เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 201/2014 June

พระจันทร์ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิลปินนำมาใช้ในการสร้างผลงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานทางวรรณกรรม หรือศิลปะ เรามักจะเห็นพระจันทร์อยู่ในผลงานเหล่านั้น งานถ่ายภาพก็เช่นกัน พระจันทร์จัดว่าเป็น Subject ที่ช่างภาพหลายคนเลือกที่จะถ่ายภาพ ด้วยความสวยงาม และมีความหมายที่ดี ในฉบับนี้จึงถือโอกาส นำการถ่ายภาพพระจันทร์มาเป็นหัวข้อที่เราจะพูดคุยกันครับ

ในการถ่ายภาพพระจันทร์นั้นมีหลักการอยู่ไม่มากนัก สิ่งสำคัญอยู่ที่ความต้องการของเราว่า อยากได้ภาพพระจันทร์แบบใด อยากได้แบบเห็นรายละเอียด พื้นผิวของพระจันทร์ อยากให้มีฉากหน้าประกอบ หรือว่าอยากได้ภาพอื่นๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่พระจันทร์ก็เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ

Looney 11 rule

หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า สมัยที่ระบบวัดแสงในกล้องยังทำงานได้ไม่แม่นยำนักในการถ่ายภาพเวลากลางวันนั้น เราสามารถใช้กฎ Sunny 16 มาช่วยในการวัดแสงเมื่อถ่ายภาพท่ามกลางแดดได้ โดยตั้งความเร็วชัตเตอร์ ให้ใกล้เคียงกับค่า ISO ที่ใช้ แล้วใช้ F ที่ค่า 16 เช่น ถ่ายภาพในวันที่ฟ้าสดใส ท่ามกลางแดดจัด เลือกใช้ค่า ISO ที่ 100 ก็ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/100 หรือ 1/125 วินาที ค่า F อยู่ที่ 16 (ส่วนสภาพแสงอื่นๆ ก็จะชดเชย stop กันไป เช่น มีแดดใช้ F11 ท้องฟ้าใส มีเมฆเล็กน้อย ใช้ F8 เมฆมาก 5.6 ในร่ม 4 ประมาณนี้)

แม้ว่าทุกวันนี้ระบบวัดแสงในกล้องจะพัฒนามามาก กฎ Sunny 16 เลยไม่ค่อยได้นำมาใช้เท่าไรนัก แต่สำหรับการถ่ายภาพพระจันทร์ในเวลากลางคืน กฎ Looney 11 กับใช้งานได้ดี ในสภาพแสงที่เราถ่ายภาพพระจันทร์นั้น แสงจะน้อยมาก ท้องฟ้าอาจจะเป็นสีน้ำเงิน หรือสีดำ ระบบวัดแสงในตัวกล้องมักจะวัดแสงไปทางสว่างกว่าปกติ ทำให้กว่าเราจะชดเชยแสงให้ได้พอดีนั้นก็จะเสียเวลา กฎ Looney 11 สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่ง กฎ Looney 11 นี้มีหลักการอยู่ว่า ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ตรง หรือใกล้เคียงกับค่า ISO เช่น ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ก็จะอยู่ที่ 1/100 หรือ 1/125 วินาที ค่า F-stop ที่เหมาะสมจะอยู่ F11 เราก็จะได้ภาพพระจันทร์ที่มีรายละเอียดสวยงาม

หลุมบนดวงจันทร์

การถ่ายภาพให้เห็นหลุมบนดวงจันทร์ (ไม่ใช่บินขึ้นไปถ่ายหลุมบนดวงจันทร์แบบองค์การนาซ่านะครับ) เราจะเคยเห็นภาพดวงจันทร์ที่มีรายละเอียดเยอะๆ เห็นหลุมๆ ต่างๆ บนดวงจันทร์ การถ่ายภาพแบบนี้ เราจะต้องถ่ายในคืนที่พระจันทร์ไม่เต็มดวง พระจันทร์ครึ่งเดียวนี่แหละเหมาะสมที่สุด เพราะปริมาณแสงที่กำลังพอดีบนดวงจันทร์ที่แสดงรายละเอียดของหลุมบ่อต่างๆ ได้สวยกว่าพระจันทร์เต็มดวง อุปกรณ์ที่สำคัญก็คือเลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีกำลังขยายสูง มีความคมชัดดี เพื่อภาพที่ได้จะเห็นพระจันทร์ได้ใหญ่โตสวยงาม ส่วนการถ่ายภาพเราใช้ กฎ Looney 11 ในการบันทึกภาพ หรือถ้าหากว่าใช้ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง แล้วชดเชยแสงแบบอันเดอร์ประมาณ 1-2 สตอป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของพระจันทร์ในขณะนั้น

