เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 186/2013 March
เคยเบื่อหน่ายกันบ้างไหมครับ กับกฎเกณฑ์ และหลักการต่างๆ ในการถ่ายภาพ ที่มีมาให้จดจำกันมากมาย และหลายต่อหลายครั้งที่เรามักจะเกิดคำถามที่ว่า ภาพแบบนั้น แบบนี้ มันสวยตรงไหน และภาพแบบไหนที่เขาเรียกว่าสวยหรือไม่สวย ซึ่งความสวย หรือไม่สวยนี้ ก็คงจะขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบของแต่ละคนนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักจะลืมไปก็คือ งานศิลปะนั้น ไม่มีผิดถูก ใครจะว่ายังไงก็ได้ ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็ได้ มันเป็นอิสระที่เราทุกคนได้รับเท่าๆ กัน เมื่อเรากำลังสร้างงานศิลปะ
ในการถ่ายภาพนั้นมีทฤษฎี และกฎเกณฑ์มากมาย ที่มักจะทำให้ในการถ่ายภาพแต่ละครั้งของเรา เต็มไปด้วยแรงกดดัน และยึดติดกับหลักการต่างๆ เหล่านั้น และนั่นก็นำไปสู่ความน่าเบื่อหน่าย ที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดถอยลงตามไปด้วย ใช่แล้วครับ ในคราวนี้เรามาลองแหกกฎกันดูดีไหมครับ เปลี่ยนความน่าเบื่อหน่าย และมาทดลองอะไรสนุกๆ ดูสักที เรามาดูกันนะครับว่า การฉีกกฎครั้งนี้มีอะไรน่าสนุกให้เราทำบ้าง
ฉีกกฎแรก วัตถุกลางภาพ / ริมภาพ
ตามหลักการวางองค์ประกอบภาพที่เรียกว่า จุดตั้ง 9 ช่อง หรือ กฎ 3 ส่วน (rule of third) ได้บอกถึงการวางตำแหน่งของวัตถุเอาไว้ เมื่อแบ่งเฟรมภาพออกเป็น 3 ส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน จะเกิดจุดตัด 4 จุด ที่บริเวณจุดตัดนั้น เราจะใช้วางวัตถุ เพื่อให้น่าสนใจ แต่ในคราวนี้ เราจะลองเปลี่ยนใหม่โดยการวางวัตถุเอาไว้บริเวณกลางภาพเสียเลย และเราก็จะค้นพบว่า ยังมีภาพอีกหลายภาพที่เมื่อวางวัตถุไว้กึ่งกลางภาพ ก็ได้ภาพที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน หรือในบางเรื่องราว การวางวัตถุหลักในภาพไว้ที่ตำแหน่งสุดขอบภาพ ก็อาจจะทำให้เราได้ผลงานที่น่าทึ่งก็เป็นได้นะครับ ทั้งนี้สภาพแวดล้อมโดยรวม พื้นที่ว่าง อารมณ์ของภาพ สีสัน แสง เงา ล้วนเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เราเลือกได้ว่าจะให้ วัตถุของเราอยู่ในส่วนใดในภาพ
ฉีกกฎที่สอง ภาพไม่นิ่ง ดูสั่นไหว
เป็นสิ่งแรกเลยที่ช่างภาพทุกคนน่าจะเคยได้ยิน เวลาที่จับกล้องถ่ายภาพ มือต้องนิ่ง เพื่อภาพที่คมชัด ไม่ดูสั่นไหวพร่ามัว หรือดูไม่รู้เรื่องว่าเป็นอะไร เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วครับ ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป ภาพที่คมชัด และนิ่งสนิท ไม่สั่นไหวพร่ามัว นับว่าเป็นภาพที่มีคุณภาพดี แต่ในภาพบางภาพนั้น อารมณ์ และเรื่องราวในภาพ ที่มีการเคลื่อนไหว (Action) การลดสปีดชัตเตอร์ลงให้ต่ำกว่าปกติ ก็อาจจะสร้าง Movement ที่น่าสนใจในภาพได้ หรือแม้แต่ว่าตัวเราจะเคลื่อนไหวไปด้วยก็ตาม ลองนึกถึงเทคนิคการถ่ายภาพโดยการแพนกล้องสิครับ สิ่งสำคัญก็คือ วัตถุในภาพ ที่แม้ว่าจะวูบไหว ไม่คมชัดนั้น ยังสามารถดูออกไหมว่าเป็นวัตถุอะไร เป็นรูปร่าง รูปทรงแบบใด และอารมณ์ความมันส์ในภาพ นั่นจะเป็นสิ่งที่เราจะถ่ายทอดออกมาได้
ฉีกกฎที่สาม เส้นขอบฟ้า
