เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 178/2012/July
ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่าย เราๆ นักถ่ายภาพคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Rule of Thirds หรือ กฎสามส่วน ใช่ไหมครับ การแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน และวางสิ่งที่เราต้องการจะเน้นไปที่จุดตัด 4 จุดที่เกิดจากการแบ่งภาพนั้น เป็นวิธีการเน้นสิ่งที่เราจะถ่ายให้น่าสนใจ และโดดเด่นขึ้นมา ในการแบ่งพื้นที่ภาพนั้น ในงานศิลปะก็มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ด้วยเช่นกันโดยเรียกว่า สัดส่วนทอง The golden mean
งานศิลปะชั้นเลิศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ดนตรี หากวิเคราะห์ในโทนของสี สัดส่วน ท่วงทำนอง จังหวะของเสียง ล้วนเป็นสัดส่วนในตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่สวยงาม สถาปัตยกรรมคลาสสิค เช่น พีรามิด สัดส่วนภาพวาดช่วงใบหน้าของโมนาลิซ่า (ที่ลูฟร์) หรือโครงสร้างวิหารพาเธนอน (ที่กรีก) ล้วนใช้สัดส่วนทอง The golden mean ในการสร้างสรรค์งานทั้งสิ้น ศิลปินที่มีชื่อเสียงและใช้สัดส่วนทองนี้ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ลีโอนาร์โด ดาวินชี
สัดส่วนทอง (The golden mean) มีชื่อเรียกหลากหลาย golden ratio, golden section, extreme and mean ratio (ดาวินชี เรียกมันว่า Divine Proportion) สัดส่วนทองที่ว่านี้ คือสัดส่วน 1:1.618 หรือ 0.618:1 ที่มาของมันจะมาจากอะไรนั้นไม่สำคัญ เดี๋ยวจะกลายเป็นการคุยเรื่องตัวเลขไป (คราวๆ คือมันมาจากเลข Fibonacci) แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ที่มาของมันไม่สำคัญเท่าการนำไปใช้ในงาน สัดส่วนทองนี้เมื่อมันมาอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม มันบอกอะไรเราได้บ้าง และเรานำมันมาใช้ในงานถ่ายภาพของเราได้อย่างไร ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าเมื่อแบ่งพื้นที่สี่เหลี่ยมตามสัดส่วนทองได้แบบใดบ้าง เราจะได้ภาพดังนี้
Golden Spiral แบ่งขนาดสี่เหลี่ยมในภาพให้เท่ากับ 1:1.618 ของสี่เหลี่ยมทั้งหมด จากสี่เหลี่ยมรอบนอก เข้าไปจนหมดพื้นที่ เมื่อแบ่งไปเรื่อยๆ และลากเส้นโค้งจากมุมของสี่เหลี่ยมทั้งหมดต่อกัน ได้โค้งลักษณะก้นหอย
Golden Spiral
Golden Triangle แบ่งขนาดสี่เหลี่ยมในภาพให้เท่ากับ 1:1.618 และแบ่งพื้นที่ด้วยการลากเส้นทแยงมุมเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมเหมือนกัน 3 ขนาด
Golden Triangle
หลักๆ เรามักจะเห็นการจัดสัดส่วนทองตามนี้ อาจจะมีผิดแปลกไปอีกก็ได้ตามค่าตัวเลข 1:1.618 แต่ก็มักจะมีพื้นฐานมาจาก 2 แบบตรงนี้ ซึ่งในตำแหน่งของจุดตัด และตำแหน่งของเส้นต่างๆ มักจะถูกใช้ในวางองค์ประกอบของภาพที่น่าสนใจ จะเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ภาพถ่ายที่สวยงามที่เราเคยเห็นวางในลักษณะนี้กันทั้งนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะเห็นศิลปินหลายคนสร้างสรรค์งานศิลปะจากสัดส่วนทองที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เราลองเอาลักษณะของสัดส่วนทองนี้ไปเทียบกับงานของศิลปินต่างๆ ดูก็ได้ครับ
ทั้งสัดส่วนทองแบบ Golden Spiral และ Golden Triangle นั้นนอกจากจะวางวัตถุหลักของภาพลงไปที่จุดตัดแล้วนั้น การวางเส้นนำสายตา หรือเส้นสายต่างๆ ในภาพตามแนวเส้นโค้ง หรือเส้นทแยงมุมได้อีกด้วย ซึ่งการวางวัตถุในภาพให้อยู่ในตำแหน่งจัดตัดต่างๆ และในตำแหน่งของเส้นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสัดส่วนทอง มักจะให้ความดึงดูสายตาของผู้ชมภาพ และทำให้การจัดองค์ประกอบภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
ในการถ่ายภาพของเราหลายครั้งเรามักจะรู้สึกว่า มีวัตถุในภาพมากมายหลายอย่าง การเลือกวางให้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ นั้นอยู่บริเวณใดจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งเราสามารถหยิบเอาเรื่องสัดส่วนทองนี้ไปใช้ได้เสมอ ตามลักษณะและรูปแบบภาพนั้นๆ ครับ…