เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 242/2017 November
ในการนำเสนอภาพถ่าย ทั้งทางหน้านิตยสาร หนังสือ นิทรรศการ หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดๆ ก็ตาม ภาพที่เล่าเรื่องให้กับคนหมู่มากเข้าใจ เรื่องราวที่เป็นความสนใจของคนในสังคม หรือทำให้สาธารณะชนเกิดความประทับใจได้นั้น มักจะได้รับความสนใจมากกว่าอย่างอื่น
เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้เป็นพันคำ” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ใช้ภาพถ่ายในการเล่าเรื่องแทนตัวหนังสือ ซึ่งถ้าภาพหนึ่งภาพสามารถแทนคำพูดได้พันคำ การร้อยเรียงภาพหลายๆ ภาพอาจจะเท่ากับอ่านหนังสือหนึ่งเล่มหรือหลายเล่มเลยทีเดียวจริงไหมครับ ซึ่งการร้อยเรียงภาพเพื่อเล่าเรื่องด้วยภาพในลักษณะนี้นั้น เขาเรียกกันว่า Photo Essay
ในอดีตมีภาพประวัติศาสตร์หลายภาพที่บอกเล่าเรื่องราว และบันทึกเหตุการณ์อันสำคัญไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น หลายภาพในนั้นเป็นภาพที่ยังคงมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ Photo Essay ก็เป็นแนวการถ่ายภาพอีกแนวหนึ่งที่พยายาม เก็บเหตุการณ์สำคัญ และเรื่องราวที่สมบูรณ์เอาไว้ในภาพชุดหนึ่ง ภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน หรือมีการเล่าเรื่องราวประกอบกัน จนเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ได้เมื่อดูภาพจนครบทุกภาพในชุดนั้นๆ
Photo Essay เป็นแนวภาพที่มุ่งเน้นการเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นสำคัญ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของ How to เช่น ภาพแสดงวิธีการประกอบโมเดล การประดิษฐ์สิ่งของ หรือคู่มือประกอบอาหาร แต่จะเป็นลักษณะของภาพชุดที่คัดเอาเฉพาะภาพที่ไม่ซ้ำมุมกันมาจัดเรียงไว้ด้วยกันเพื่อเล่าเรื่องราวโดยรวมของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ ภาพทั้งชุดจึงประกอบไปด้วยภาพที่หลากหลาย ในภาพที่หลากหลายนี้อาจจะมีภาพที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามมากนัก แต่ก็สามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องได้
โดยทั่วไป จะมีการเข้าใจว่า Photo Essay มีลักษณะที่เป็นแบบภาพสารคดี (Documentary) ซึ่งก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะ Photo Essay นั้นเราสามารถใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบเดียวกับการถ่ายภาพสารคดีได้ แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ภาพสารคดีมักจะใช้ประกอบกันกับบทความของนักเขียนในการเล่าเรื่อง แต่ Photo Essay จะเน้นไปที่การใช้ภาพเล่าเรื่องมากกว่าตัวอักษรซึ่งไม่ได้จำกัดว่าแนวภาพจะเป็นแนวภาพสารคดีเท่านั้นถ้าเรื่องราวที่มีอยู่แล้วเพื่อรอการค้นพบ (Found) นั้นเป็นหัวใจของงานภาพถ่ายสารคดีเรื่องราวที่ถูกเรียงร้อยขึ้นผ่านสายตาของศิลปิน (Fabricated) ก็นับเป็นหัวใจของ Photo Essay นั่นเอง
การเล่าเรื่องด้วยภาพนั้นจะเหมาะมากสำหรับภาพแนวข่าวซึ่งภาพแนว Photo Essay ก็จะต้องอาศัยทักษะแบบเดียวกัน การคาดเดาเรื่องราวล่วงหน้า ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นและรอจังหวะที่จะบันทึกภาพนั้น เพื่อนำมาเรียงร้อยเรื่องราวได้ เพื่อให้ได้เรื่องราวที่สมบูรณ์ หรือเกือบสมบูรณ์ที่สุด
สำหรับการถ่ายภาพเพื่อทำเป็น Photo Essay เราอาจจะตั้งหัวข้อขึ้นมาก่อนก็ได้โดยอาจจะกำหนดสถานที่ลงไปด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่อันนี้ขึ้นอยู่กับหัวข้อของเราจะเป็นเรื่องอะไรจากนั้นก็ออกไปถ่ายภาพ แล้วนำกลับมาคัดเลือกสัก 6-12 ภาพ (เรื่องจำนวนภาพไม่ได้กำหนดตายตัวว่าแต่ล่ะชุดควรจะมีเท่าไหร่ ถ้าเล่าเรื่องราวได้จบสมบรูณ์ก็พอแล้ว)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการนำเอา Photo Essay มาใช้ในการนำเสนอมากมาย มีการตั้งชื่อเรื่อง และมีการเล่าเรื่อง หรือบรรยายประกอบภาพ แบบเรียงความ การรายงานหรือเล่าเรื่องด้วยภาพชุดแทนการใช้อักษรจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่เราจะพบอยู่บ่อยๆ ว่า ภาพถ่ายสามารถทำหน้าที่ในการนำเสนอได้ดี หัวใจอยู่ที่การเน้นอารมณ์ (Emotion) เราจะมีวิธีการอย่างไรกับสิ่งที่เราจะบอกต่อคนดูภาพ เพื่อให้เกิดความประทับใจ แม้ว่าหัวข้อเรื่อง และเนื้อหาในนั้นคือความจริงสิ่งสำคัญคือจะต้องเรียบเรียงออกมาอย่างจับใจคนดูด้วย ซึ่งนอกจากภาพแต่ละภาพจะเล่าเรื่องได้ดีแล้ว ทุกภาพต้องถูกจัดวางร้อยเรียงกันอย่างลงตัว เสมือนการเล่าเรื่องที่ต้องมีส่วนนำเรื่องจุดพีค และบทสรุป
Photo Essay ก็เป็นแนวการถ่ายภาพอีกแนวหนึ่งที่ตากล้องทุกคนควรจะศึกษาไว้ นั่นคือการพยายามเก็บเหตุการณ์สำคัญ และเรื่องราวที่สมบูรณ์เอาไว้ในภาพ 1 ภาพ หรือหลายภาพมาประกอบกัน พร้อมกับคำอธิบายสั้นๆเพียง 1-2 บรรทัด ถ้าหากเรามีแนวทางการถ่ายภาพแบบ Photo Essay เอาไว้ในใจ ภาพถ่ายของเราจะพิเศษกว่าของคนอื่นๆ ภาพของเราจะมีเรื่องราวของเหตุการณ์หรือสถานที่นั้นๆ ค่อนข้างสมบูรณ์โดยที่บางครั้งการจัดชุดภาพถ่ายเพื่อเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คำบรรยายอาจดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนเกินด้วยซ้ำ…