เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 166/2011 July
เข้าฤดูฝน ฝนตกไปทั่วแทบจะทุกวัน ช่างภาพอย่างพวกเราก็ได้แต่เซ็งกันนะครับด้วยว่าท้องฟ้าฤดูนี้ไม่สวยเอาเสียเลย ออกไปทางสีเทาๆ ทึมๆ หนำซ้ำบางวันเมฆมากฟ้าปิดแหงนหน้ามองไปทางไหนเป็นสีขาวไปหมด แสงแดดก็ไม่ค่อยจะมีส่องลงมา เห็นบรรยากาศแบบนี้แล้ว พาลไม่อยากออกไปถ่ายรูปเลยใช่ไหมครับ แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจเก็บกล้องเข้ากระเป๋าในตอนนี้นะครับ ช่วงฤดูฝนแบบนี้นี่แหล่ะที่มี “อะไรๆ” ที่น่าสนใจให้ถ่ายภาพได้เหมือนกัน หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาฝนตกเท่านั้น ทั้งก่อนฝนตกและหลังฝนตก ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่ควรมองข้ามไปครับ มีอะไรบ้างที่เราถ่ายภาพกันได้ในช่วงหน้าฝนเราลองมาดูกัน
สายฝน สายฝนที่กำลังตกหนัก หรือตกลงมาโปรยปรายเบาๆ เป็นเส้นสายในภาพ ทำหน้าที่เสริมอารมณ์ให้กับภาพได้เป็นอย่างดี ภาพคนกางร่มเดินฝ่าสายฝน เด็กที่วิ่งหลบฝน หรือ สายฝนที่หล่นเป็นสายจากหลังคา ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็ช่วยเสริมเรื่องราวในภาพได้เป็นอย่างดี ในการถ่ายภาพสายฝนให้เห็นเป็นเส้นสายนั้น ให้เลือกฉากหลังของภาพเป็นโทนสีเข้ม เพื่อที่จะได้ตัดกับสายฝนที่เป็นเส้นสีขาวทำให้เห็นสายฝนเป็นเส้นๆ ได้ชัดเจน พยายามใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่เร็วเกินไปนักจะเห็นเส้นสายฝนที่ยาวพอสมควร โดยส่วนมากความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/60-1/125 จะจับสายฝนได้สวยพอสมควร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝนที่เรากำลังถ่ายนั้นตกหนักแค่ไหน
ฟ้าผ่า ในวันที่ฝนตกเวลาเย็นไปจนกลางคืน บางครั้งเกิดฟ้าผ่า เราสามารถถ่ายภาพเก็บไว้ได้ แต่ไม่ต้องถึงขั้นออกไปกลางแจ้งเพื่อถ่ายภาพฟ้าผ่านะครับ แนะนำว่าถ้าจะถ่ายภาพฟ้าผ่าให้ตั้งกล้องบนตึกสูง เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและกล้องถ่ายภาพของเรา ส่วนการตั้งกล้องนั้น เลือกใช้ ISO 100 หรือ 200 รูรับแสงที่แคบสัก 8-16 ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง อาจจะใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อจะได้เก็บภาพสายฟ้าไม่ขาดช่วง สำคัญคือการพกดวงไปด้วยเยอะๆ ครับเพราะเราไม่สามารถกำหนดให้ฟ้าผ่าได้ตอนไหน ทำได้เพียงแค่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเช่น B แล้วรอลุ้นว่าขณะที่ม่านชัตเตอร์เปิดนั้น ฟ้าผ่าลงมาพอดีหรือเปล่า
รุ้งกินน้ำ หลังฝนตกถ้ามีแดดออกมาล่ะก็ มักจะมีรุ้งกินน้ำเกิดขึ้นด้วยเสมอ จะมองเห็นสั้นหรือยาวนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ ที่เรายืนอยู่ ถ้าจะถ่ายภาพรุ้งกินน้ำนั้น ควรปรับกล้องและถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งช่วงที่สีของรุ้งกินน้ำจะเข้มสดที่สุดนั้นเป็นช่วงเวลาแค่นิดเดียว แล้วสีของรุ้งกินน้ำก็จะจางลงไป การถ่ายภาพให้มืดกว่าปกติสัก 1-2 สตอป ก็สามารถเก็บสีของรุ้งกินน้ำได้เต็มที่ มีคำถามว่า ถ้าจะถ่ายภาพรุ้งกินน้ำผ่าน Polarizing filter จะเห็นรุ้งกินน้ำชัดขึ้นหรือไม่ คำตอบคือทั้งใช่ และไม่ใช่ครับ สำหรับรุ้งกินน้ำตัวสั้นๆ การใช้ filter PL จะสามารถทำให้รุ้งกินน้ำดูชัดเจนขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นรุ้งกินน้ำตัวยาวๆ การใช้ filter PL จะทำให้บางส่วนของรุ้งกินน้ำดูชัดเจนขึ้น แต่มีบางส่วนที่จะเลือนหายไปเกือบหมด หรือหมดเลยด้วย เพราะรุ้งกินน้ำเกิดจากการหักเหของแสง และในแต่ละส่วนมีระนาบของการเป็น polarization ต่างกันครับ
หยดน้ำ หลังจากฝนตกไปแล้ว แม้ว่าท้องฟ้าจะยังไม่ปลอดโปร่งนัก แต่ตามต้นไม้ใบหญ้า จะเต็มไปด้วยความสดชื่นของหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามยอดหญ้า ตามดอกไม้ รอให้เราไปเก็บภาพในระยะใกล้ ด้วยเลนส์มาโคร หยดน้ำที่เกาะอยู่ตามยอดหญ้า ใบไม้ ดอกไม้ ช่วยให้ภาพถ่ายโคสอัพของเราดูมีความชุ่มชื้นมากขึ้น สำคัญคือการถ่ายให้ใกล้ที่สุดและเน้นถึงอารมณ์ความสดชื่น หรือแม้แต่ หยดน้ำที่เกาะบนกระจก ก็สามารถใช้สร้างสรรค์ภาพได้อีกมากมาย ลองหันไปมองกระจกเวลาที่ฝนตกดูสิครับ
เห็นไหมครับว่าในฤดูฝนนั้นเราสามารถมองหาอะไรที่น่าสนใจถ่ายภาพได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะในขณะที่ติดฝนอยู่ที่ใดสักแห่งหนึ่ง หรือหลังจากฝนตกแล้ว อย่าลืม เตรียมตัวให้พร้อม กล้องเลนส์อุปกรณ์กันฝนอย่างร่มหรือเสื้อกันฝน ถุงพลาสติกกันน้ำ ในกรณีที่ถ่ายภาพอยู่ฝนก็เทลงมา ยังพอที่จะเอาถุงพลาสติกคลุมกล้องได้ทัน นะครับ ในหน้าฝนที่ฝนตกแทบจะทุกวันแบบนี้ มีอะไรรอให้เราออกไปถ่ายภาพอีกมาก ออกไปถ่ายภาพกันดีกว่าครับ อย่าปล่อยให้ฝนเป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพของเรานะครับ
“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เฝ้ารอเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ…”