เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 211/2015 April
ในธรรมชาติ เราจะพบว่ามีความงดงามซ่อนอยู่ในทุกหนแห่ง เป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินอยู่เสมอ เมื่อเราลองสังเกตสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราจะพบว่าหลายสิ่งมีความน่าสนใจในตัวมันเอง การถ่ายทอดออกมาด้วยมุมมองของช่างภาพเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้
หลายครั้งที่การออกทริปถ่ายภาพจะมีภาพถ่ายอยู่ไม่กี่ภาพที่ผมมักจะถ่ายอยู่บ่อยๆ หรือพยายามมองหาถ่ายภาพเก็บเอาไว้ นั้นก็คือ ภาพของต้นไม้ต่างๆ ที่มีรูปร่างรูปทรงที่น่าสนใจ บางต้นเป็นต้นไม้ที่ยังมีชีวิต ใบเขียวชอุ่ม ออกดอกสวยงาม และบางต้นก็เป็นเพียงต้นไม้ที่แห้งตายไปแล้ว หลายบ่อยครั้งเข้าทำให้เกิดการเรียกติดปากไปเสียเลยว่า “ภาพไม้ตาย” ซึ่งในความหมายก็คงไม่ต้องเสียเวลาบอกนะครับว่าก็คือการถ่ายภาพต้นไม้ที่ตายแล้วนั่นเอง
เมื่อเราสังเกตต้นไม้เข้าบ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ มีต้นไม้อีกมากที่มีลำต้นที่สวยงาม แปลกตา มีส่วนโค้ง เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปมา มีพื้นผิวที่ขรุขระ หรือผิวเรียบ มีกิ่งก้านที่แตกสาขาแผ่กระจายเป็นวงกว้าง หรือมีกิ่งก้านสาขาเพียงไม่กี่กิ่ง ความแตกต่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราผ่านตาจนเคยชิน และบ่อยครั้งทำให้เราหลงลืมไปได้
การถ่ายภาพต้นไม้ หรือที่ผมจะขอเรียกเล่นๆ ว่า ภาพไม้ตาย นี้การสังเกตเป็นสิ่งสำคัญ เราจะมองหาต้นไม้ที่มีลำต้นสวยงามอย่างที่ต้องการได้นั้น หลักการจัดองค์ประกอบภาพในเรื่องของทัศนธาตุเรื่อง รูปร่าง-รูปทรง เป็นหลักสำคัญที่เราจะนำมาใช้ การมองหารูปร่างและรูปทรงที่สวยงาม รวมไปถึงการจัดวางให้อยู่ในเฟรมภาพแบบใดให้เหมาะสม และนี่จะเป็นโจทย์ที่เราต้องทำความเข้าใจ
Shape & Form
รูปร่าง (Shape) คือ ภาพที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะเส้นรอบนอกของวัตถุ มี 2 มิติ คือด้านกว้างกับด้านยาวไม่มีความหนาเกิดจากเส้นรอบนอกที่แสดงพื้นที่ขอบเขตของรูปต่างๆ เช่น รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบ
รูปทรง (Form) คือ ภาพที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดงมิติด้านกว้าง ด้านยาวแล้ว ยังมีมิติด้านลึก ด้วยเช่น รูปทรงกลม ทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก เป็นต้น ให้ความรู้สึกมีปริมาตร ความหนาแน่น มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้ค่าน้ำหนัก หรือการจัดองค์ประกอบของรูปทรง หลายรูปรวมกัน
ภาพลักษณะรูปร่างนั้น ทิศทางของแสงส่วนใหญ่จะเป็นแสงหลัง (Back Light) และแสงเฉียงหลัง (Semi-Back Light) แสงหลังจะทำให้วัตถุที่เราถ่ายมีลักษณะเป็นภาพโครงทึบ หรือที่เราเรียกกันว่าภาพย้อนแสง (Silhouette) ซึ่งภาพลักษณะนี้จะไม่แสดงรายละเอียดของวัตถุที่เราถ่ายจะเห็นเพียงรูปร่างของวัตถุเท่านั้นการถ่ายภาพย้อนแสงมีหลักการโดยควรถ่ายให้ภาพมีช่วงความชัดลึก โดยเปิดช่องรับแสงให้แคบกว่าปกติเล็กน้อย พยายามเลือกวัตถุที่มีโครงร่างที่สวยงาม หามุมย้อนแสงโดยวางจังหวะของดวงอาทิตย์ให้พอดี ส่วนแสงเฉียงหลังนั้นจะทำให้เกิดเส้นขาวขึ้นที่ขอบของวัตถุที่ถ่าย หรือ ริมไลท์ (Lim Light) ซึ่งเส้นขาวๆ เหล่านี้จะเป็นรูปร่างตามลักษณะของวัตถุ
ภาพลักษณะรูปทรงทิศทางของแสง โดยมากจะเป็นแสงข้าง(Side Light) และแสงเฉียงหน้า (Semi- Front Light) แสงทั้ง 2 แบบนี้มีผลที่ทำให้เกิดมิติที่ 3 ของภาพคือความลึก ทำให้วัตถุที่ถ่ายเกิดเป็นลักษณะรูปทรงไม่แบนราบ
Minimal & Pattern
มาในเรื่องของการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพไม้ตายนั้นการนำเอาสไตล์ภาพแบบมินิมอลมาช่วยก็นับว่าเป็นทางออกที่ดี ด้วยตัวต้นไม้ที่เป็นซับเจคหลักของเรานั้น มีเส้นสาย มีรูปร่างที่มีรายละเอียดมากพออยู่แล้ว การเลือกจัดให้สิ่งอื่นๆ ในภาพน้อยลงตามหลักของ minimalist เช่นการเลือกใช้ฉากหลังเป็นท้องฟ้าที่เรียบง่ายหรือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ เพื่อให้เกิดความสั่นไหวของสิ่งที่เคลื่อนไหวในภาพเช่นต้นหญ้าที่โดนลมพัด หรือผู้คนที่เดินผ่านไปมาหรือแม้แต่ก้อนเมฆที่กำลังพัดผ่านซึ่งในบางครั้งเรารู้สึกว่ามันเยอะเกินไปนั่นเอง
อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ Pattern หรือการซ้ำ ต้นไม้ที่อยู่ในธรรมชาติ หรือที่ได้รับการปลูกขึ้นในบางครั้งมีด้วยกันมากมายหลายต้น ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราเลือกจัดวางองค์ประกอบภาพแบบการซ้ำให้เห็นเรียงกันไป หรือซ้ำไปซ้ำมาในภาพเพื่อให้เกิดความรู้สึกของการเน้นย้ำได้
วัตถุต่างๆ ในธรรมชาติ ล้วนมีความสวยงามในตัวของมันเองการเลือกจัดวางให้ลงตัวเหมาะสม เกิดจากจินตนาการและการสร้างสรรค์ของช่างภาพที่จะกำหนดให้เกิดภาพออกมาในลักษณะใด สิ่งสำคัญคือการมองหาและสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว การให้ความสนใจในรายละเอียดปลีกย่อย การรอคอยช่วงเวลาของแสงที่เหมาะสม ก็จะทำให้เราถ่ายภาพศิลปะที่ธรรมชาติสร้างไว้ได้ไม่ยากครับ…