เส้นขอบฟ้า เป็นเส้นแบ่งที่บอกอะไรในภาพได้หลายอย่าง กฎเดิมๆ มีอยู่ว่า เส้นขอบฟ้าในภาพต้องไม่เอียง เส้นขอบฟ้าต้องไม่อยู่กึ่งกลางภาพ เป็นเรื่องที่เราจะได้ยินข้อห้ามเหล่านี้เป็นประจำ แน่นอนครับ ภาพหลายภาพที่เกิดจากความผิดพลาดของเราเอง ที่ตั้งกล้องไม่ได้ระนาบที่ถูกต้อง ภาพที่วางภาพไม่เด็ดขาดว่าต้องการพื้นที่ส่วนใดมากกว่ากัน ระหว่างพื้นน้ำ หรือท้องฟ้า เรามาว่ากันทีล่ะเรื่อง สำหรับเส้นขอบฟ้าเอียงนั้น บางภาพอาจจะทำให้มองภาพเอียงตามไป ภาพนั้นไม่ตั้งตรง แต่กับบางภาพ ผลที่ได้กลับน่าประหลาดใจ เพราะเส้นแนวนอนของเส้นขอบฟ้านั้น กลายเป็นเส้นทแยงที่ส่งผลไปที่ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี และสำหรับเส้นขอบฟ้าที่แบ่งกึ่งกลางภาพ ผมว่าถ้าเราจับคู่สีดีๆ หรือแม้แต่บรรยากาศในภาพที่ลงตัวนั้น เส้นขอบฟ้ากึ่งกลางก็ไม่ได้น่าเกลียดแต่อย่างใด กลับให้ความรู้สึกที่สมดุล และสงบเสียด้วยซ้ำ
ฉีกกฎที่สี่ โฟกัส
เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ภาพที่โฟกัสได้ดีนั้น ความคมชัดของภาพ วัตถุที่เราถ่ายต้องอยู่ในจุดโฟกัส และเมื่อโฟกัสผิดพลาด ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือภาพเบลอนั่นเอง แต่เชื่อไหมครับว่า ภาพหลายภาพ ที่เมื่อลองเปลี่ยนจุดโฟกัสดูแล้ว กลับพบว่ามีความแปลกใหม่และน่าสนใจมากกว่า การโฟกัสไปที่วัตถุโดยตรง หรือแม้แต่การที่เราไม่โฟกัสเลย ปล่อยให้ภาพนั้นเบลอ พร่ามัว ทั้งภาพก็อาจจะได้มุมมองที่น่าสนใจได้เหมือนกัน ในงานศิลปะ ภาพเขียนแบบอิมเพรสชั่น ก็มักจะมีฝีแปรงที่สะบัดให้ดูพร่ามัว เส้นแต่ล่ะเส้นก็ไม่เน้นที่ความคมชัด แต่จะให้ความสำคัญที่ สีสัน แสงเงา และรูปร่างรูปทรง
ฉีกกฎที่ห้า การวัดแสง
การวัดแสงให้ได้ค่าแสงที่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องพื้นฐานของการถ่ายภาพนะครับ การวัดแสงที่แม่นยำ และถูกต้องนั้น อย่างน้อยเราก็ได้ภาพกลับไปแน่ๆ แต่สำหรับภาพบางภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งอารมณ์บางอย่างแล้วนั้น การเพิ่ม/ลดค่าแสงในภาพ ให้มืด หรือสว่าง กว่าเดิมจากค่าแสงปกติ ก็จะช่วยเสริมอารมณ์ในภาพได้มากยิ่งขึ้น
ภาพที่เปิดค่าการรับแสงน้อยกว่าที่วัดแสงได้ ความมืดในภาพจะเน้นอารมณ์ในภาพให้ดูเข้มขรึม ลึกลับ น่าสนใจ ส่วนภาพที่เปิดรับแสงให้สว่างมากกว่าปกติ ก็จะช่วยให้บรรยากาศดูสดใส นุ่มนวลได้เช่นกัน ทั้งนี้เราต้องลองดูกับภาพหลายๆ ภาพเพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
ในทางศิลปะแล้วนั้น ความสวยงามของแต่ล่ะคน ย่อมที่จะไม่เท่ากัน อันนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่จะมีอีกสาเหตุหนึ่งมากไปกว่าความสวย ที่ผมไม่เห็นด้วยเลยก็คือ ภาพแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก เพราะว่างานศิลปะนั้น มันไม่ผิดถูกมาตั้งแต่แรก กฎเกณฑ์บางอย่างนั้น หยิบยกมาเพื่ออธิบายที่มาที่ไป หรือเพื่อให้เราใช้เป็นหลักตั้งต้นเพียงเท่านั้นเอง จึงไม่แปลกอะไรที่วันหนึ่งเราอยากจะฉีกกฎเกณฑ์เหล่านี้ทิ้งไปบ้าง และนั่นก็อาจจะทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาก็เป็นได้นะครับ…