรือกลืนไปกับฉากหลัง ดังนั้นเมื่อเลือกสิ่งที่จะถ่ายได้แล้ว ควรเลือกฉากหลังให้เหมาะสมกับสิ่งนั้นๆ ด้วยก็จะได้ภาพที่สมบรูณ์ไม่น้อยครับ
- Depth ระยะ/ความลึก
เพราะในเฟรมภาพประกอบไปด้วย ด้านกว้างและด้านยาว เป็นสองมิติ การใส่ความลึกให้กับภาพด้วยระยะชัด และช่วงความชัด จึงเป็นเทคนิคของการถ่ายภาพโดยตรง ด้วยการเลือกค่า F-stop การวางระยะห่างของวัตถุต่างๆ ในภาพ การเปลี่ยนมุมมอง ล้วนช่วยให้เกิดระยะขึ้นในภาพ การเลือกใช้ชัดลึกหรือชัดตื้นในภาพส่งผลต่อองค์ประกอบภาพว่าจะให้จุดไหนในภาพชัด หรือเบลอ
- Framing กรอบภาพ
อีกหนึ่งการจัดองค์ประกอบที่ใช้บ่อยๆ เราสามารถมองหาฉากหน้าเพื่อใช้เป็นกรอบภาพ กรอบภาพนั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปทรงของสี่เหลี่ยมเสมอไป อาจจะเป็นรูปทรงธรรมชาติกิ่งไม้ ใบไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ก็ได้ กรอบภาพใช้ในการเสริมให้ภาพนั้นดูมีระยะ และเกิดความน่าสนใจ รวมทั้งกรอบภาพยังช่วยในการบังส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากวัตถุที่เราต้องการจะเน้น ให้ไม่มารบกวนได้ด้วย
- Cropping ตัดเฉพาะส่วน
การเลือกถ่ายภาพแบบเจาะเฉพาะส่วนที่ต้องการจะนำเสนอ เป็นทางออกที่ดีในการจัดวางองค์ประกอบภาพ ให้สิ่งที่เราจะเน้นจริงๆ มากกว่าการให้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในเฟรม ดังนั้นการเปลี่ยนทางยาวโฟกัสของเลนส์จึงมีผลอย่างมาก อีกวิธีที่ทำได้คือการเข้าไปใกล้สิ่งที่เราจะถ่ายให้มากขึ้น
- Experimentation ทดลองสิ่งใหม่ๆ
ด้วยการถ่ายภาพคืองานศิลปะ และงานศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ล่ะคน ไม่มีถูกไม่มีผิด ดังนั้นการค้นหาและทดลองสิ่งใหม่ๆ มักจะเป็นการดีที่เราอาจจะได้ภาพแปลกๆ และสร้างสรรค์ จากการทดลองอะไรที่นอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ที่ตายตัวทั้งหมดทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ล่ะคนครับ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหลักในการจัดองค์ประกอบภาพยอดฮิต ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เรานำไปเลือกใช้ครับ กฎมีไว้แหก หรือการคิดนอกกรอบ อาจจะเป็นเรื่องที่ได้ผลก็จริง แต่การเข้าใจและเรียนรู้กฎเสียก่อน อาจจะทำให้เราคิดหาวิธีการแหกกฎใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้นได้จริงไหมครับ ถ้าเราไม่มองเห็นกรอบ หรือไม่รู้จักกรอบเสียก่อน แล้วเราจะออกไปนอกกรอบได้อย่างไร…