เสริมฉากหน้าและ สร้างเรื่องราว

นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพพระจันทร์เดี่ยวๆ แล้ว การจัดองค์ประกอบโดยมีฉากหน้ามาเสริมจะทำให้ภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น ฉากหน้าที่เราเลือกใช้ จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำกัด โดยมากก็จะมองหาจากบริเวณที่เราถ่ายภาพอยู่ ณ ขณะนั้น เช่นต้นไม้ที่มีรูปร่างสวยๆ ยอดหญ้า กิ่งไม้ หรือแม้แต่นางแบบนายแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และเนื้อหาของภาพที่เราจะนำเสนอ โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของภาพเงาดำ ที่แสดงให้เห็นเพียงแค่รูปร่างของวัตถุเท่านั้น เพราะงานนี้ พระเอกของเรา คือ พระจันทร์นั่นเอง

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์มีอยู่หลายอย่าง เช่น จันทรุปราคาซุปเปอร์มูน ดาวเคียงเดือน หรือพระจันทร์ทรงกลด ปรากฏการณ์เหล่านี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ภาพพระจันทร์ที่แปลกออกไปจากปกติ แต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มีลักษณะเฉพาะ และวิธีการถ่ายภาพที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย

จันทรุปราคา นับว่าเป็นโอกาสที่จะถ่ายภาพได้ไม่บ่อยครั้ง เพราะนานๆ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาและสภาพอากาศที่เหมาะสม จันทรุปราคาภาพที่ได้ดวงจันทร์จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลือง จนเมื่อจันทรุปราคาเต็มดวงก็จะเป็นสีแดง ทำให้ภาพถ่ายที่ได้สวยงามแปลกตา และมีระยะเวลาในการถ่ายภาพพอสมควร สิ่งสำคัญคือการหาฉากมาประกอบในภาพให้ดูน่าสนใจกว่าการถ่ายภาพจันทรุปราคาเปล่าๆ อย่างภาพที่นำมาประกอบในครั้งนี้ ผมใช้กล้องถ่ายภาพอีกตัวหนึ่งเปิด live view ในกล้องให้แสดงภาพจันทรุปราคา และใช้กล้องอีกตัวถ่ายภาพ โดยให้เห็นบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

พระจันทร์ทรงกลด จริงๆ แล้วไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดมาจากการสะท้อนของแสง และการหักเหของแสงของพระจันทร์ เมื่อกระทบเข้ากับเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ ของละอองไอน้ำชั้นบนของกลุ่มเมฆ  ทำให้เกิดรังสีของแสงสีรุ้งกระจายอยู่โดยรอบ พระจันทร์ทรงกลดจะเกิดขึ้นในคืนที่ท้องฟ้ามืดสนิท ในการถ่ายภาพ จำเป็นที่จะต้องตั้งค่า ISO ในกล้องให้สูงพอที่จะเก็บแสงสีรุ้งเอาไว้ได้ ส่วนการวัดแสง วัดบริเวณสีรุ้งนั่นเอง

ซุปเปอร์มูน หรือ perigee เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมาก จนทำให้มีขนาดที่ใหญ่โตขึ้นจากปกติ ดวงจันทร์ใกล้โลกนั้นจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน นั่นคือเดือนละครั้ง บางเดือนมี 2 ครั้ง โดยระยะห่างจะต่างกันเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้ว แม้จะบอกว่าเป็นซุปเปอร์มูน แต่ขนาดของดวงจันทร์ไม่ได้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากนัก เพียงแต่ว่า ถ้าเราตรวจสอบวันเวลาที่จะเกิดซุปเปอร์มูน ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะถ่ายภาพดวงจันทร์ได้ใกล้ขึ้นนั่นเอง

ดาวเคียงเดือน หลายคนเรียกว่า พระจันทร์ยิ้ม ท้องฟ้ายิ้ม (ผมว่าจริงๆ น่าจะเรียกท้องฟ้ายิ้มมากกว่านะ เพราะดวงจันทร์เป็นปากกำลังยิ้ม) ดาวเคียงเดือนเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี มีตำแหน่งอยู่ใกล้ดวงจันทร์ ที่สวยงามที่สุดคือตำแหน่งของดวงจันทร์ครึ่งดวง ที่เรียกว่าข้างขึ้นเดือนหงาย และตำแหน่งของดวงดาวอยู่เหนือดวงจันทร์ ผลที่ได้จึงเกิดเป็นลักษณะของดวงตา และปากที่กำลังยิ้มอยู่

การถ่ายภาพพระจันทร์นั้น เราควรศึกษาข้อมูลทางดาราศาสตร์ เพื่อเราจะทราบถึงเวลาการขึ้นและตกของพระจันทร์ ความสว่างรวมทั้งอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นเช่น มีเมฆฝน ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราเตรียมอุปกรณ์และวางแผนการถ่ายภาพล่วงหน้าได้ สำหรับการหาข้อมูลนั้นมีหลายเวบไซด์ที่มีข้อมูลดีๆ อย่างของสมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/ หรือเวปอื่นๆ โอกาสถ่ายภาพมีไม่มากนักอย่าลืมไปถ่ายภาพกันนะครับ…