เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 207/2014 December
แม้ว่าการถ่ายภาพจะเดินทางมาถึงยุคดิจิตอลที่อะไรๆ ก็สามารถเป็นไปได้ด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพ แต่แนวคิดที่ว่าภาพถ่ายสามารถบอกเล่าความจริงได้เสมอนั้นก็ไม่ได้จางหายไป ซ้ำแล้วภาพถ่ายที่ไม่ผ่านการตัดต่อเสริมแต่ง กลับยิ่งดูมีคุณค่า มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นไปอีก
แท้จริงแล้ว การแต่งภาพนั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคฟิล์ม โดยเฉพาะในยุคที่ภาพถ่ายแนวพิคโทเรียลกำลังเป็นที่นิยมนั้น มีกระบวนการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายให้ได้ภาพที่สวยงามเหมือนภาพเขียน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ Cyanotype, Gum Bichromate Process, Bromoil ฯลฯ เราสามารถตกแต่งแก้ไขภาพได้ไม่ต่างกันกับในสมัยนี้ ด้วยกระบวนการต่างๆ ในห้องมืดที่คิดขึ้นโดยศิลปินต่างๆ ผสมกับฝีมือในงานกราฟิก แม้ว่าจะมีเทคนิคมากมายกับภาพถ่าย แต่หลายๆ คนก็ยังให้ความสนใจกับภาพถ่ายที่เกิดจากการถ่ายภาพอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเสริมแต่งอยู่นั่นเอง
เมื่อพูดถึงความเป็นจริงของภาพถ่าย ก็คงจะไม่กล่าวถึงสเตรท โฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ไปไม่ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเชิงปรัชญาของศิลปะภาพถ่าย ในแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่ที่มีบทบาทมากในช่วงศตวรรษที่ 20 แนวคิดของสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่เชื่อว่า ภาพถ่ายคือการบันทึกชีวิต หรือความจริงไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งใดๆ ถ่ายภาพมาอย่างไรก็นำเสนอไปในแบบนั้น แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ต่อมาจากยุคของพิคโทเรียล ที่มักจะมีการทำภาพให้แปลกตาออกไป ทำภาพให้นุ่มนวลชวนฝันเหมือนภาพเขียนอิมเพลสชั่นนีสแต่สเตรทโฟโต้ จะเน้นภาพที่คมชัด บอกเล่าเรื่องราวตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมมากมายมาจนถึงวันนี้ เช่นผลงานของ Ansel Adams, Edward Weston,F/64 grop, Alain Balmayer ฯลฯ
ภาพถ่ายถูกใช้ในการนำเสนอความจริงอยู่เสมอ เช่นภาพข่าว ภาพสารคดี หรือแม้ภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมข้างถนนอย่าง สตรีทโฟโต้ฯ ภาพทิวทัศน์ ฯลฯ จริงๆ แล้วภาพถ่ายทั้งหมดก็คือความจริงที่เรานำเสนอ แต่ในบางครั้งการปรับกล้องก็นับว่าเป็นการบิดเบือนความเป็นจริงได้เหมือนกันเช่นการเปลี่ยนค่า WB เพื่อให้สีในภาพเปลี่ยนไป ฯลฯ
แม้ว่าภาพถ่ายที่ไม่ได้เสริมแต่งใดๆ ก็ตามจะบันทึกความจริงที่เกิดขึ้น แต่ความจริงนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่ผู้ถ่ายภาพต้องการจะให้เห็นเท่านั้น แนวคิดนี้มีความเห็นที่น่าสนใจว่าภาพถ่ายนั้นบันทึกความเป็นจริงแต่เป็นความจริงบนช่วงเวลาเศษเสี้ยววินาทีเท่านั้น แตกต่างจากภาพยนตร์ที่บันทึกภาพอย่างต่อเนื่อง เช่นเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 15 นาที แต่ในภาพถ่ายนั้นมีเวลาบันทึกภาพเพียงเสี้ยวเวลาหนึ่งตามเวลาที่เปิด-ปิดรูรับแสง และม่านชัตเตอร์เช่น 1/250 วินาทีเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เราจะได้เห็นก็เป็นเพียง 1/250 วินาที ของเวลาทั้งหมดที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีชายสองคนชกต่อยกัน ช่างภาพเลือกถ่ายภาพในจังหวะที่ A ชกหน้า B ในภาพก็จะเป็นภาพที่นำเสนอ A ชกหน้า B ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น B เองก็ชกหน้า A เช่นกัน
จึงเห็นได้ว่า แม้กล้องถ่ายภาพจะบันทึกความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่ช่างภาพอยากจะให้เห็น หรือเลือกที่จะให้เราเห็นนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว กล้องถ่ายภาพไม่เคยโกหก แต่คนที่ถ่ายภาพนั้นบางครั้งก็ชักจะไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ…
*ภาพประกอบในบทความนี้มีอยู่ 1 ภาพที่ช่างภาพโกหก…