เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 192/2013 September
ทุกครั้งที่เราถ่ายภาพเราคงอยากจะให้ สิ่งที่เราถ่ายนั้นดูโดดเด่นมากกว่าสิ่งอื่นๆ ใช่ไหมครับ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ดั่งใจเสียที ยิ่งภาพมุมกว้างแล้วล่ะก็ ทุกสิ่งทุกอย่างดูกลืนๆ กันไปหมดเลย นั่นก็เป็นเพราะว่าเราให้ความสำคัญกับตัวแบบ หรือสิ่งที่เราจะถ่ายมากเกินไปจนลืมนึกถึงสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย นั่นก็คือ ฉากหลังนั่นเอง ฉากหลังที่ดีนั้นจะช่วยทำให้ภาพของเรามีความน่าสนใจขึ้นมาก และในขณะเดียวกัน ฉากหลังที่รกรุงรัง ก็เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ภาพของเราขาดความน่าสนใจไปด้วยครับ
ฉากหลัง หรือ Background ที่ดีนั้นสิ่งแรกเลยก็คือการไม่แย่งความเด่นของสิ่งที่เราจะถ่ายภาพ และสามารถช่วยเสริมให้สิ่งที่เราจะถ่ายน่าสนใจยิ่งขึ้นได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วฉากหลังที่เรียบง่ายนั่นแหละจัดว่าดีที่สุด สิ่งสำคัญก็คือเราจะมองหาฉากหลังที่เรียบง่ายนั้นจากที่ไหน และด้วยวิธีการเช่นใด
ฉากหลังที่เรียบง่ายจากการเลือกจุดโฟกัสและการควบคุมรูรับแสง (Focal point & aperture control) ฉากหลังที่เรียบง่ายลักษณะนี้จะมาจากการที่เราเลือกให้ส่วนใดส่วนหนึ่งในภาพนั้นมีความคมชัด ในขณะที่เราปล่อยให้ในหลายๆ ส่วนในภาพนั้น out of focus หรือเบลอไปนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วการเลือกรูรับแสงที่กว้าง จะส่งผลให้ระยะโฟกัสนั้นน้อย ฉากหลังที่เบลอนั้นก็จะช่วยส่งให้แบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายดูโดดเด่นขึ้นมา เทคนิคนี้จะได้ผลที่ดีขึ้นเมื่อเราใช้ร่วมกลับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า เลนส์ฟิก (fix Lens)
ฉากหลังที่เรียบง่ายจากความต่างกันของสี (color contrast) การให้ฉากหลังเป็นสีคู่ตรงข้าม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่างภาพหลายคนเลือกใช้โดยปกติแล้วการมองเห็นของมนุษย์นั้น จะมีผลกับสีสันอยู่แล้ว ยิ่งสีที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน หรือสีที่ตัดกันนั้น ก็จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างมากขึ้น ข้อควรระวังก็คือเมื่อเราเลือกใช้สีตัดกันในภาพ ให้แบ่งพื้นที่ของสีทั้งสองสี ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันพูดง่ายๆ ก็คือไม่ควรให้พื้นที่ของสีที่ตัดกันนั้นเท่ากันนั่นเอง โดยมากเราจะแบ่งกันอยู่ที่ 80%-20% โดยสีที่อยู่ตรงข้ามกันนั้น ก็คือสีที่คนล่ะวรรณะนั้นเองยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น สีแดงที่อยู่ในวรรณะร้อน สีคู่ตรงข้ามนั้นก็คือสีเขียวที่อยู่ในวรรณะเย็น, สีส้มกับสีน้ำเงิน, สีเหลืองกับสีม่วง
ฉากหลังที่เข้ม หรือ สว่างกว่าวัตถุ (tone) ฉากหลังที่เข้มหรือสว่างกว่าวัตถุที่เราจะถ่าย ก็มีส่วนช่วยให้สิ่งที่เราจะถ่ายดูน่าสนใจยิ่งขึ้นได้และยังส่งผลต่ออารมณ์ในภาพด้วย ฉากหลังที่เข้มจะส่งผลต่อความรู้สึกในภาพ ที่ดูลึกลับ กลับกันฉากหลังที่สว่างก็จะให้ความรู้สึกที่สดใส ทั้งนี้ในการเลือกใช้นั้น เราต้องระวังในเรื่องของการวัดแสง ที่เครื่องวัดแสงในกล้องมักจะอ่านค่าแสงผิดพลาด ส่งผลให้ภาพที่ได้ มืดหรือสว่างกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อใช้วิธีนี้ การเลือกระบบวัดแสงแบบเฉพาะจุด หรือการชดเชยแสงให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ วิธีง่ายๆ ก็คือการสังเกตว่าฉากหลังที่เราใช้ มืดหรือสว่าง ถ้าสว่างก็ให้ชดเชยไปทาง + ถ้ามืดก็ให้ชดเชยแสงมาทาง –
ฉากหลังที่กลมกลืนกันกับวัตถุ (harmony) ความกลมกลืนของฉากหลังกับวัตถุที่เราจะถ่ายนั้น ก็ส่งผลถึงอารมณ์ในภาพ วัตถุที่เราจะถ่ายมีสีสันแบบใด มีความรู้ สึกแบบใด มีรูปร่างรูปทรงแบบใด การเลือกฉากหลังที่รับกันก็จะทำให้ภาพดูเป็นเอกภาพ กลมกลืนกันไปในทิศทางเดียวกันได้ เช่นภาพเด็กกำลังยิ้ม ฉากหลังเต็มไปด้วยสีสันของร้านขนม หรือภาพเด็กที่กำลังร้องไห้ ฉากหลังสีเข้มที่รู้สึกหดหู่
การเลือกฉากหลังให้กับภาพนับว่าเป็นส่วนสำคัญของการถ่ายภาพ ช่างภาพหลายคนในบางครั้ง มองหาฉากหลังที่น่าสนใจก่อน แล้วจะรอคอยให้วัตถุหรือสิ่งที่จะถ่ายเข้ามาในเฟรมหรือฉากหลังที่ต้องการ และในบางครั้งก็จะมองหามุมของสิ่งที่จะถ่ายอยู่ด้านหน้าของฉากหลังที่เขาต้องการเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อเราให้ความสำคัญกับฉากหลังแล้ว ภาพที่ได้จะดูสมบูรณ์ขึ้น ไม่มีสิ่งใดๆ มาทำให้รู้สึกสะดุด ภาพของเราก็จะมีความสวยงามสมกับที่เราตั้งใจครับ…