เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 197/2014 February
ภาพถ่ายที่มีคุณภาพนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของการโฟกัส การโฟกัสที่แน่นอน และแม่นยำ จะส่งผลในเรื่องคุณภาพของภาพที่สมบรูณ์ ดังนั้นการเลือกที่จะโฟกัสสิ่งใดนั้นให้โดดเด่นขึ้นมา รวมทั้งให้ตรงประเด็นกลับสิ่งที่เราจะเน้น จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในขณะที่เราเลือกโฟกัส (selective focus) ในสิ่งที่เรากำลังถ่าย โดยปล่อยให้รอบๆ ข้างนั้นเบลอ
ช่างภาพหลายคนจะให้ความสำคัญกับการสื่อความหมายในภาพให้เด่นชัด ตรงประเด็น อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องในภาพจะพยายามหาทางขจัดทิ้งออกไปเสีย เพื่อที่จะได้เหลือเพียงเรื่องที่อยากจะเล่าเท่านั้น ดังนั้นเทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ตั้งใจ ซึ่ง selective focus ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่หลายคนเลือกใช้
ในเรื่องของการเลือกที่จะโฟกัสภาพ (selective focus) นั้น เป็นเทคนิคที่เราต้องการให้วัตถุที่เราจะถ่ายนั้นดูโดดเด่นขึ้นมา เป็นการเน้นให้ผู้ดูภาพ สนใจในสิ่งที่เรากำลังจะบอกเพียงแค่จุดเดียว โดยปล่อยให้รอบข้าง พ้นจากระยะชัด (Out of focus) ซึ่งมีตัวแปรในการควบคุมกล้องและเลนส์ของเราอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน นั่นก็คือ เลนส์, รูรับแสง และระยะห่างของฉากหลัง
เลนส์ (Lens)
การเลือกใช้เลนส์นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ที่จะใช้เทคนิค Selective focus ทางยาวโฟกัสของเลนส์ มีผลต่อการเลือกโฟกัสภาพ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ เช่น เทเลโฟโต้เลนส์ จะสามารถเน้นการโฟกัสภาพที่จุดใดจุดหนึ่งได้ดีกว่า ด้วยลักษณะของเลนส์ที่ให้คุณสมบัติในเรื่องของช่วงความชัดที่น้อย ส่งผลให้การโฟกัสภาพที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วปล่อยให้ฉากหลังเบลอหายไปเป็นเรื่องที่ง่าย โดยเฉพาะเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ ที่มักจะเรียกกันว่าเลนส์ฟิก จะยิ่งเห็นผลมากขึ้นมากกว่าการใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่หลากหลายอย่างเลนส์ซูม
รูรับแสง (f-stop หรือ aperture)
รูรับแสงจะส่งผลต่อช่วงความชัดในภาพ ยิ่งเลือกใช้รูรับแสงที่กว้างก็จะยิ่งทำให้ช่วงความชัดน้อยลง อย่างที่เรียกว่า ชัดตื้น นั่นเอง การเลือกรูรับแสงที่กว้าง ก็มีส่วนช่วยเน้นการเลือกโฟกัสภาพด้วยเช่นกัน เมื่อเราเปิดรูรับแสงกว้างๆ ผลที่ได้คือฉากหลังที่เบลอ ทำให้สิ่งที่เราโฟกัสนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นตามไปด้วย เลนส์บางตัวให้ค่ารูรับแสงกว้างสุดน้อยมากๆ จึงทำให้เลนส์ตัวนั้นสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่แปลกตาและมีพลังได้อยู่เสมอ
ระยะห่างของฉากหลัง (Background distance)
ระยะห่างของฉากหลัง ทำให้สองปัจจัยข้างต้น ได้ผลมากยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อจุดโฟกัสของภาพ กับจุดเอ้าท์โฟกัสของภาพอยู่ห่างกันมากๆ ช่วงความชัดลึกก็จะไม่ครอบคลุมถึงฉากหลังนั่นเอง นั่นก็จะส่งผลให้ สิ่งที่เราเลือกโฟกัสนั้น โดดเด่นขึ้นมา ไม่จมไปกับฉากหลัง ยิ่งฉากหลังมีระยะห่างจากสิ่งที่เราจะถ่ายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหลุดไปจากจุดโฟกัสของภาพได้มากเท่านั้น
ในการเลือกจุดโฟกัสนั้น นอกจากการที่เราจะควบคลุมกล้องของเราให้ได้ภาพอย่างที่ใจต้องการแล้วนั้น การเลือกสิ่งที่น่าสนใจจากสิ่งต่างๆ มากมายที่ปะปนกัน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การเลือกโฟกัสไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แล้วปล่อยให้ส่วนอื่นๆ ในภาพที่เราคิดว่าไม่น่าสนใจ ละลายหายไปกับฉากหลัง เป็นเทคนิคที่ช่างภาพส่วนใหญ่เลือกใช้กัน โดยหลักการแล้ว Selective focus เป็นเพียงการเลือกสิ่งที่เราสนใจ และอยากให้เด่นชัดที่สุดในภาพ โดยจับโฟกัสเฉพาะสิ่งนั้น จุดๆ นั้น ซึ่งทั้งนี้ นอกจากเทคนิคในการเลือกใช้เลนส์ รูรับแสง และระยะห่างจากฉากหลังแล้วนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้อีกนั่นก็คือในขั้นตอนของการรีทัชภาพนั่นเอง ซึ่งการรีทัชภาพนั้นจะขาดเสน่ห์บางอย่างไป โดยเฉพาะอารมณ์ในภาพที่ขาดหายไป
ซึ่งภาพในลักษณะนี้นั้นจะมุ่งเน้นอารมณ์ที่เด่นชัด เพราะจุดเด่นในภาพที่เหลือเพียงอย่างเดียว หรือสิ่งเดียว ทำให้การสื่อความหมายนั้นค่อนข้างที่จะแรงเป็นพิเศษ ดังนั้นถ้าเราใช้ได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะสื่อในสิ่งที่เราจะถ่ายออกมาให้กับผู้ชมภาพได้ กลับกันถ้าเราเลือกโฟกัสไม่ดีแล้วล่ะก็ พลังในภาพก็จะลดหายไปด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญก็คือการพิจารณาสิ่งที่เราจะถ่ายให้ดี หรือทำความเข้าใจเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นถามตัวเองว่าต้องการจะสื่อภาพนั้นออกมาให้เป็นแบบใด แล้วจึงถ่ายภาพโดยเลือกโฟกัสในจุดที่ต้องการ เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เราไม่หลงไปจากประเด็นแรกเริ่มที่ทำให้เราอยากถ่ายภาพสิ่งๆนั้น การเลือกโฟกัสที่แจ่มชัด ตรงประเด็น จะทำให้สิ่งที่เราจะถ่ายดูโดดเด่นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อครับ…